รายงานพิเศษ : คุณภาพการศึกษา ก้าวหน้าหรือล้าหลัง

จากการติดตามแนวนโยบายการปฏิรูปการศึกษา และการจัดการศึกษาของไทยในช่วงสองทศวรรษพบว่า มีความพยายามที่จะพัฒนา ปรับปรุงคุณภาพการศึกษาของประชาชนให้มีความก้าวหน้าทันกับสถานการณ์เปลี่ยนแปลงของโลก..
ประเทศไทย มีกระทรวงศึกษาธิการ เป็นกระทรวงหลักในการสร้างคนไทยให้มีศักยภาพและสามารถแข่งขันกับประเทศที่เจริญแล้ว โดยล่าสุดมีการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ ในปี 2542 ตามรัฐธรรมนูญ 2540 ผ่านมากว่า 20 ปีแล้ว .. คุณภาพการศึกษา และคุณภาพนักการเมือง ยังวนเวียนซ้ำซาก และขบวนการจัดการศึกษาตาม พรบ. การศึกษาแห่งชาติ 2542 และแก้ไขเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง ยังไม่พบแสงสว่าง..
ทั้งที่ระบบการจัดการศึกษา มีองค์ประกอบครบถ้วน คือ มีสถานศึกษา มีหลักสูตร มีครู มีงบประมาณนับแสนล้านต่อปี และระบบริหารทั้งส่วนกลางส่วนภูมิภาค มีหน่วยงานรองรับการดำเนินงานคล่องตัวที่สุด ที่สำคัญ กระทรวงศึกษาธิการ มีรัฐมนตรีมากที่สุด เปลี่ยนบ่อยกว่าทุกกระทรวง และทุกรัฐบาล
สำหรับบทบาทและหน้าที่ในระดับโรงเรียนที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน หลักสูตรกำหนดให้สอน 200 วัน 1,000 ชั่วโมง แต่ภารงานครูมีมาก ต้องทำตามคำสั่งระดับชาติ ระดับเขต ระดับจังหวัด และหน่วยงานต่างๆ

ขอนำตัวอย่างโครงการ กิจกรรม และภารงานที่ครูต้องทำ และอาจส่งผลถึงการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และคุณภาพประชาชนด้วย อยากให้ผู้มีอำนาจรับทราบ ภารงานและกิจกรรมต่างๆที่โรงเรียนแบกรับมานาน ซึ่งทุกงานต้องใช้เอกสารให้ครบกระบวนการ คือ รวบรวม รายงานและประเมินผล วนเวียนนับร้อยกิจกรรม สารพัดโครงการในรอบปี (ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาล และผู้บริหารระดับสูงไม่ทราบ)เพราะจะได้รับรายงานเฉพาะเรื่องดีๆ เรื่องเด่นๆ ที่ชนะเลิศการประกวด การแข่งขัน ส่วนปัญหาที่ทับถมมานาน และนับวันจะเพิ่มภาระให้ครูมากขึ้น ไม่มีใครกล้ารายงาน
ยกตัวอย่างโรงเรียนแห่งหนึ่ง มีครู 3 คน เปิดสอน 6 ชั้นเรียน คือ ป.1-ป.6 จะต้องจัดการสอนควบรวมชั้นเรียน เพราะครูไม่ครบชั้น และครู 1 คน ต้องสอนให้ครบทุกกลุ่มสาระ (วิชา ภาษาไทย คณิตศาสตร์) และสาระอื่นๆ อีก จนครบตามหลักสูตรใน 1 ปีการศึกษา คือ 200 วัน 1,000 ชั่วโมง และหลายโรงเรียนต้องรับเด็กพิเศษเรียนร่วมกับนักเรียนปกติ ยิ่งเป็นภาระหนัก คือ ไม่มีครูสอนเด็กพิเศษเฉพาะทาง นอกจากภารการสอนคือหลักแล้ว ครูในโรงเรียนต้องรับผิดชอบโครงการต่างๆ ร่วมร้อยโครงการ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

@ งานบริหารงานทั่วไป มีหลายโครงการ เช่น
1. โครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ
2. โครงการร้านค้าสวัสดิการโรงเรียน
3. โครงการพัฒนาคุณภาพงานบริหารทั่วไป
4. โครงการสานสายใย สานวัฒนธรรม สานสัมพันธ์ชุมชน
5. โครงการหนึ่งโรงเรียน หนึ่งทีมกู้ชีพ กู้ภัย
6. โครงการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน
7. โครงการคัดแยกขยะ เพื่อโรงเรียนสะอาด ปราศจากโรคภัย
8. โครงการอาหารกลางวันและโภชนาการ
9. โครงการสภาร่วมใจสานสัมพันธ์
10. โครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค
11. โครงการระดมทุนเพื่อการศึกษา
12. โครงการพัฒนาระบบการบริหารจัดการการศึกษา
13. โครงการเด็กดีมีเงินออม
14. โครงการประชาสัมพันธ์โรงเรียน ..,
15. โครงการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
16. โครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพนักเรียน
17. โครงการโรงเรียนสุจริตและ ITA
18. โครงการความสัมพันธ์และความร่วมมือกับชุมชน 19 โครงการสถานศึกษาสีขาวปลอดยาเสพติดและอบายมุข
20. โครงการโรงเรียนวิถีพุทธ
21. โครงการบริหารอาคารสถานที่ และแหล่งเรียนรู้
22. โครงการกีฬา ดนตรี และศิลปะ
23. โครงการระบบดูแลนักเรียนและเพื่อนที่ปรึกษา YC
24. โครงการอาหารกลางวันนักเรียน
25. โครงการจัดทำสำมะโนประชากรวัยเรียน
26. โครงการสหกรณ์โรงเรียน
27. โครงการประชาธิปไตยในโรงเรียน
28. โครงการปฐมนิเทศและปัจฉิมนิเทศ
29. โครงการวันสำคัญต่างๆ
30. โครงการตามนโยบาย เขตพื้นที่ สพฐ.และกระทรวงศึกษาธิการ
31. โครงการสวนพฤกษ์ศาสตร์เพื่อการเรียนรู้
32. โครงการโรงคุณธรรม สพฐ.

นอกจากนี้ ยังมีโครงการจากงานบริหารบุคคล งานการเงินและพัสดุ งานอาคารสถานที่ และงานความสัมพันธ์กับชุมชนอีกหลายสิบโครงการ ซึ่งยังไม่รวมโครงการที่หน่วยงานอื่นประสานความร่วมมือมา เช่น กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองท้องถิ่น เหล่ากาชาด สาธารณสุข และข้อสั่งการจาก สพฐ. และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอีกมากมาย…
การมีกิจกรรมและโครงการต่างๆ บางโครงการ ก็สามารถพัฒนาผู้เรียนได้ดี แต่หลายโครงการ มุ่งเน้นในการประกวดแข่งขัน เพื่อรับรางวัล และเอื้อประโยชน์ให้กับผู้บริหาร และครูบางกลุ่ม และการจัดโครงการ จะต้องมีครูรับผิดชอบ และมีการประชุม มีการประกวดแข่งขัน และการประเมิน ข้อดีคือเป็นการส่งเสริมเด็กเก่ง แต่เด็กที่ไม่เก่งไม่ได้ร่วมกิจกรรม จะถูกทอดทิ้ง หรือขาดโอกาสเป็นส่วนมาก
ผู้บริหารโรงเรียนและครูต้องทำงานหนักภายใต้ข้อจำกัด คือ เวลา และงบประมาณ รวมทั้งบุคลากรครู มีงานล้นมือ จะต้องทิ้งการสอนหรือนำงานไปทำที่บ้าน จึงไม่มีเวลาเตรียมการสอน หรือทุ่มเทให้นักเรียนให้เต็มเวลา เต็มหลักสูตร และเต็มตามศักยภาพของผู้เรียน ..
บทสรุป คือ โรงเรียนจัดการศึกษาตามหลักสูตรกำหนดเวลาเรียนใน 1 ปี จัดการเรียนการสอน จำนวน 200 วัน รวม 1,000 ชั่วโมง และต้องสอนให้ครบทุกกลุ่มสาระ หากสอนไม่ครบต้องสอนเสริมจนครบ แต่เนื้อหาที่สอนจะมีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนหรือไม่ ต้องติดตามประเมินผลคุณภาพผู้เรียน ครูจึงวนเวียนกับภารกิจที่ไม่ใช่งานสอน แต่เป็นงานเสริมที่ครูรับผิดชอบตลอดชีวิต..หากมองย้อนกลับไปถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และ พรบ. การศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการครบถ้วนหรือไม่ และในอนาคตที่จะมีการปฏิรูปการศึกษา ครูและผู้เกี่ยวข้องมีบทเรียนที่จะปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาโดยการมีส่วนร่วมอย่างไร อย่าลืมคำสอนของครูสมัยโบราณ ว่า รากฐานของตึก คืออิฐ รากฐานของชีวิต คือการศึกษา…เป็นความจริงที่ยั่งยืนตลอดมา
……
- ปัญญา แพงเหล่า/รายงาน
18 กุมภาพันธ์ 2568