เดินหน้า 11 Soft power หนุนเศรษฐกิจไทยให้ไปต่อ

   เมื่อ : 06 ต.ค. 2566

          นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 โดยมีคณะกรรมการฯ ผู้แทนภาครัฐผู้แทนภาคเอกชนเข้าร่วมประชุม เพื่อพิจารณาแนวทางการขับเคลื่อน Soft power ประเทศไทยอย่างบูรณาการ รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อีกทั้ง เป็นการส่งเสริมและสร้างความเชื่อมั่นของประเทศไทยในเวทีโลก

ตั้ง คกก.ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ขับเคลื่อน Soft power ไทยเข้มข้น   

            รัฐบาลได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้เชี่ยวชาญ ในอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ประเทศไทย จำนวน 31 ท่าน ได้แก่ 

(1) นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ

(2) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร รองประธานกรรมการ

(3) นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ที่ปรึกษาและกรรมการ

(4) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กรรมการ

(5) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรรมการ

(6) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกรรมการ

(7) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรรมการ

(8) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กรรมการ

(9) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กรรมการ

(10) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กรรมการ

(11) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กรรมการ

(12) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กรรมการ

(13) นางสาวกมลนาถ องค์วรรณดี กรรมการ

(14) นายจรัญ หอมเทียนทอง กรรมการ

(15) หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล กรรมการ

(16) นางชฎาทิพ จูตระกูล กรรมการ

(17) นายชุมพล แจ้งไพร กรรมการ

(18) นายดวงฤทธิ์ บุนนาค กรรมการ

(19) นายปรีชา สนั่นวัฒนานนท์ กรรมการ

(20) นายพิมล ศรีวิกรม์ กรรมการ

(21) นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี กรรมการ

(22) นายวิเชียร ฤกษ์ไพศาล กรรมการ

(23) นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการ

(24) นายสิทธิชัย เทพไพฑูรย์ กรรมการ

(25) นายเสริมคุณ คุณาวงศ์ กรรมการ

(26) นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการ

(27) เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกรรมการและเลขานุการ

(28) อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

(29) ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กรรมการ และผู้ช่วยเลขานุการ

แต่งตั้งกรรมการ เพิ่มเติม 2 ท่าน ได้แก่

(1) รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางพวงเพชร ชุนละเอียด)

(2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

            โดยมีเป้าหมายขับเคลื่อนโครงการ แผนงาน และมาตรการต่าง ๆ ผ่านคอนเทนต์ 11 อุตสาหกรรม Soft power ของประเทศไทย  ให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมในทุกสาขา

ยกระดับแรงงานทักษะขั้นสูง ผ่านนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์

            นางสาวแพทองธาร ชินวัตร รองประธานฯ กล่าวถึงการจัดทำแผนผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทย โดยเร่งขับเคลื่อน 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ หรือ (One Family One Soft Power : OFOS) และ Thailand Creative Content Agency (THACCA) มีเป้าหมายยกระดับทักษะคนไทย 20 ล้านคน สู่แรงงานทักษะขั้นสูงและแรงงานสร้างสรรค์ ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้อย่างน้อย 4 ล้านล้านบาทต่อปี สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยแนวทางขับเคลื่อน OFOS และ THACCA แบ่งเป็น 3 ขั้น ได้แก่

ขั้นที่ 1 การพัฒนาคนผ่านกระบวนการส่งเสริมบ่มเพาะศักยภาพ โดยเฟ้นหาคนที่มีความฝันและอยากทำความฝันนั้นให้เป็นจริง ทุกช่วงอายุ จำนวน 20 ล้านคน จาก 20 ล้านครัวเรือน โดยแจ้งลงทะเบียนกับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อบ่มเพาะผ่านศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ขั้นที่ 2 การพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์สาขาต่าง ๆ ภายในประเทศ 11 สาขา ได้แก่ อาหาร กีฬา เฟสติวัล ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ การออกแบบ และแฟชั่น กำหนดให้เป็นหน้าที่ขององค์กร THACCA ที่จะถูกจัดตั้งขึ้นในอนาคต ดำเนินการปรับแก้กฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย สนับสนุนเงินทุนวิจัยและพัฒนา สร้างแรงจูงใจด้านภาษี จัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ทุกจังหวัด เพิ่ม Co-Working Space ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบวงจร ส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ ริเริ่มไอเดียสร้างสรรค์ และต่อยอดเป็นซอฟต์พาวเวอร์ตั้งแต่ระดับภูมิภาค ไปจนถึงระดับประเทศ 

ขั้นที่ 3 การนำอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์รุกสู่เวทีโลก ด้วยการทูต เชิงวัฒนธรรม หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องนำซอฟต์พาวเวอร์ของไทยเผยแพร่สู่ตลาดโลก

“Quick Win” เดินหน้านับหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ไทย

            รัฐบาลกำหนดเป้าหมายในการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยใน 3 ระยะ โดยกำหนดวันที่ 3 ตุลาคม 2566 เป็นวันเริ่มต้น Kick Off 

•ภายใน 100 วัน (ภายใน 11 ม.ค. 2567) กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจะพร้อมให้ประชาชนลงทะเบียนแสดงความสนใจเข้ารับการบ่มเพาะ มีการปรับปรุงศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์ในสถาบันการศึกษา การปรับเปลี่ยนกฎหมายบางส่วนให้สอดรับการดำเนินงาน และจะร่วมจัด Winter Festival เทศกาลฤดูหนาวกับกรุงเทพมหานครอย่างยิ่งใหญ่

•ภายใน 6 เดือน (ภายใน 3 เม.ย. 2567) เริ่มต้นกระบวนการบ่มเพาะศักยภาพคนผ่านศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์พร้อมเสนอร่างพระราชบัญญัติ THACCA สู่การพิจารณาของสภาฯ มีการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ทั้งประเทศให้เป็น World Water Festival และจัดงานซอฟต์พาวเวอร์ฟอรัมนานาชาติ ระดมความคิดสร้างสรรค์ของคนในวงการซอฟต์พาวเวอร์ทั้งระดับประเทศและระดับโลก 

•ภายใน 1 ปี (ภายใน 3 ต.ค.2567) กระบวนการบ่มเพาะศักยภาพคน จะสามารถสร้างแรงงานทักษะสูงและแรงงานสร้างสรรค์ ได้อย่างน้อย 1 ล้านคน และคาดว่าร่างพระราชบัญญัติ THACCA จะได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาต่อไป รวมไปถึงการส่งเสริมการจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติและเทศกาลดนตรีนานาชาติ สนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ของไทยในสาขาต่าง ๆ ไปร่วมงานในระดับโลก

            ในช่วง ต.ค. - ธ.ค. เป็นช่วงไฮซีซัน คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มตลาดระยะใกล้ อาทิ จีน มาเลเซีย และอินเดีย และตลาดระยะไกล อาทิ รัสเซีย คาซัคสถาน และกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป รัฐบาลได้มีการกระตุ้นการท่องเที่ยวสำหรับกลุ่มประเทศเป้าหมายเฉพาะไว้แล้ว ขอให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เร่งเตรียมจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทย เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงกีฬาอย่างมวยไทย และเทศกาลภาพยนตร์ ดนตรี และอาหาร เป็นต้น.

Cr.สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดยโสธร