”เครือข่ายคนรักษ์อาชีวะ ค.ร.อ.ท. เสนอแนวทางการสร้างความเข้มแข็งให้อาชีวศึกษาเพื่อชุมชน”
วันนี้ต้องยอมรับว่าการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพกำลังคนของประเทศกำลังประสบปัญหาหลายๆ ด้านไม่ว่าจะด้านงบประมาณเพื่อสนับสนุนการจัดด้านการศึกษาที่ยังไม่ได้รับงบประมาณได้อย่างเต็มที่ หรือแม้แต่การสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้รับผิดชอบด้านการศึกษาของประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลชุดปัจจุบันควรจะได้รับการแก้ไข
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความเข้มแข็งหรือทิศทางที่จะกำหนดแนวทางการศึกษาให้เยาวชน ได้เลือกอนาคตของตนเองได้อย่างมีความมั่นใจนั่นคือช่วงการเรียนระหว่างระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาซึ่งถือว่าเป็นการจัดการศึกษาต้นน้ำที่จะเป็นทางเลือกให้ผู้เรียนได้กำหนดเส้นทางชีวิตของตนเองได้ในการที่จะเลือกอนาคตของตนเอง ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับผู้ปกครองหรือสถานศึกษาชี้นำเท่านั้น
แต่มันควรจะเป็นทางเลือกหรือจุดประกายในการกำหนดชีวิตให้กับเยาวชนได้ ให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้กำหนดอนาคตของตนเองได้มีทางตั้งแต่เริ่มต้นของการศึกษานั่นคือเมื่อเข้าเรียนระดับประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษาควรจะเปิดโอกาสให้เยาวชนเหล่านั้นสร้างความชอบของแต่ละบุคคลเพื่อให้ได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่จะชอบหรือจะศึกษาในอนาคตของตนเองควรจะไปในเส้นทางไหนซึ่งที่ผ่านมาสังคมถูกกำหนดไว้ว่าผู้เรียนจะต้องมุ่งเข้าสู่ระดับสูงนั่นคือเรียนระดับมหาวิทยาลัยจึงทำให้ผู้ปกครองหรือสังคมจะชี้นำให้ผู้เรียนนั้นเข้าต่อระดับสายสามัญเป็นหลักแต่ขณะเดียวกันกลับไม่มีการสร้างทางเลือกใหม่ให้กับผู้เรียนที่มีความรู้ระดับกลางๆ หรือฐานะทางครอบครัวอยู่ระดับระดับกลางๆ ว่าควรจะเรียนเส้นทางใดที่จะสามารถประกอบอาชีพหรือสร้างรายได้เพื่อเลี้ยงครอบครัวได้โดยเร็ว เพื่อเป็นการดำเนินการนโยบายทางการศึกษาให้สอดรับกับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พล ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ กับนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ที่แท้จริงนั้นทำอย่างไร
นายเศรษฐศิษฏ์ ณุวงค์ศรี ประธานเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย(ค.ร.อ.ท.)ได้เสนอแนวทางเพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการตามนิยามเรียนดี มีความสุข
เพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งการศึกษาโดยเฉพาะด้านวิชาชีพหรืออาชีวศึกษาซึ่งรัฐควรที่จะให้ความสำคัญกับการศึกษาด้านวิชาชีพสำหรับเยาวชนหรือผู้เรียนทั้งนี้ทั้งนั้นเนื่องจากว่าถ้ามีการชี้แนะและให้การสนับสนุนสำหรับผู้เรียนที่มีปัญหาอุปสรรคไม่ว่าจะด้านฐานะทางครอบครัวมีปัญหาหรือระดับการเรียนรู้ที่ไม่เอื้อต่อการมุ่งเน้นเข้าสู่มหาวิทยาลัยนั้นควรจะสร้างทางเลือกให้ผู้เรียนได้ตัดสินใจเข้าเรียนในสาขาวิชาชีพหรือด้านอาชีวศึกษาเพื่อให้เห็นความสำคัญของการเรียนแล้วมีทักษะมีอาชีพมีรายได้ที่แท้จริง
เพราะ ณ วันนี้กระทรวงศึกษาธิการได้มีการจัดตั้งวิทยาลัยการอาชีพในระดับอำเภอปัจจุบันกระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 143 แห่งเพื่อรองรับและสนองตอบในการสร้างความเข้มแข็งให้เยาวชนด้านวิชาชีพได้เรื่องเรียนสาขาวิชาชีพที่ตนเองต้องการ รวมถึงวิทยาลัยการอาชีพระดับอำภอที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถที่จะเป็นแหล่งให้การเรียนรู้ฝึกทักษะวิชาชีพสำหรับเยาวชนและประชาชนในท้องถิ่นที่ประสงค์ต้องการเรียนหรือฝึกอบรมด้านอาชีพ การมีรายได้มีงานทำเพื่อความมั่นคงในครอบครัวก็สามารถเรียนด้านวิชาชีพเข้าศึกษาได้ที่วิทยาลัยการอาชีพระดับอำเภอใกล้ท้องถิ่นหรือใกล้ภูมิลำเนา
แต่รัฐบาลต้องให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายค่าเดินทางในการศึกษาต่อเล่าเรียนของผู้ที่ประสงค์จะเรียนต่อด้านวิชาชีพตั้งแต่ระดับหลักสูตรระยะสั้นจนถึงระดับปริญญาตรีหรือประชาชนทั่วไปที่ต้องการเรียนหรือฝึกวิชาชีพเพื่อนำความรู้ไปประกอบอาชีพสร้างงานประกอบอาชีพอิสระหรือการมีโอกาสเข้าสู่สถานประกอบการที่มีค่าแรงรายได้ที่มั่นคง โดยกระทรวงศึกษาธิการจะต้องร่วมมือกับกระทรวงแรงงานกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อผลักดันสร้างความเข้มแข็งและการยอมรับจากประชาชนให้กับสถาบันการศึกษาด้านวิชาชีพนั่นคือสถานศึกษาของอาชีวศึกษาที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เป็นความหวังของประชาชนความหวังของสถานประกอบการในการสร้างคุณภาพและพัฒนากำลังคนที่จริงจัง
จึงหวังอย่างยิ่งว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจะมีนโยบายในการขับเคลื่อนการศึกษาด้านวิชาชีพหรือการศึกษาด้านอาชีวศึกษาเพื่อให้เยาวชนหรือพี่น้องประชาชนในทุกภูมิภาคสามารถเข้าเรียนศึกษาต่อหรือฝึกทักษะวิชาชีพกับสถาบันการศึกษาอาชีวศึกษาที่ได้มาตรฐานใกล้ท้องถิ่นใกล้ภูมิลำเนาตนเอง
จึงขอนำเรียนเสนอนโยบายในการขับเคลื่อนการอาชีวศึกษาให้กับเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษานายยศพล เวณุโกเศศ ได้รับข้อคิดเห็นจากเครือข่ายฯ ค.ร.อ.ท. เพื่อเป็นแนวทางนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อการขับเคลื่อนให้เป็นตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการและยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศต่อไป