รายงานพิเศษ : เมืองพิมูลมังษาหาร อำเภอพิบูลมังสาหาร

   เมื่อ : 17 ก.พ. 2568

           ประวัติและความเป็นมา : อำเภอพิบูลมังสาหาร เดิมมีฐานะเป็นเมืองชื่อว่า “เมืองพิมูลมังษาหาร” ตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะ “บ้านกว้างลำชะโด” ขึ้นเป็น “เมืองพิมูลมังษาหาร” เมื่อวันอาทิตย์ แรม 12 ค่ำ เดือน 12 จุลศักราช 1225 ซึ่งตรงกับวันที่ 6 ธันวาคม พุทธศักราช 2406 พร้อมแต่งตั้งให้ท้าวธรรมกิตติกา(จูมมณี) เป็น “พระบำรุงราษฎร์” เป็นเจ้าเมือง ให้ ท้าวโพธิสาร(เสือ) เป็นอุปฮาด ท้าวสีฐาน เป็นราชวงศ์ และท้าวขัตติยะ เป็นราชบุตร

           เมืองพิมูลมังษาหาร ดำรงฐานะความเป็นเมืองอยู่เป็นเวลา 40 ปี ทางราชการก็ดำเนินการลดฐานะลงเป็น “อำเภอพิมูลมังษาหาร” ในปีพุทธศักราช 1445 ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตาม “พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่” รัตนโกสินทรศก 116 ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2440 อำเภอพิมูลมังษาหาร มี “ราชบุตร(ผู)” เป็นผู้รักษาการนายอำเภอ* ราชบุตร(ผู) พระบำรุงราษฎร์ เจ้าเมืองพิมูลมังษาหาร ลำดับที่ 2

            ตลอดระยะเวลา 160-161 ปี ของพิบูลมังสาหาร มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายครั้งหลายหน จะขอกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลง จากปีพุทธศักราช 2445 – 2483 ใน 3 เหตุการณ์ คือ

            1. ในปี พุทธศักราช 2454 กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการยุบ “อำเภอวารินทร์ชำราบ” โดยแบ่งท้องที่ 5 ตำบลไปขึ้นกับอำเภอบูรพาอุบล ส่วนหมู่บ้านที่เหลือ เช่น “บ้านไผ่ใต้ ไผ่เหนือ บ้านดงบาก บ้านหนองสองห้อง บ้านห้วยหมากน้อย ห้วยหมากใหญ่ ซึ่งอยู่ใกล้กับอำเภอพิมูลมังษาหาร ให้ยกไปรวมขึ้นกับอำเภอพิมูลมังษาหาร (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 28 . 28 พฤษภาคม 130 : 359-360) / ข้อบังคับการปกครองหัวเมือง รัตนโกสินทรศก 116 ของกระทรวงมหาดไทย * บ้านไผ่ใต้ = บ้านห้วยไผ่ ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม / บ้านไผ่เหนือ = บ้านหนองไผ่ ต.สงยาง อ.ศรีเมืองใหม่ / บ้านดงบาก = บ้านดงบาก ต.หนองแสงใหญ่ อ.โขงเจียม / บ้านหนองสองห้อง = บ้านหนองสองห้อง ต.คำไหล อ.ศรีเมืองใหม่ / บ้านห้วยหมากน้อย = บ้านห้วยหมากใต้ ต.โขงเจียม อ.โขงเจียม / บ้านห้วยหมากใหญ่ = บ้านห้วยหมาก ต.คำไหล อ.ศรีเมืองใหม่

