เดินหน้าผลักดัน “พระธาตุพนม” สู่มรดกโลกทางวัฒนธรรม ชูชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” บ้านนาถ่อน” เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

   เมื่อ : 29 เม.ย. 2568

“รมว.ปุ๋ง” ล่องอีสานตอนบน เดินหน้าผลักดัน “พระธาตุพนม” สู่มรดกโลกทางวัฒนธรรม ชูชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” บ้านนาถ่อน” เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ชวนชมเสน่ห์ “วิถีทอผ้าถุงมัดหมี่โบราณฉบับชนเผ่าไทกวน - การตีเหล็กโบราณ - สปาบ่อเกลือสินเธาว์” พร้อมติดตามโครงการพัฒนา - ปรับปรุง “หอสมุดแห่งชาติฯ นครพนม” ยกระดับการให้บริการแบบครบวงจร

          28 เมษายน 2568 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดนครพนมในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2568 ณ หอประชุมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยนครพนม โดยมีนายประสพ  เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกรมศิลปากร วัฒนธรรมจังหวัดนครพนม หัวหน้าส่วนราชการจังหวัด หน่วยงานท้องถิ่น ข้าราชการ ประชาชนในพื้นที่และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

          ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมคณะ ถวายเครื่องสักการะพระธาตุพนมและแห่ผ้าห่มพระธาตุ รอบองค์พระธาตุพนม โดยมี พระอาจารย์ศรีพนมวรคุณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม นำสักการะ จากนั้น ถวายเครื่องสักการะแด่พระศรีวิสุทธิเมธี รองเจ้าคณะจังทวัดนครพนม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม ณ ศาลาตรีมุข จากนั้นพบปะผู้แทนส่วนราชการของจังหวัด หน่วยงานท้องถิ่น และประชาชน และเยี่ยมชมนิทรรศการตำนานอุรังคธาตุ นิทรรศการประเพณีบุญเดือน 3 นิทรรศการผ้าเกาะโส้ เยี่ยมชมนิทรรศการเส้นทางท่องเที่ยวสักการะพระธาตุประจำวันเกิด ๗ วัน ๘ พระธาตุ ชมและชิมอาหารพื้นถิ่น ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของชุมชน อาทิ สาธิตทำขนมแหนม ทำกะละแมนครพนม การทำเครื่องดื่มสมุนไพร สาธิตทำผลิตภัณฑ์จากเครื่องสักการะ พระธาตุพนม (ดอกดาวเรือง) การทำผลิตภัณฑ์จักสาน และการทำผลิตภัณฑ์ผ้ามงคล ผ้าทอลวดลายจากผ้าห่อคัมภีร์โบราณ การมัดย้อมสีธรรมชาติจากไม้มงคล 9 ชนิด และผลิตภัณฑ์จากผ้าห่มพระธาตุพนม เป็นต้น

          รมว.วธ. กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อตรวจเยี่ยมแนวทางการพัฒนาแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม “วัดพระธาตุพนม” ซึ่งมีองค์พระธาตุพนมเป็นปูชนียสถานที่สำคัญกรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียน เป็นโบราณสถานของชาติ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2478 พระธาตุพนม ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขงตามความเชื่อพื้นถิ่นเชื่อว่าสร้างโดยพระมหากัสสปะพระอัครสาวกของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อประดิษฐานพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าภายหลังจากปรินิพพาน เป็นพระธาตุที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยและในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างได้รับการบูรณะและสักการบูชาจากประชาชนหลากหลายเชื้อชาติตลอดระยะเวลาหลายร้อยปีจึงถือเป็นศาสนสถานที่มีคุณค่าโดดเด่นและเป็นสากล

          ทั้งนี้ การขับเคลื่อนวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและเป็นการอนุรักษ์โบราณสถาน พร้อมทั้งเป็นหมุดหมายให้นักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ซึ่งแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมพระธาตุพนมได้การรับบรรจุในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ศูนย์มรดกโลก เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 ซึ่งการนำเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม จะต้องจัดทำผังแม่บทที่ครอบคลุมพื้นที่หลักของวัดพระธาตุพนมและพื้นที่กันชน (Buffer Zone) โดยรอบเพื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนมรดกโลกขององค์การยูเนสโก

