รายงานพิเศษ : ชาวต่างประเทศกับวันรำลึกแห่งความดีจังหวัดอุบลราชธานี

   เมื่อ : 16 พ.ย. 2567

            จังหวัดอุบลราชธานี เมืองแห่งดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี มีปลาแซบหลาย หาดทรายแก่งหิน ถิ่นไทยนักปราชญ์ ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา ผาแต้มก่อนประวัติศาสตร์ ฉลาดภูมิปัญญาท้องถิ่น ดินแดนอนุสาวรีย์ คนดีศรีอุบล...

            จากความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ทั้งด้านการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา การศาสนา และศิลปวัฒนธรรม เป็นดินแดนแหล่งธรรมะ ถิ่นกำเนิดพระอริยสงฆ์ เช่น หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น หลวงปู่ชา และมีพระสงฆ์ได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระราชาคณะชั้นสมเด็จ จำนวนมากถึง 5 รูป มีศิลปินแห่งชาติ จำนวน 16 คน ครบทุกสาขา และมีการสืบสานงานประเพณีอันดีงามเป็นมรดกล้ำค่าเทียนพรรษาภูมิปัญญาเมืองอุบลราชธานีสมญานามว่า เมืองนักปราชญ์ ราชธานีแห่งเดียวในสยาม มีความเจริญก้าวหน้าตามลำดับด้วยปราชญ์วิถี เป็นสังคมสงบสุข ถึงแม้จะมีเหตุการณ์จากภัยมนุษย์และภัยธรรมชาติหลายครั้งในรอบ 200 ปี เมืองอุบลราชธานี ก็ผ่านพ้นด้วยดีภายใต้ร่มพระบารมี ยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และร่วมกันพัฒนาสังคมประเทศชาติให้เจริญสืบมาถึงปัจจุบัน

            จังหวัดอุบลราชธานี กับเหตุการณ์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (ปี2484-2488) การสร้างอนุสาวรีย์แห่งความดี ของเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร และ การจัดงานพิธีรำลึกคุณงามความดีของชาวอุบลราชธานี เป็นเรื่องเป็นสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ชาวอุบลราชธานีควรรับรู้ และร่วมสืบสานคุณงามความดีตามบรรพบุรุษที่สร้างสมไว้เป็นแบบอย่าง และมีชาวต่างประเทศให้การยกย่องเชิดชู

            จากความสำคัญดังกล่าว จึงได้รวบรวมข้อมูลและเหตุการณ์การจัดงานวันรำลึกแห่งความดีจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อสืบสานและพัฒนาการเรียนรู้ของทุกภาคส่วน ดังนี้

            ความเป็นมา : ชาวต่างประเทศที่ริเริ่มการจัดงานวันรำลึกแห่งความดี การจุดประกาย ปี 2550 และนำไปสู่การจัดงานอย่างเป็นทางการในปี 2551 เป็นต้นมา ซึ่งมีข้อมูลบุคคลที่เดินทางจากต่างประเทศ และอาศัยอยู่ในประเทศไทย ที่เปิดเผยประวัติส่วนตัว ครอบครัวและสถานภาพ จำนวน 14 คน โดยไม่สงวนสิทธิ์ ตามลำดับ ดังนี้

            1. Mr.Thomas Raymond Potter (นายทอม พอตเตอร์) เป็นชาวอังกฤษ คุณพ่อเป็นทหารผ่านศึก ชาวอังกฤษ คุณแม่เป็นชาวออสเตรเลีย ทอมเดินทางเข้าประเทศไทยเมื่อปี 2535 ในฐานะท่องเที่ยว สมัครเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่สถาบัน ECC Thailand กทม. แต่ไปสอนที่สาขาลาดหญ้า กาญจนบุรี เพราะมีภารกิจในการสืบค้นหาเชลยศึก ซึ่งเป็นคุณพ่อของเพื่อนที่ถูกควบคุมมาสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแคว อยู่ที่นั่น 2 ปี ไม่มีข้อมูล จึงขอย้ายมาสอนที่อีซีซีสาขาอุบลราชธานี ในปี 2537 ซึ่งมีนายชูเกียรติ และคุณจุฑามาศ พันธ์นิกุล เป็นเจ้าของ ทอมเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ และพักอาศัยอยู่ในอุบลราชธานี จนเสียชีวิตเมื่อปี 2559

            จากความสัมพันธ์อันดีกับนายทอม เพราะในวันหยุดจะไปเรียนภาษาอังกฤษกับทอม เพื่อพัฒนาตนเอง รวมทั้งเรียนคอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐานสำหรับข้าราชการ ตามนโยบายภาครัฐด้วย และพาทอมร่วมกิจกรรมสำคัญในท้องถิ่น เช่น ร่วมพิธีถวายดอกไม้จันทน์ เนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ พระเมรุชั่วคราว วันที่ 10 มีนาคม 2539 หน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี และในระหว่างที่สอนที่อุบลราชธานี ทอมมีเพื่อนชาวต่างประเทศมาเยี่ยมพบปะพูดคุยเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 2 กับเชลยศึกในอุบลราชธานี นำไปสู่การริเริ่มงานสำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี

            ในปี 2550 ทอมนัดหมายเพื่อนชาวต่างประเทศ มีชาวอังกฤษ และออสเตรเลีย ทำพิธีรำลึกความดี ณ อนุสาวรีย์แห่งความดี ทุ่งศรีเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี และส่วนหนึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานอุบลราชธานี ได้ประสานงานให้เชิญตัวแทนขาวอุบลราชธานี ร่วมพิธีและร่วมปรึกษาแนวทางการจัดงานครั้งต่อไป เนื่องจากเป็นวันอาทิตย์ ไม่สามารถประสานส่วนราชการ หรือหัวส่วนราชการได้ จึงได้เรียนเชิญ นายสุวิชช คูณผล ข้าราชการบำนาญ และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิของจังหวัดอุบลราชธานี และได้ประสานสื่อมวลชลร่วมทำข่าวเผยแพร่ด้วย

          Mr.Thomas Raymond Potter จึงเป็นบุคคลแรกที่รวบรวมเพื่อชาวต่างประเทศมาร่วมทำพิธี และมอบให้ Mr.Robert Longrigde และ Mr.Trevor Baden Powell เป็นผู้วางพวงมาลา (หรีด) ดอกไม้สีแดง ณ อนุสาวรีย์แห่งความดี ยืนสงบนิ่ง 2 นาที (11:00-11:02 น.) และทอมได้มอบช่อดอกไม้ให้นายสุวิชช คูณผล ในนามชาวอุบลราชธานี (Lady of Ubon) เสร็จพิธีถ่ายภาพร่วมกัน และร่วมปรึกษาแนวทางการจัดงานในปีต่อไป (ซึ่งมีรายละเอียด ขั้นตอนยาวพอสมควร) 

            จากข้อหารือ และแนวทางในการปฏิบัติมีทอม เป็นตัวแทนชาวต่างประเทศ (ฝ่ายสัมพันธมิตร) กับนายสุวิชช คูณผล ตัวแทนชาวอุบลราชธานี โดยมอบหมายให้ Robert เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดงาน มี Michael เป็นผู้ประสานงานเครือข่าย และทอม ยึดตามระเบียบการแบบสากล ที่เคยจัดในประเทศอังกฤษ แคนาดา และจัดในประเทศไทย คือ วันที่ 11 เดือน 11 เวลา 11:00 น. ของทุกปี ทั้งนี้เพราะเป็นวันสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่1 ทั่วโลกถือเป็นวันแห่งสันติภาพ (วันทหารผ่านศึกโลก) ซึ่งกิจกรรมจึงเป็นการรำลึกถึงทหารและผู้เสียชีวิตจากภัยสงครามทุกสมรภูมิ และเชื่อมโยงกับอนุสรณ์สถานที่เชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรได้สร้างไว้ที่อุบลราชธานี เป็นอนุสาวรีย์แห่งความดี เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของชาวอุบลราชธานี 

            การปรึกษาหาแนวทางจัดงาน ได้ข้อสรุปมอบ Robert วางแผนและเขียนกำหนดการ ขั้นตอน และคำกล่าววัตถุประสงค์ คำกล่าวรำลึก การใช้ดนตรีประกอบ ดนตรีบรรเลง (สากล) การแต่งกายโดยมีคุณสุรัสวดี ธรรมวะรีย์ (ล่าม) ช่วยแปลและให้ข้อมูลด้วย ซึ่งมีรายละเอียดตามข่าวที่เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ไปแล้ว 

          Mr.Thomas Raymond Potter นายทอม เกิดเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2482 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 อายุ 77 ปี โดยมีพิธีฌาปนกิจศพที่วัดพลแพน อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีลูกสาวทอมซึ่งทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น และชาวต่างประเทศมาร่วมพิธีด้วย สำหรับชาวอุบลราชธานี มีคุณจุฑามาศ พันธ์นิกุล (ECC) คุณครูวรวรรณ คุ้มบุญ ครูจิตติมา แท่งคำ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช และเพื่อนสนิทหลายคน นายนิกร วีสเพ็ญ เลขานุการมูลนิธิเจ้าคำผง และมีคุณสุรัสวดี ธรรมสะรีย์ ผู้ประสานงาน นับเป็นการสูญเสียบุคคลสำคัญด้านประวัติศาสตร์ไปอีกคน

            2. Mr.Robert G.F.Longride (Robert is EX-Royal Engineers) ชาวอังกฤษ อดีตทหารนอกประจำการ เคยเป็นวิศวกรสร้างสนามบินเลิงนกทา ช่วงปี 2506 - 2508 และมีบทบาทในการจัดงานวันรำลึกแห่งความดีและชาวต่างประเทศคนที่ 2 รองจาก ทอม มีความรับผิดชอบจริงจัง ทำหน้าที่ตัวแทนในปี 2551-2553 จึงมอบงานให้ Mr.Michael Robert Chapman ทำหน้าที่ต่อจากปี 2554-2563 และ (ไมค์) ป่วยเสียชีวิต และมี Mr.Noel David Anderson มารับหน้าที่ต่อจากปี 2564 ถึงปัจจุบัน 

          Mr.Robert Longrigde ยังเป็นแกนนำในกลุ่มสร้างสนามเลิงนกทา (Operation Crown Association) เดินทางจากต่างประเทศมาร่วมงานทุกปี

            3. Mr.Michael Robert Chapman เป็นทีมงานและผู้แทนชาวต่างประเทศในการทำข้อตกลงร่วมกันจัดงานวันรำลึกแห่งความดี ระหว่างชาวต่างประเทศกับชาวอุบลราชธานี ตั้งแต่ปี 2550

            สำหรับประวัติส่วนตัวของไมค์ และเป็นคนเดียวที่มีบ้านพักและครอบครัว ประกอบอาชีพ สอนพิเศษภาษาอังกฤษ และมีร้านเซเว่นซี ร้านอาหาร บาร์ บริการชาวต่างประเทศ และบุคคลทั่วไป ตั้งอยู่เลขที่ 198 หมู่ 1 ตำบลธาตุ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ประเทศไทย (ถนนวาริน-เดชอุดม) ใกล้กับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีบทบาทหน้าที่ประสานเครือข่ายทหารช่างชาวต่างประเทศที่เคยสร้างสนามบินเลิงนกทา ให้มาร่วมงานวันรำลึกแห่งความดี ซึ่งเดินทางจากอังกฤษ ออสเตเลีย และแคนาดา 

            ที่สำคัญ ไมค์ และสมาชิกได้ตั้งกองทุนการกุศล เพื่อช่วยเหลือครอบครัวทหารผ่านศึกในเขตอุบลราชธานี โดยการจำหน่ายดอกป๊อบปี้ในงานวันรำลึกแห่งความดี และได้นำเงินไปมอบให้ครอบครัวทหารศึกแล้วหลายครอบครัว 

            ในปี 2564 มีปัญหาสุขภาพได้มอบหมายให้ Mr. Noel David Anderson เป็นผู้ดำเนินการแทน จนสุดท้ายได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565 ภรรยาและเพื่อนชาวต่างประเทศ จัดพิธีบำเพ็ญกุศลและฌาปนกิจศพ ในวันที่ 5 มกราคม 2566 ที่วัดผาสุกการาม อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี โดยมีมูลนิธิเจ้าคำผง และวุฒิอาสาคลังสมองจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมเป็นเจ้าภาพ และงานสำเร็จด้วยดีทุกประการ 

          Mr.Michael Robert Chapman เกิดวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2498 ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565 รวมอายุ 67 ปี นับเป็นการสูญเสียบุคคลสำคัญที่มีส่วนร่วมในการจัดงานวันรำลึกแห่งความดีชาวอุบลราชธานี ซึ่งจะเป็นความทรงจำตลอดไป

            สำหรับสนามบินเลิงนกทา สร้างโดยทหารสหรัฐอเมริการ่วมกับพันธมิตรอังกฤษ ในสมัยสงครามเวียดนาม เริ่มก่อสร้างในเดือนพฤศจิกายน 2506 - 2508 ใช้เวลา 3 ปี ดำเนินการแล้วเสร็จ และมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2508 โดยจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี เดิมชื่อสนาม Crown Airfield รันเวย์เป็นพื้นคอนกรีตยาว 1,530 เมตร มีหัวท้ายเป็นแอสฟัลต์ด้านละ 150 เมตร ความกว้างของรันเวย์ 40 เมตร ว่ากันว่า สมัยสงครามเวียดนาม สหรัฐได้สร้างสนามบินสำรองเอาไว้หลายแห่ง ทั้งในไทยและลาว เพื่อให้เครื่องบินที่ถูกยิงขัดข้องได้ลงจอดในสนามบินที่ใกล้ที่สุด และใช้ประโยชน์ในการลำเลียงยุทธภัณฑ์สงคราม

            4. Mr.Jimmy Curtis เป็นชาวอังกฤษ มีความรู้ความสามารถ อาวุโส อายุ 84 ปี (2566) อดีตทหารช่างสร้างสนามบินเลิงนกทา และมีเครือข่ายกับชาวออสเตรเลีย และอเมริกันในประเทศไทย เป็นผู้ประสานงานที่สุภาพเรียบร้อย มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกฝ่าย มีความห่วงใย สนับสนุนงานเป็นไปด้วยความราบรื่นเรียบร้อยทุกปี จึงเป็นหนึ่งกลุ่มที่ร่วมกันจุดประกายริเริ่มพิธีรำลึกความดี ปี2550

            5. Mr.Neil Campbell เป็นชาวสกอตแลนด์ในสหราชอาณาจักร หนึ่งใน Operation Crown มาร่วมงานพร้อมภรรยา คือ Belinda โดยทำหน้าที่เป่าปี่สกอต เป็นดนตรีประกอบพิธีการตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ที่น่าสังเกตคือ ชาวอังกฤษจะนำภรรยา ซึ่งส่วนใหญ่จะเกษียณอายุราชการหรือพ้นจากหน้าที่การงานและมีอายุกว่า 70 ปี ซึ่งในปี 2558 ตรงกับครบ 70 ปี สงครามโลกครั้งที่2 มีชาวต่างประเทศเดินทางมาร่วมงานที่ประเทศไทยและที่จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 80 คน และสมทบกับชาวต่างประเทศ มาร่วมงานที่อุบลราชธานี กว่าร้อยคน และปี 2559 เพิ่มจำนวนมากขึ้นตามลำดับ

            6 Mr.Ray Withnall เป็นลูกชายอดีทหารผ่านศึกชาวอังกฤษ เดินทางเข้าประเทศไทยและร่วมงานวันรำลึกแห่งความดีที่จังหวัดอุบลราชธานี ปี 2559 และมีครอบครัวในจังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุคคลสำคัญที่สืบค้นประวัติและเหตุการณ์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในประเทศไทย และในจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีคุณคำมา ภรรยา และคุณตาทองดี วงศ์มั่น ชาวบ้านหนองไผ่ ต.ขามใหญ่ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี อำนวยความสะดวก และประสานงาน ซึ่งมีนายชัยวัฒน์ อังคีรส วุฒิอาสาคลังสมองจังหวัดอุบลราชธานี เป็นล่ามสื่อสารแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จนได้รับภาพถ่ายเหตุการณ์สำคัญในจังหวัดอุบลราชธานี จากพิพิธภัณฑ์สงครามในลอนดอน เพื่อจัดพิมพ์หนังสือเผยแพร่ และเป็นสื่อการเรียนรู้ต่อไป

            7. Mr.Noel David Anderson เป็นชาวอังกฤษ ประกอบอาชีพที่ร้านอาหาร WrongWay ถนนผาแดง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี และมีครอบครัวเป็นชาวไทย ทำหน้าที่ต่อจาก Mr.Michael Robert Chapman ตั้งแต่ปี 2564-ปัจจุบัน เป็นบุคคลสำคัญในการประสานงานหลักกับชาวต่างประเทศ และเป็นศูนย์รวมของสมาชิกและเครือข่ายอีกด้วย

            สำหรับ (ลำดับที่ 8-14) เป็นคณะที่ร่วมกิจกรรมมาตลอด และลำดับที่ 8 คือ Mr.Trevor Baden Powell เสียชีวิตปี 2551 และ ลำดับที่ 9 Mr.Lan Ellewellyn เสียชีวิต ปี 2555

และลำดับ 10. Mr.Neville Arthur Jones ลำดับ 11.Mr.Julian Andrew ลำดับ 12. Mr.Neville T. Wareham ลำดับ 13. Mr.Alan Mayers และลำดับ 14. Mr.John Hammet ซึ่งชาวต่างประเทศจำนวน 14 คน มีส่วนร่วมในการจัดงานวันรำลึกแห่งความดีกับชาวอุบลราชธานี มาอย่างต่อเนื่อง และมีความจริงใจเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวสถานภาพตามสมควร ทำให้การทำงานราบรื่น จากความสัมพันธ์อันดี และยังมีอีกหลายประเทศ หลายกลุ่ม ยังไม่พร้อมเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เช่น ชาวอเมริกัน และฝ่ายสัมพันธมิตรบางประเทศ 

            จากการจัดงานที่ผ่านมา ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเกี่ยวข้องกับการจัดงาน ส่งผลให้สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ได้ส่งมอบหมายให้เลขานุการเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย เดินทางมาร่วมงานครั้งแรกใน ปี 2564 (11/11/2564) และล่าสุดในวันที่ 30 ตุลาคม 2567 ดร. แองเจล่า แมคโดนัลด์ (Dr.Angela Macdonald PSM เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย พร้อมเลขานุการ ได้เดินทางมาทำพิธีวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์แห่งความดีจังหวัดอุบลราชธานี นับว่าให้ความสำคัญกับงานวันรำลึกแห่งความดีชาวอุบลราชธานี และพร้อมจะส่งเสริมสนับสนุนตามความเหมาะสมต่อไป 

             ……

  • ปัญญา แพงเหล่า/รายงาน

            16 พฤศจิกายน 2567

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