            ปีพุทธศักราช 2454 กระทรวงมหาดไทยได้จัดทำ “ทำเนียบท้องที่หัวเมือง กระทรวงมหาดไทย พุทธศักราช 1456” โดยจัดทำทำเนียบระดับตำบลทั่วประเทศเป็นครั้งแรก ปรากฏว่า อำเภอพิมูลมังษาหาร แบ่งท้องที่การปกครองออกเป็น 16 ตำบล คือ 1.ตำบลพิมูล 2.ตำบลโพธิ์ตาก 3.ตำบลโพธิ์สี 4.ตำบลทรายมูล 5.ตำบลดอนจิก 6.ตำบลสุวรรณวารี 7.ตำบลคำไหล 8.ตำบลวารินทร์ 9.ตำบลเอือดใหญ่ 10.ตำบลนาคำ 11.ตำบลสงยาง 12.ตำบลลาดควาย 13.ตำบลตาลสุม 14.ตำบลสำโรงใหญ่ 15.ตำบลจิกเทิง และ 16.ตำบลสำโรง

            เป็นที่น่าสังเกตว่า อำเภอพิมูลมังษาหารในปีพุทธศักราช 2456 ปรากฏหลายชื่อท้องที่หลายตำบล เป็นตำบลในเขตท้องที่อำเภอศรีเมืองใหม่ อำเภอโขงเจียม ในปัจจุบัน

            เมืองวารินทร์ชำราบ : ความเป็นมา เมืองวารินทร์ชำราบ ตั้งขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2423 ทั้งนี้เพราะหลวงชำนาญไพรสนฑ์(แดง) บุตรพระเทพวงศา(อุปฮาดก่ำ) เจ้าเมืองเขมราฐคนที่ 1 ได้พาครอบครัวไพร่พลอพยพมาอาศัยอยู่กับเจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ หลังจากนั้นเจ้านครจำปาศักดิ์จึงมีใบบอกกราบบังคมทูลพระกรุณาฯขอตั้ง “บ้านนากอนจอ” เป็นเมือง

            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯให้ตั้ง “บ้านนากอนจอ” เป็น “เมืองวารินทร์ชำราบ” พร้อมโปรดเกล้าฯตั้งให้ “หลวงชำนาญไพรสนฑ์” เป็น “พระกำจรจตุรงค์” เจ้าเมือง ตั้ง ท้าวไชย บุตรพระเทพวงศา(บุญเฮา) เจ้าเมืองเขมราฐ (คนที่ 3) เป็นอุปฮาด ให้ท้าวสิทธิจางวาง(อุทา) เป็นราชวงศ์ ให้ท้าวบุฮม(อ้ม)เป็นราชบุตร โดยกำหนดให้เมืองวารินทร์ชำราบ ขึ้นกับเมืองนครจำปาศักดิ์

            เมืองวารินทร์ชำราบ ขึ้นตรงต่อเมืองนครจำปาศักดิ์ได้ไม่นาน กล่าวคือในปีพุทธศักราช 2429 เจ้าเมืองวารินทร์ชำราบไม่พอใจจะทำราชการกับเมืองนครจำปาศักดิ์ ขอพระบรมราชานุญาตขึ้นกับเมืองเขมราฐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระบรมราชานุญาตตามประสงค์

            การดำเนินการปรับปรุงการปกครองในบริเวณเมืองอุบลราชธานี ให้เป็นไปตามบทบัญญํติลักษณะปกครองท้องที่ รัตนโกสินทรศก 116(พ.ศ.2440) บังเกิดผลสำเร็จในปีพุทธศักราช 2445 เมืองวารินทร์ชำราบ ปรับลดฐานะลงเป็น “อำเภอวารินทร์ชำราบ” โดยมี ราชวงศ์(บุญ) รักษาราชการแทนนายอำเภอ

            ในต้นปีพุทธศักราช 2454 หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติได้เป็นเวลา 6 เดือนเศษ กรุณาโปรดเกล้าฯให้ยุบ “อำเภอวารินทร์ชำราบ” เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2454 โดยกำหนดให้พื้นที่ส่วนหนึ่งไปรวมกับ “อำเภอพิมูลมังษาหาร” และอีกส่วนหนึ่งไปรวมกับ “อำเภอบูรพาอุบล”

            2. เมืองโดมประดิษฐ์ ซึ่งต่อมาถูกลดฐานะจากเมืองลงมาเป็น อำเภอโดมประดิษฐ์ เมืองศรีสะเกษ จังหวัดขุขันธ์ และยุบอำเภอโดมประดิษฐ์ ลงเป็นตำบลโนนกลาง อำเภอเดชอุดม จังหวัดขุขันธ์ เมื่อปีพุทธศักราช 2454

            ในปีพุทธศักราช 2458 สมัยพระยาวิเศษสีหนาท(ปิ๋ว บุนนาค) เป็นผู้รั้งตำแหน่งเทศาภิบาลมณฑลอุบลราชธานี และพระวิภาคย์พจนกิจ(เล็ก สิงหัษฐิต) นายอำเภอพิมูลมังษาหาร ได้มีราษฎรจาก “ตำบลโนนกลาง” และ “ตำบลไร่ใต้” อำเภอเดชอุดม จังหวัดขุขันธ์ ได้เข้าร้องทุกข์ว่า การไปติดต่อราชการงานเมืองนั้น มีระยะทางอยู่ห่างไกลและทุรกันดารลำบาก ทางราชการโดยกระทรวงมหาดไทย จึงได้โอนเอาตำบลโนนกลางและตำบลไร่ใต้ เข้ามาอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอพิมูลมังษาหาร นับตั้งแต่นั้นมา

            เมืองโดมประดิษฐ์ : ความเป็นมา เมืองโดมประดิษฐ์ ตั้งขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2424 พระรัตนะเขื่อนขันธ์ (หลวงมหาดไทย) กรมการเมืองเดชอุดม ตำแหน่งนายกองนอก ได้พาครอบครัวตัวเลขโจทย์ จากเมืองเดชอุดม อพยพไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ “บ้านจันลานาโดม” (ปัจจุบัน : บ้านแข้ด่อน ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน) ต่อมา เจ้ายุติธรรมธร(คำสุก ณ จำปาศักดิ์) เจ้าผู้ปกครองเมืองนครจำปาศักดิ์ ได้นำพระรัตนเขื่อนจันธ์เข้าเฝ้า เพื่อขอตั้งบ้านจันลานาโดมเป็นเมือง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกบ้านจันลานาโดมขึ้นเป็นเมือง นามว่า “เมืองโดมประดิษฐ์” และแต่งตั้งพระรัตนเขื่อนขันธ์(หลวงมหาดไทย) เป็น “พระดำรงสุริยะเดช” ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองโดมประดิษฐ์ ขึ้นตรงต่อเมืองนครจำปาศักดิ์

            ภายหลังการก่อตั้งเมืองโดมประดิษฐ์ได้ประมาณ 3-4 ปี พระดำรงสุริยะเดช เจ้าเมืองโดมประดิษฐ์ กับ “พระศรีสุระ” เจ้าเมืองเดชอุดม เกิดการแย่งเมือง แต่พระดำรงสุริยะเดชเห็นว่าตนมีจำนวนราษฎรน้อยกว่า หากตั้งเมืองอยู่ที่เดิมเกรงว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้น จึงนำความความเข้าร้องทุกข์ต่อเจ้ายุติธรรมธร(คำสุก ณ จำปาศักดิ์) ซี่งเป็นโอรสเจ้าฮุย / พระอนุชาเจ้ายุติธรรมสุนทร(คำใหญ่ ณ จำปาศักดิ์) ขอย้ายถิ่นฐานใหม่ไปอยู่ทางทิศตะวันออกหรือฝั่งซ้ายแม่น้ำลำโดมน้อย (ปัจจุบัน : บริเวณเขื่อนสิรินธร ตำบลฝางคำ ต.ช่องเม็ก ต.โนนก่อ อ.สิรินธร และ ตำบลโนนกลาง ต.โนนกาหลง อ.พิบูลมังสาหาร) กำหนดให้ขึ้นตรงต่อเมืองนครจำปาศักดิ์ 

            เมืองโดมประดิษฐ์มีฐานะเป็นเมือง มีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครองอยู่ไม่นาน พอถึงปีพุทธศักราช 2440 มีการปรับปรุงการปกครองครั้งใหญ่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้ประกาศใช้ “พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ รัตนโกสินทรศก 116” เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พุทธศักราช 2440 เมืองโดมประดิษฐ์ปรับลดฐานะจากเมืองลงเป็น “อำเภอโดมประดิษฐ์” เมื่อปีพุทธศักราช 2445 

          โดมประดิษฐ์ คงสถานะเป็นอำเภอโดมประดิษฐ์มาได้ 10 ปี จนถึงปีพุทธศักราช 2455 อำเภอโดมประดิษฐ์ก็ถูกยุบเลิก มีฐานะเป็นตำบล ชื่อว่า “ตำบลโนนกลาง” พร้อมกันนี้ท้องที่ในการปกครองของอำเภอโดมประดิษฐ์เดิมนั้น ก็ยกไปรวมอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอเดชอุดม จังหวัดขุขันธ์

          3. ในปีพุทธศักราช 2483 กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อ “อำเภอพิมูลมังษาหาร” เป็น “อำเภอพิบูลมังสาหาร” ส่วน “ตำบลพิมูล” ซึ่งเป็นตำบลที่ตั้งที่ว่าการอำเภอก็ให้เปลี่ยนชื่อเป็น “ตำบลพิบูล”

           อนึ่ง : ตำบลพิมูล ก่อนที่จะเปลี่ยนนามตำบลเป็น “ตำบลพิบูล” นั้น วันที่ 29 กันยายน พุทธศักราช 2482 ได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะ “ตำบลพิมูล” เป็น “เทศบาลตำบลพิบูลมังษาหาร” ต่อมากระทรวงมหาดไทยเห็นว่าเทศบาลตำบลพิบูลมังษาหาร มีพื้นที่กว้างมากถึง 197 ตารางกิโลเมตร จึงมีพระราชกฤษีกาเปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตเทศบาลตำบลพิบูลมังษาหาร เหลือเพียง 6 ตารางกิโลเมตร เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พุทธสักราช 2494

          ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอพิบูลมังสาหาร เมื่อปีพุทธศักราช 2483 แล้ว อำเภอพิบูลมังสาหารก็มีความเจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ 

           อำเภอพิบูลมังสาหาร แบ่งท้องที่การปกครองเป็น 12 ตำบล 119 หมู่บ้าน ดังนี้ 1.ตำบลพิบูล 2.ตำบลโพธิ์ไทร 3.ตำบลโพธิ์ศรี 4.ตำบลทรายมูล 5.ตำบลดอนจิก 6.ตาลสุม 7.ตำบลสำโรง 8.ตำบลจิกเทิง 9.ตำบลไร่ใต้ 10.ตำบลโนนกลาง 11.ตำบลหนองบัวฮี และ 12.ตำบลกุดชมภู.                                                        

           อนึ่งในปีพุทธศักราช 2451 สมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ แบ่งเมืองอุบลราชธานี ออกเป็น 4 อำเภอ ได้แก่ 1.อำเภอบูรพาอุบล(อ.เมืองอุบลฯ) 2.อำเภออุดรอุบล(อ.ม่วงสามสิบ) 3.อำเภอทักษิณอุบล(อ.วารินชำราบ) 4.อำเภอปจิมอุบล(อ.เขื่องใน)

          เทศบาลตำบลพิบูลยกฐานะเป็น เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร เมื่อปีพุทธศักราช 2547 / เทศบาลตำบลธาตุ – เทศบาลตำบลวารินชำราบ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พุทธศักราช 2480 / เทศบาลเมืองอุบลราชธานี ก่อตั้งเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พุทธศักราช 2478

           เมืองโขงเจียม พ.ศ.2364 ขุนนักราชบาอินทร์ ผู้รักษาบ้านเมืองเจียม(ใต้) มีความผิดฉกรรจ์ ราชบุตรโย่ (บุตรเจ้าอนุวงศ์ เมืองเวียงจันทน์) เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ มีใบบอกขอยก “บ้านนาคอ” ขึ้นเป็นเมืองโขงเจียม พร้อมขอแต่งตั้ง เจ้าเมือง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านนาคอ เป็นเมืองโขงเจียม พร้อมขอแต่งตั้งท้าวมหาอินทร์ เป็น พระกำแหงสงคราม เจ้าเมือง ขึ้นตรงต่อเมืองนครจำปาศักดิ์ แต่ต่อมาปรากฏว่า ไปตั้งอยู่ที่บ้านเจียมเหนือ(บ้านนาแวง ต.เขมราฐ) ซึ่งปรากฏร่องรอยของโฮงเจ้าเมือง / การสร้างวัดโขงเจียมปุราวาส เมืองโขงเจียมขึ้นต่อเมืองเขมราฐ 

          เมืองสุวรรณวารี เจ้าอุปราชคำพัน อุปราชเมืองนครจำปาศักดิ์ พากันอพยพมาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำมูลที่บ้านคันนกหอ(บ้านคันนกหอ / บ้านสุวรรณวารี) โดยแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้

          1. ตั้งที่บ้านนาคอ ให้ท้าวบุญธิสาร(คำบุ) ทำหน้าที่เก็บส่วยในตำบลสำโรงเหนือ ตำบลนาโพธิ์(กลาง) ตำบลลาดควาย ตำบลสงยาง ตำบลเอือดใหญ่ และตำบลนาคำ

          2. ตั้งที่บ้านคำไหล ให้พระราชวงศา เก็บส่วยในตำบลคำไหล และตำบลวาริน

          3. ตั้งที่บ้านคันนกหอ มีเจ้าอุปราชคำพัน ทำหน้าที่เก็บส่วยในตำบลสุวรรณวารี และตำบลห้วยยาง

          ครั้นเจ้าอุปราชถึงแก่กรรม ท้าวบุญธิสาร(คำบุ) ได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองแทน…

           ความเปลี่ยนแปลงในศตวรรษ : พอสรุป ดังนี้ 

          - ปี พ.ศ. 2482 ทางราชการได้เปลี่ยนชื่อ อำเภอพิมูลมังษาหาร เป็น อำเภอพิบูลมังสาหาร

           - ปี พ.ศ. 2502 กิ่งอำเภอด่านปากมูล สังกัดอำเภอพิบูลมังสาหาร ประกอบด้วย ด่านปากมูล สุวรรณวารี บ้านด่านและโขงเจียม ได้ยกฐานะเป็น อำเภอบ้านด่าน ต่อมาปี พ.ศ. 2514 จึงเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอโขงเจียม และอำเภอโขงเจียมเดิมได้รับพระราชทานเปลี่ยนนามเป็นอำเภอศรีเมืองใหม่ ในปัจจุบัน

           - ปี พ.ศ. 2521 ตั้งกิ่งอำเภอตาลสุม เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2521 และเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2531 ได้ยกฐานะเป็น อำเภอตาลสุม

           - ปี พ.ศ. 2534 จังหวัดอุบลราชธานีได้ขอให้กระทรวงมหาดไทยจัดตั้ง อำเภอสิรินธร เป็นกรณีพิเศษ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสที่มีพระชนมายุครบ 36 พรรษา ตามพระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอสิรินธร พ.ศ.2535 และมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2535 เป็นต้นมา

       ……

  • อร่าม สมสวย เรียบเรียง
  • ปัญญา แพงเหล่ารายงาน