สภาพัฒน์ฯ เปิดตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 67 ขยายตัวร้อยละ 2.3 และยังคงติดตามสถานการณ์ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก
19 ส.ค. 2567 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่สองของปี 2567 ณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2567
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2567 ขยายตัวร้อยละ 2.3 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 1.6 ในไตรมาส 1/2567 ปัจจัยหลักมาจากการผลิตภาคนอกเกษตรขยายตัวจากกลุ่มอุตสาหกรรม ประกอบกับบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวชะลอลง และภาคการเกษตรลดลงต่อเนื่องด้านการใช้จ่ายขั้นสุดท้ายรัฐบาล และการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัว ขณะที่การอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชนชะลอลง และการลงทุนลดลงต่อเนื่อง แบ่งเป็น ด้านการผลิต และด้านรายจ่าย
- ด้านการผลิต ขยายตัวร้อยละ 2.3 ปัจจัยสำคัญมาจากการผลิตภาคนอกเกษตรขยายตัวร้อยละ 2.6 เป็นผลจากกลุ่มอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 1.8 ลดลงร้อยละ 1.0 ในไตรมาส 1/2567 ประกอบกับกลุ่มบริการขยายตัวร้อยละ 3.1 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 3.6 ในไตรมาส 1/2567 ขณะที่การผลิตภาคเกษตรลดลงร้อยละ 1.1 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 2.7 ในไตรมาส 1/2567
· ภาคเกษตร ลดลงร้อยละ 1.1 ตามการลดลงของผลผลิตพืชหลัก เช่น ข้าวเปลือก
มันสำปะหลัง สับปะรด ยางพารา และหมวดประมงลดลงเช่นกัน ขณะที่ผลผลิตสุกรและสัตว์ปีกขยายตัว
· ภาคนอกเกษตร ขยายตัวร้อยละ 2.6 ประกอบด้วย
- กลุ่มอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 1.8 ปัจจัยสำคัญ มาจากสาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม สาขาเหมืองแร่ และเหมืองหินขยายตัว ขณะที่สาขาการไฟฟ้า ก๊าซ ไอน้ำ และระบบปรับอากาศ และสาขาการประปาและการกำจัดของเสียชะลอลง
- กลุ่มบริการ ขยายตัวร้อยละ 3.1 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 3.6 ในไตรมาส 1/2567 เป็นผลจากการขยายตัวของสาขาศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ สาขากิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุนอื่นๆ ขณะที่สาขาการขายส่งและการขายปลีก การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารชะลอลง สอดคล้องกับการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยว ขณะที่สาขาก่อสร้างลดลงทั้งภาครัฐและเอกชน
· เศรษฐกิจไทย 6 เดือนแรก (มกราคม - มิถุนายน 2567) ขยายตัวร้อยละ 1.9 ต่อเนื่องจาก (กรกฎาคม - ธันวาคม 2566) การขยายตัวร้อยละ 1.6
2. ด้านรายจ่าย
· การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน ขยายตัวร้อยละ 4.0 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 6.9 ในไตรมาส 1/2567 เป็นผลจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยการใช้จ่ายฯ ในหมวดสินค้ากึ่งคงทนขยายตัว สินค้าไม่คงทน และหมวดบริการชะลอตัว ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนลดลง
· การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาล ขยายตัวร้อยละ 0.3 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 2.1 ในไตรมาส 1/2567 เป็นผลมาจากค่าตอบแทนแรงงานขยายตัวร้อยละ 0.8 และการโอนเพื่อสวัสดิการสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการในระบบตลาดขยายตัวร้อยละ 6.9 ขณะที่ค่าซื้อสินค้าและบริการลดลงร้อยละ 3.8
· การลงทุน ลดลงร้อยละ 6.2 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 4.2 ในไตรมาส 1/2567 โดยการลงทุนภาครัฐลดลงร้อยละ 4.3 ปัจจัยหลักมาจากการลงทุนรัฐบาลลดลงร้อยละ 12.8
การลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 10.1 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 6.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.6 ในไตรมาส 1/2567 ปัจจัยสำคัญมาจากการลงทุนด้าน
การก่อสร้าง และการลงทุนด้านเครื่องจักรเครื่องมือที่ลดลงร้อยละ 5.4 และร้อยละ 6.7 ตามลำดับ
· ดุลการค้าและบริการ ณ ราคาประจำปี เกินดุล 147.8 พันล้านบาท โดยดุลการค้าเกินดุล 203.1 พันล้านบาท และดุลบริการขาดดุล 55.3 พันล้านบาท
- สศช. แนะการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2567
- การรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ โดยเฉพาะการสร้างความต่อเนื่องของกระบวนการงบประมาณ เพื่อให้การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน
2. การขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชน โดยให้ความสำคัญ ดังนี้
2.1 การเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ โดยอาศัยประโยชน์จากการย้ายฐานการลงทุนเพื่อดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และการเร่งรัดนักลงทุนที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2565 - 2567 ให้เกิดการลงทุนจริงโดยเร็ว เพื่อช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวของภาคการผลิตและภาคการส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพ และเป็นที่ต้องการของตลาดโลกเพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าประเภทอาหารมูลค่าสูง สินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสินค้าที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์อันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งสินค้าที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้า
2.2 การพัฒนาระบบนิเวศที่เหมาะสมเพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมายให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะการปรับลดอุปสรรคด้านขั้นตอนกระบวนการ และข้อบังคับ/กฎหมายที่เกี่ยวข้องการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต และการพัฒนาผลิตภาพแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมและภาคบริการเป้าหมาย
2.3 การเร่งรัดโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ ที่สำคัญให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้
2.4 การเพิ่มผลิตภาพการผลิตผ่านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อนำไปสู่การผลิตสินค้าไทยที่มีศักยภาพและมีมูลค่าสูงขึ้นที่สามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาและมีมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาดและข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า ควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางในประเทศให้มีความพร้อมและสามารถเชื่อมโยงกับห่วงโซ่การผลิตโลกมากขึ้น
3. การปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาดและการใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม
3.1 การตรวจสอบและเฝ้าระวังการทุ่มตลาด รวมทั้งการใช้มาตรการและวิธีการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากประเทศผู้ส่งออกสำคัญ และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการภาคธุรกิจเข้าถึงการดำเนินมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (*AD/CVD/AC) (*Anti-dumping : AD มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด Countervailing : CVD มาตรการตอบโต้การอุดหนุน Anti-circumvention : AC มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน)
3.2 การปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้า ให้มีความเข้มงวดรัดกุมมากขึ้น การเร่งออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมสินค้านำเข้า รวมทั้งการส่งเสริมการสร้างความร่วมมือในการจัดทำความตกลงยอมรับร่วมด้านมาตรฐานระหว่างประเทศ และการเพิ่มบทลงโทษสำหรับผู้ที่นำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน
3.3 การดำเนินการอย่างเคร่งครัดกับผู้กระทำความผิดลักลอบนำเข้าสินค้าที่ผิดกฎหมาย หลบเลี่ยงภาษีหรือใช้ช่องว่างทางกฎหมายต่างๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจ
4. การดูแลสภาพคล่องให้เพียงพอสำหรับภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่มีศักยภาพแต่ประสบปัญหาการเข้าถึงสภาพคล่องให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้และลดการอาศัยแหล่งเงินกู้นอกระบบ ควบคู่ไปกับการยกระดับศักยภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ควรดำเนินมาตรการเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่องทั้งการปรับโครงสร้างหนี้การแก้ปัญหาหนี้เรื้อรังให้แก่ลูกหนี้โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง
5. การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้เม็ดเงินรายจ่ายภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว โดยมุ่งเน้นการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนให้กระจายไปในพื้นที่ต่างๆ เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการลงทุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการเร่งรัดกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ไม่ให้เกิดความล่าช้า
6. การเตรียมการรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะปรากฏการณ์ลานีญาที่อาจจะนำไปสู่ความเสี่ยงจากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงปลายปี และปรากฏการณ์เอลนีโญที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงจากภัยแล้งในช่วงปีหน้า โดยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การยกระดับประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานและระบบการเตือนภัย การให้ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ของความแปรปรวนด้านสภาพภูมิอากาศ และเข้าถึงหลักการใช้น้ำในการเพาะปลูกอย่างถูกต้อง ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแก่เกษตรกรผ่านการส่งเสริมรูปแบบและพัฒนาระบบประกันภัยพืชผลจากความเสี่ยงของสภาพอากาศ
7. การเร่งรัดแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (PM2.5) และการเตรียมความพร้อมของปัจจัย แวดล้อมด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญ อาทิ สนามบิน/เที่ยวบิน กระบวนการตรวจคนเข้าเมือง โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก การบริหารจัดการพื้นที่และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการรักษามาตรฐานความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว เพื่อรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว และยกระดับศักยภาพและฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและยั่งยืน ขณะเดียวกันต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนและเศรษฐกิจในระยะยาวต่อไป
8. การเตรียมมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบและใช้ประโยชน์จากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการค้าโลก อาทิ ความรุนแรงของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การกีดกันทางการค้า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความผันผวนในตลาดการเงินโลก.