ดีเดย์ 1 พ.ค. ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ขึ้นเงินบำนาญขั้นต่ำ
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (28 พ.ย. 2566) อนุมัติปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยมีเป้าหมายให้ผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับปริญญาตรีจะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 18,000 บาท และผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับ ปวช. จะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 11,000 บาท ภายในระยะเวลา 2 ปี นั้น วันนี้ (1 พ.ค. 2567) คือวันที่มติดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เป็นวันแรก
- ดูแลข้าราชการแรกเข้า ควบคู่ไปกับการดูแลข้าราชการวัยเกษียณ
โดย คณะรัฐมนตรีได้ออกพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2567 ซึ่งประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญคือการปรับปรุงอัตราเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ เพื่อกำหนดให้ผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญ ซึ่งเมื่อรวมกับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญแล้วต่ำกว่า เดือนละ 11,000 บาท ให้ได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญเพิ่มขึ้นตามอัตราที่กำหนด เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น และการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ โดยจะมีผลในวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) มีความพร้อม 100% และได้มีหนังสือแจ้งเวียนแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ และการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบให้ส่วนราชการต่างๆ ทราบแล้ว ตามหนังสือที่ นร. 1012.3/ว 9 ลงวันที่ 9 เมษายน 2567 ซึ่งหากหน่วยงานใดดำเนินการปรับไม่ทัน การปรับขึ้นเงินเดือนจะให้มีผลย้อนหลัง รวมถึงได้มีการประสานกับสำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลางไว้เรียบร้อยแล้ว ขอให้ข้าราชการและผู้ได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญ มั่นใจได้ว่าการปรับขึ้นเงินเดือนครั้งนี้จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อยแน่นอน
- อัตราเงินเดือนข้าราชการใหม่
การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ จะทยอยปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุตามคุณวุฒิเพิ่มขึ้น (ทุกคุณวุฒิ) ในอัตราร้อยละ 10 ภายใน 2 ปี เช่น คุณวุฒิระดับปริญญาตรี จากเดิม 15,000 บาท เป็น 16,500 บาท ในปีที่ 1 และปรับเป็น 18,150 บาท ในปีที่ 2 ส่วนผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับ ปวช. ที่มีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 11,000 บาท ภายใน 2 ปี และปรับอัตราเงินเดือนของ คุณวุฒิอื่น ๆ ให้สอดคล้องกัน เพื่อดึงดูดบุคลากรคุณภาพเข้าสู่ระบบราชการเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังเห็นควรให้ปรับเพดานเงินเดือนรวมค่าครองชีพชั่วคราว จากเดิมเงินเดือนไม่ถึงเดือนละ 13,285 บาท เป็นเงินเดือนไม่ถึงเดือนละ 14,600 บาท และปรับเพดานขั้นต่ำของเงินเดือนรวมกับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว จากเดิม เดือนละ 10,000 บาท เป็น เดือนละ 11,000 บาท และปรับเงินเพิ่มการครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญขั้นต่ำ จากเดิม 10,000 บาท เป็น 11,000 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน
ส่วนกลุ่มข้าราชการที่บรรจุเข้ามาก่อน 1 - 2 ปี ที่การปรับฐานเงินเดือนใหม่จะเริ่มต้นขึ้นนั้น จะมีการพิจารณาการปรับฐานเงินเดือนขึ้นมาใหม่ให้มากขึ้นกว่าข้าราชการบรรจุใหม่ที่ได้เงินเดือน 18,000 เล็กน้อย เพื่อลดช่องว่างระหว่างเงินเดือนของข้าราชการเดิมที่เพิ่งเข้ามาไม่นานและข้าราชการบรรจุใหม่ด้วย
ตารางเปรียบเทียบเงินเดือนข้าราชการบรรจุใหม่
ระดับคุณวุฒิการศึกษา
ปัจจุบัน (บาท)
ปรับปีที่ 1 (บาท)
ปรับปีที่ 2 (บาท)
วุฒิการศึกษา ปวช.
8,400 - 10,340
10,340 - 11,380
11,380 - 12,520
วุฒิการศึกษา ปวส.
11,500 - 12,650
12,650 - 13,920
13,920 - 15,320
วุฒิการศึกษา ปริญญาตรี
15,000 - 16,500
16,500 - 18,150
18,150 - 19,970
วุฒิการศึกษา ปริญญาโท
17,500 - 19,250
19,250 - 21,180
21,180 - 23,300
วุฒิการศึกษา ปริญญาเอก
21,000 - 23,100
23,100 - 25,410
25,410 - 27,960
รัฐบาลให้ความสำคัญกับทุกกลุ่มอาชีพ ย้อนทามไลน์การขึ้นเงินเดือน - ค่าแรง
- เพิ่มเงินค่าป่วยการรายเดือนให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. จากเดือนละ 1,000 บาท เป็นเดือนละ 2,000 บาท สำหรับอสม. 1.07 ล้านคนทั่วประเทศ มีผลตั้งแต่เริ่มปีงบประมาณ 2567 (ต.ค. 66)
- 28 พ.ย. 66 ครม. มีมติเห็นชอบการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ โดยจะปรับขึ้นในอัตรา 10% เป็นระยะเวลา 2 ปี ในปีงบประมาณ 2567 - 2568 และปรับขึ้นเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ มีผล 1 พ.ค. 67
- 26 ธ.ค. 66 ครม. มีมติเห็นชอบให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำแรงงานทั่วประเทศ วันละ 2 - 16 บาท แบ่งเป็น 17 กลุ่ม ภูเก็ต ครองตำแหน่งค่าแรงสูงสุดในไทย มีผล 1 ม.ค. 67
- 2 เม.ย. 67 ครม. มีมติเห็นชอบขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประเภทกิจการโรงแรม โดยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอัตราวันละ 400 บาท สำหรับนายจ้างและลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการประเภทกิจการโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป มีผล 13 เม.ย. 67 โดยนำร่องในพื้นที่ 10 จังหวัด ดังนี้
1) กรุงเทพมหานคร เฉพาะเขตปทุมวัน และเขตวัฒนา
2) จังหวัดกระบี่ เฉพาะเขตองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง
3) จังหวัดชลบุรี เฉพาะเขตเมืองพัทยา
4) จังหวัดเชียงใหม่ เฉพาะเขตเทศบาลนครเชียงใหม่
5) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เฉพาะเขตเทศบาลเมืองหัวหิน
6) จังหวัดพังงา เฉพาะเขตเทศบาลตำบลคึกคัก
7) จังหวัดภูเก็ต
8) จังหวัดระยอง เฉพาะเขตตำบลบ้านเพ
9) จังหวัดสงขลา เฉพาะเขตเทศบาลนครหาดใหญ่
10) จังหวัดสุราษฎร์ธานี เฉพาะเขตอำเภอเกาะสมุย