๒๓ ตุลาคม “วันปิยมหาราช” น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

   เมื่อ : 23 ต.ค. 2566

          ๒๓ ตุลาคม ของทุกปี ปวงประชาชนชาวไทยต่างเป็นที่ทราบกันดีว่า คือ “วันปิยมหาราช” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งเหล่าชาวไทยได้พร้อมใจกันถวายพระนามแด่พระองค์ว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง หรือสมเด็จพระปิยมหาราช

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงเสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอังคาร เดือน ๑๐ แรม ๓ ค่ำ ปีฉลู หรือ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๙๖ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๙ ใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นที่ ๑ ใน สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี

          ตลอดระยะเวลาที่พระองค์ทรงครองราชย์ (พ.ศ. ๒๔๑๑-๒๔๕๓) ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศไทยอย่างมากมาย โดยเฉพาะในช่วงรัชสมัยของพระองค์ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าคือ ยุคที่อารยธรรมสมัยใหม่และการล่าอาณานิคมเมืองขึ้นได้เริ่มมีเข้ามาถึงแถบเอเชีย พระองค์ท่านจึงได้ทรงจัดส่งพระราชโอรสและนักเรียนไทยไปศึกษาในต่างประเทศ เพื่อนำมวลความรู้กลับมาพัฒนาประเทศ อันแสดงถึงความมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของพระองค์ที่นำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง และคุณประโยชน์แก่ประเทศไทยให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์และสามารถธำรง “เอกราช” ไว้ได้ตราบจนทุกวันนี้

          ทั้งนี้ ปัจจัยแห่งอารยธรรมสมัยใหม่ และพระราชกรณียกิจ อันเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศไทยที่พระองค์ท่านได้ทรงริเริ่มในรัชสมัยของพระองค์ สามารถจำแนกได้พอสังเขป คือ 

- การเลิกทาส ซึ่งเป็นพระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ที่ช่วยปลดเปลื้องทุกข์ยากของปวงชนชาวไทยในยุคนั้น 

- การปฏิรูประบบราชการ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราระเบียบการปกครองขึ้นใหม่ โดยให้แยกหน่วยราชการต่าง ๆ ออกเป็นกรมกอง และให้มีหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะด้าน 

- การสาธารณูปโภค ทรงริเริ่มให้มีนโยบายเก็บกักน้ำ โดยเริ่มจากแม่น้ำเชียงรากน้อย จังหวัดปทุมธานีและขุดคลองเพื่อส่งน้ำเข้ามายังสามเสน พร้อมทั้งฝังท่อเอกติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการทำน้ำประปาขึ้น 

- ด้านการคมนาคม ทรงมีพระบรมราชโองการสร้างทางรถไฟสยาม จากกรุงเทพฯ ถึงเมืองนครราชสีมา แต่อย่างไรก็ดีพระองค์ก็ได้ทรงเปิดทางรถไฟกรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยาก่อน ด้วยเหตุนี้จึงนับได้ว่าเส้นทางรถไฟสายนี้เป็นทางรถไฟแห่งแรกของไทย 

- ด้านการสาธารณสุข โปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงพยาบาลวังหลัง ซึ่งต่อมาก็คือ “โรงพยาบาลศิริราช” 

- ด้านการไฟฟ้า ทรงเป็นผู้ริเริ่มให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับประชาชนได้เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๓ 

- ด้านการไปรษณีย์ ทรงเป็นผู้ให้เริ่มจัดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๑๔ รวมอยู่ในกรมโทรเลข ซึ่งได้จัดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๑๒ โดยโทรเลขสายแรกคือ ระหว่างจังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานคร) กับจังหวัดสมุทรปราการ 

- ด้านการศึกษา ทรงโปรดให้ตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรขึ้นเป็นแห่งแรก คือ “โรงเรียนวัดมหรรณพาราม” และในที่สุดได้ทรงโปรดให้จัดตั้งกระทรวงธรรมการขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๕ (ปัจจุบันคือกระทรวงศึกษาธิการ) เพื่อดูแลเรื่องการศึกษาและการศาสนา 

- การปกป้องประเทศจากการสงคราม ทรงใช้ความพยายามอย่างสุดกำลัง เพื่อรักษาประเทศชาติให้รอดพ้นจากวิกฤติการณ์ล่าอาณานิคม ถึงแม้ว่าในบางกรณีจำจะต้องสูญเสียดินแดนบางส่วนไป แต่เพื่อดำรงไว้ซึ่งเอกราช พระองค์จึงจำเป็นต้องยอมสละเพื่อคงไว้ในดินแดนที่เหลืออยู่

          นอกจากจะทรงพระปรีชาสามารถในด้านการเมืองการปกครองแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงมีพระอัจฉริยภาพในงานด้านพระราชนิพนธ์อีกด้วย โดยสามารถประมวลได้ทั้งหมด ๑๐ เรื่องด้วยกัน คือ ไกลบ้าน เงาะป่า นิทราชาคริต อาบูหะซัน พระราชพิธีสิบสองเดือน กาพย์เห่เรือ คำเจรจาละครเรื่องอิเหนา ตำรากับข้าวฝรั่ง พระราชวิจารณ์จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี และโคลงบรรยายภาพรามเกียรติ์

          ๒๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเป็นที่รักของปวงชนชาวไทยได้ทรงเสด็จสวรรคตด้วยโรคพระวักกะ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต (เมื่อวันอาทิตย์เดือน ๑๑ แรม ๕ ค่ำ ปีจอ) รวมพระชนมายุได้๕๗ พรรษา

          ในกาลต่อมา ทางราชการจึงได้ประกาศให้วันที่ ๒๓ ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันที่ระลึกถึงความสำคัญของชาติวันหนึ่งซึ่งเรียกว่า วันปิยมหาราช และกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์มาจนตราบเท่าทุกวันนี้.

                                                                         โดย ธนกฤต วงษ์พรต