          ดังนั้นการลงพื้นที่ “วัดพระธาตุพนม” ได้หารือผู้เกี่ยวข้องในการสนับสนุนโครงการสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดทำผังแม่บทพื้นที่วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารและบริเวณโดยรอบเพื่อการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรม และโครงการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการเสนอขึ้นทะเบียนพระธาตุพนมเป็นมรดโลกทางวัฒนธรรมของยูเนสโก รวมถึงการขอความอนุเคราะห์กรมศิลปากรแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นคณะทำงานให้คำปรึกษาในการดำเนินการขับเคลื่อนพระธาตุพนมให้ได้รับการพิจารณาเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

          สำหรับ “พระธาตุพนม” มีคุณสมบัติในการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของยูเนสโกใน 3 เกณฑ์ ได้แก่ เกณฑ์ที่ 2 เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่งในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อในด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมอนุสรณ์สถาน ประติมากรรม ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ เกณฑ์ 3 เป็นหลักฐานที่เป็นเอกลักษณ์หรืออย่างน้อยก็โดดเด่นถึงประเพณีทางวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ยังคงอยู่หรือที่สูญหายไป และเกณฑ์ที่ 6 มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือบุคคลที่มีความสำคัญ หรือความโดดเด่นในประวัติศาสตร์

          นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการ วธ. ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” บ้านนาถ่อน จังหวัดนครพนม เพื่อร่วมผลักดันให้เป็นชุมชนต้นแบบ ”เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ระดับประเทศ รวมถึงส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนด้วยการนำทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในชุมชนมาพัฒนาต่อยอด สร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

          ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมคณะ ได้กราบสักการะพระชาติชาย ชยธมโม รักษาการเจ้าอาวาสวัดศรีมงคล และชมขบวนนางรำกลองกิ่ง นำขบวนคณะเข้าสู่ภายในบริเวณศาลาการเปรียญ วัดศรีมงคล และได้พบปะกับผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน จากนั้นร่วมพิธีบายศรีสู่ขวัญ และเยี่ยมชมกิจกรรมด้านวัฒนธรรมของชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” บ้านนาถ่อน” อาทิ สาธิตสวนเศรษฐกิจพอเพียงบ้านโพนบก สาธิตการทำสำรับอาหารพื้นถิ่นนาถ่อน (แจ่วหนังเค็ม/ต้มไก่ลาดบ้านใส่ใบมะขามอ่อน/ข้าวต้มมัดนาถ่อน/ชาสายธาร) และการทอผ้าพื้นเมือง การทำเข็มกลัดจากผ้าพื้นเมือง สาธิตพิมพ์ผ้าจากสีธรรมชาติ Eco printing และสาธิตผลิตภัณฑ์ป่าชุมชนบ้านดงป่ายูง/ลูกประคบสมุนไพร/เกลือสินเธาร์ รวมถึงสาธิตการนวดสปาเกลือ

          สำหรับชุมชนต้นแบบบ้านนาถ่อน เป็นชุมชนชาวไทยกวนที่อนุรักษ์สืบทอดวิถีชีวิต วัฒนธรรมและประเพณีเก่าแก่มายาวนาน มีภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การตีเหล็ก ทอผ้าและย้อมสี งานจักสาน ทำพานบายศรีขันหมากเบง การต้มเกลือสินเธาว์และเกลือสปา และยังเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทยกวนเป็น 1 ใน 9 ชนเผ่าของจังหวัดนครพนม ยังคงวิถีชีวิตดั้งเดิมอันเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนไว้อย่างดี ใช้ภาษาไทกวนเป็นภาษาถิ่น ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ผู้ชายตีเหล็กตีมีดหรือเครื่องมือทางการเกษตร ส่วนผู้หญิงทอผ้าเป็นอาชีพเสริม สำหรับแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมชุมชนบ้านนาถ่อน คือวัดศรีมงคล วัดแก้วเสด็จและวัดโพธิ์ลานช้าง มีใบเสมาโบราณอายุนับพันปีอายุช่วงเดียวกับองค์พระธาตุพนม นอกจากนี้มีแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ได้แก่ ศาลปู่ตาแสง ศูนย์วัฒนธรรมไทยกวน เพื่อเรียนรู้วิถีชุมชนหัตถกรรมเครื่องจักสานด้วยไม้ไผ่ จักสานเป็นเครื่องมือทางการเกษตร เครื่องใช้ในครัวเรือนและพัฒนาเป็นกระเป๋า ตะกร้าที่สวยงามเพื่อเพิ่มมูลค่าและต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน

          ทั้งนี้ ชุมชนนาถ่อน ได้พัฒนาชุมชนเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยโปรแกรมทั้งแบบ On day Trip และแบบพักค้างคืน โดยมีมัคคุเทศก์คอยอำนวยความสะดวก และสามารถปั่นจักรยาน ขี่ซาเล้งชมวิถีชุมชน ศึกษาเรียนรู้ตามจุดต่างๆ อาทิ ศูนย์เรียนรู้เครื่องจักสานดงป่ายูง การทอผ้าขาวม้า ทดลองตีเหล็กการทำมีดพร้า เรียนรู้การทำบ่อเกลือที่บ่อเกลือดงป่ายูง สปาเกลือแห่งเดียวในจังหวัดนครพนม เรียนรู้การทำเกษตรแบบดั้งเดิมและแบบสมัยใหม่ รับประทานอาหารเฉพาะถิ่น เช่น แกงขี้เหล็กใส่หนังเค็ม ต้มไก่ลาดบ้านใส่ใบมะขามอ่อนแจ่วหนังเค็ม ข้าวต้มมัด เป็นต้น

          นอกจากนี้ นางสาวสุดาวรรณ ได้ตรวจเยี่ยมแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม “หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นครพนม” ติดตามการดำเนินงานของหอสมุดแห่งชาติฯ เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่บางส่วนมีสภาพชำรุด ดังนั้นจึงจัดทำโครงการพัฒนาและปรับปรุงหอสมุดแห่งชาติฯ ทั้งภายในตัวอาคาร ภายนอกอาคาร ภูมิทัศน์ และสิ่งแวดล้อมต่างๆ เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดี สะดวก ปลอดภัย ร่มรื่นเป็นที่ประทับใจแก่ผู้พบเห็ และใช้บริการเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าตามอัธยาศัยมากยิ่งขึ้น รวมถึงการปรับปรุงห้องบริการเป็นห้องนิทรรศการถาวรหุ่นจำลองพื้นที่จังหวัดนครพนมพร้อมสื่อมัลติมีเดีย, บอร์ดจัดแสดงพร้อมเนื้อหาบรรยาย, สื่อคอมพิวเตอร์จัดแสดงต่างๆ เป็นต้น

          สำหรับ หอสมุดแห่งชาติฯ ตั้งอยู่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนมเดิมเป็นอาคารศาลากลางจังหวัดนครพนมหลังเก่า เป็นอาคาร 2 ชั้นครึ่งก่ออิฐถือปูนไม่มีการเสริมเหล็ก ลักษณะรูปแบบสถาปัตยกรรมผสมระหว่างสถาปัตยกรรมไทยและยุโรป สไตล์โคโลเนียล โครงสร้างภายในอาคารใช้ไม้เป็นวัสดุหลัก เริ่มสร้างครั้งแรกเมื่อปี 2485 สมัยพระยาพนมนครานุรักษ์ (อุ้ย นาครทรรภ) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมคนแรก ปัจจุบันกรมศิลปากรได้บูรณะซ่อมแซมและใช้เป็นที่ทำการหอสมุดแห่งชาติฯ มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการจัดเก็บรวบรวมและสงวนรักษามรดกทรัพย์สินทางปัญญาของชาติทุกประเภทที่ปรากฏในรูปหนังสือ สิ่งพิมพ์ เอกสารโบราณ หนังสือตัวเขียน หนังสือตัวพิมพ์ จารึกและสื่อโสตทัศน์ประเภทต่าง ๆ เพื่อให้บริการการศึกษาค้นคว้าและวิจัยแก่ประชาชนทั่วไปโดยเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา