เล่าเรื่อง เมืองอุบล : เสรีไทยสายอุบลราชธานี

   เมื่อ : 18 พ.ย. 2567

            จากความประทับใจในความสามัคคีของเสรีไทยใน แถบอีสานเหนือ สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ทำให้จิตรกรผู้มีความมุ่งมั่นจะนำจิตรกรรมมาทำให้คนไทย ได้ตระหนักถึงวีรกรรมของเสรีไทยทั่วประเทศ

            ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเดินทางไปยังดินแดนอีสานใต้ ในจังหวัดซึ่งทหารญี่ปุ่นทำพิธีมอบดาบซามูไรยอมรับความปราชัยในสงครามมหาเอเชียบูรพาเป็นจังหวัดสุดท้าย ณ เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี-อุบลราชธานี

            เสรีไทยในอุบลราชธานี มีผู้นำคือ สส.ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ พันธมิตรในสภาผู้แทนราษฎรของ ครูเตียง ศิริขันธ์ สส. สกลนคร ผู้นำเสรีไทยสายอีสาน ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เหมือนกัน สส.ทองอินทร์ เคยเป็นครูโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ต่อมาได้เลื่อนเป็นครูใหญ่ โดยดำรงตำแหน่ง ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๖๘ – ๒๔๗๗ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ครูทองอินทร์ โอนไปรับราชการที่กระทรวงมหาดไทย หลังจากนั้นจึงลาออกจากราชการมาสมัครเป็นผู้แทนราษฎร โดยได้เป็นผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดอุบลราชธานี

            เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๖ และชนะการเลือกตั้งทุกสมัยที่ลงสมัคร ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา สส.ทองอินทร์ นำกำลังครู-นักเรียนของโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช มาทำงานเพื่อชาติ

            สส.ทองอินทร์ ตั้งค่ายฝึกเสรีไทย ในบ้านนาขาม อำเภอเมือง เป็นแห่งแรก นอกจากนี้ยังมีค่ายเสรีไทยในโรงเรียน โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช บ้านพนา อำเภอพนา ซึ่งปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดอำนาจเจริญ ค่ายเสรีไทยในบ้านสวนงัว อำเภอม่วงสามสิบ

            เสรีไทยสายอเมริกา ที่เข้ามาจังหวัดอุบลราชธานี คือ ร้อยเอกการุณ เก่งระดมยิง นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ที่ไป ศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยไมอามี่

            ร้อยเอกการุณ มีนามรหัสในเมืองไทยคือ บุญมา ณ บ้านขาม มีหน้าที่ติดต่อกับต่างประเทศ นัดหมาย วัน เวลารับอาวุธ จากเครื่องบินที่มาทิ้งร่มลงตามจุดกำหนดในตอนกลางคืน เพื่อนำอาวุธไปซุกซ่อนไว้ในสถานที่ต่างๆ ก่อนนำไปฝึกให้กับพลพรรคเสรีไทยต่อไป

            ปลายปี พ.ศ.๒๔๘๖ จนถึงต้นปี พ.ศ. ๒๔๘๗ มีการนำกำลังคนจากที่ต่างๆ มาฝึกเสรีไทยในอุบลราชธานี หน่วยเสรีไทยในอุบลราชธานีมีพลพรรค ประมาณ ๕๐๐ คน สังกัด ๑ กองพัน ๔ กองร้อย มีการรวมพลครั้งใหญ่เป็นครั้งแรก ณ บ้านสวนวัว มีการรวม อำเภอม่วงสามสิบ ใช้โรงเรียนประชาบาลเป็นที่ตั้งกองบัญชาการ เสรีไทยส่วนใหญ่เป็นครูประชาบาล อาจารย์เทอด บุณยรัตพันธุ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นครูอยู่โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช ได้รับคำสั่งให้ไปราชการพิเศษ ต่อมาจึงทราบความจริงว่า ให้มาฝึกเสรีไทย ฝึกการใช้อาวุธ การหาข่าวสาร การก่อวินาศกรรม อาจารย์เทอดได้รับมอบให้เป็นนายทะเบียนอาวุธของกองร้อยที่ ๒

            ครั้งหนึ่ง ทหารญี่ปุ่นมาพบค่ายโดยบังเอิญในตอนเช้ามืดของต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๗ ก่อให้เกิดความโกลาหลวุ่นวาย ครูเทอด บุณยรัตพันธุ์ จึงพยายามควบคุมให้พลพรรคอยู่ในความสงบและเตรียมอาวุธพร้อม ครูทองอิน วีสเพ็ญ เข้าไปสอบถามทหารญี่ปุ่น ได้ความว่าเป็นทหารม้าที่บังเอิญเดินผ่านมาเพื่อตามหาม้าที่หายไป ก่อนจะไปพักที่บ้านสร้างมิ่งซึ่งอยู่ห่างจากค่ายเสรีไทยออกไปราว ๒ กิโลเมตร

            ร้อยเอกการุณ เก่งระดมยิง หัวหน้าค่ายจึงสั่งให้สลายพลพรรค โดยให้นำอาวุธทั้งหมดขึ้นไปรวมไว้บนโรงเรียนแล้ว จัดการวางสายระเบิดรอบค่าย จากนั้นท่านพร้อมพลพรรคอีก ๔ คน นำปืนกลเบาเบรนไปตั้งรับบริเวณชายหมู่บ้านสร้างมิ่ง (ตำบล หนองเมือง อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี)

            การเกิดอุบัติเหตุระหว่างการฝึกเสรีไทย เนื่องจากการฝึกอาวุธให้พลพรรคเสรีไทยดำเนินไปด้วยความเร่งรีบ ครูฝึกเป็นครูไม่มีความชำนาญด้านการใช้อาวุธ เพราะไม่ใช่ทหารอาชีพ จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุในค่ายฝึกเสรีไทยในบ้านพนา อำเภอพนา จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดอำนาจเจริญ)

            ครูโรงเรียนพนาคือ นายกุศล เงินหมื่น และ นายสวัสดิ์ เงินหมื่น เป็นฝ่ายประสานงานทำหน้าที่ครูฝึกเสรีไทย ได้มีนักเรียนโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมประจำจังหวัดอุบลราชธานี

(ซึ่งในสมัยนั้นเป็นโรงเรียนชายล้วน) ส่วนใหญ่สมัครใจเข้ารับการฝึกอาวุธกับสมาชิกขบวนการเสรีไทย

            ประมาณเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๘๗ มีการรวมพล พรรค ครั้งใหญ่ในค่ายโรงเรียนบ้านพนา มีการจัดเวรยาม ตั้งป้อม ปืนรัดกุม ขณะนั้นหัวหน้าค่ายไม่อยู่เพราะได้รับคำสั่งให้เข้ากรุงเทพฯ หลังจากร่วมฝึกกันไม่ถึงอาทิตย์เกิดเหตุการณ์น่าสลดใจ นายปราโมทย์ ศิริกุล ได้เล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า

            ขณะเกิดเหตุ ตนเพิ่งเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ จากโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช ไม่ได้เรียนต่อมัธยมศึกษาตอนปลาย เนื่องจากโรงเรียนหยุดสอนเพราะสงคราม นายปราโมทย์ เป็นยุวชนทหาร ถูกครูชักชวนให้ไปเที่ยวไปกินข้าวป่า จึงพากันไปที่ไปกินข้าวป่า บ้านพนา ก่อนจะทราบว่า ครูพามาฝึกเป็นเสรีไทย ต้องตกกระได พลอยโจนเพราะกลับบ้านไม่ได้ ก่อนเกิดเหตุอันน่าสลดใจ เป็นชั่วโมงสอนการใช้ปืนกลมือจอห์นสัน ปืนกลจอห์นสันซึ่งเป็นปืนส่องวิถี หากยิงกลางคืนจะเห็นวิถีปืนเหมาะสำหรับยิงเครื่องบิน

            ครูเล็ก ขัมภรัตน์ ครูฝึกนำปืนกลมือจอห์นสันไปฝึกสอนพลพรรค ๓๐ คน บริเวณใต้ถุนโรงเรียน ขณะที่หลายคนกำลังตั้งใจฟังรายงานจากหน่วยข่าว พลันได้ยินเสียงปืนกลดังสนั่นหวั่นไหวมาจากจุดสาธิตการใช้อาวุธ เสียงของปืนกลดังเป็นชุดจนผิดสังเกต เมื่อไปดูที่เกิดเหตุพบครูเล็ก ขัมภรัตน์ กำลังยืนตะลึง ปืนวางอยู่บนพื้นดินข้างล่าง พลพรรคแตกฮือวิ่งหนีกันวุ่นวาย สอบถามได้ความว่าครูเล็ก นำซองกระสุนหรือแม็กกาซีนใส่ในปืน แล้วขึ้นลำกล้องไว้ จากนั้นวางปืนไว้บนโต๊ะ โดยหันปากกระบอกปืนไปทางที่ไม่มีคน จู่ๆ ปืนเกิดลั่นขึ้น ทำให้ปากกระบอกปืนส่ายไป ในทิศทางต่างๆ กระสุนในแม็กกาซีน ๒๕ นัด ยิงรวดเดียวหมด อาจเป็นว่าผู้ทำความสะอาดปืน ได้ถอดชิ้นส่วนออกแล้วประกอบชิ้นส่วนไม่สนิท

            อุบัติเหตุครั้งนั้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุทันที ๔ คน บาดเจ็บสาหัส ๕ คน ไม่สาหัส ๕ คน ต่อมาผู้บาดเจ็บสาหัส เสียชีวิตอีก ๔ คน รวมมีผู้เสียชีวิต ๘ คน โดยผู้ตายเป็นครูประชาบาล ๔ คน นักเรียน ๔ คน หัวหน้าหน่วย จึงสั่งให้สลายค่าย แล้วขนอาวุธบรรทุกบนเกวียน ๑๒ เล่ม ลำเลียงจากบ้านพนาไปยัง อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี.

  • ขอบคุณข้อมูล : โสมชยา ชนังกุล..เสรีไทยหลงยุค กระทรวงวัฒนธรรม,2565

       ………

  • ปัญญา แพงเหล่า/รายงาน

       18 พ.ย.2567