หนังกบ “เมืองพิมูน” ความหลากหลายทางวัฒนธรรม อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี
- ปัญญา แพงเหล่า และ สุธิดา ตันเลิศ
จุดรวมกระแสวัฒนธรรม สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เขมร ล้านช้าง สยาม จีน และเวียดนาม พบเห็นได้ทั่วไปในอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี บทความนี้เรียกชื่อ “เมืองพิมูน” ยกเว้นจากเอกสารที่ใช้อ้างอิงในเนื้อหาจะคงไว้ตามต้นฉบับ กระแสวัฒนธรรมที่หลากหลายสะท้อนให้เห็นประวัติศาสตร์ของพื้นที่แห่งนี้ตามห้วงเวลาทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเชื่อมโยงวัฒนธรรมที่หลากหลายปราศจากพรมแดนเวลาที่เด่นชัดในวัฒนธรรมอาหารประจำถิ่น หรืออาหารพื้นเมือง “หนังกบ” คณะผู้เขียนแบ่งประเด็นที่จะกล่าวถึง เมืองพิมูนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมืองพิมูนยุควัฒนธรรมเขมร เมืองพิมูนยุคล้านช้าง เมืองพิมูนยุคสยาม หนังกบในพื้นที่ชาวจีนกับชาวเวียดนาม
เมืองพิมูนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ใน พ.ศ. 2563 สำนักงานโบราณคดีที่ 9 จังหวัดอุบลราชธานี ได้ลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลภาคสนาม บริเวณทุ่งนา ตำบลโพธิ์ศรี อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีอายุ 1,200-2,500 ปีที่ผ่านมาแล้วตรงกับยุคเหล็กสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ถึง สมัยประวัติศาสตร์ตอนต้นหรือสมัยก่อนเมืองพระนคร ช่วง พ.ศ. 67-1367 นางสาวเมริกา สงวนวงษ์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ, นางสาวสิริภา เจริญเขต ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ, นายกฤษณพงศ์ พูนสวัสดิ์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ และนางสาวณิชกุล วัฒนกุล ผู้ปฏิบัติงานด้านบันทึกข้อมูลทางโบราณคดี สำรวจและขุดค้นได้พบแหล่งที่อยู่อาศัยและที่ฝังศพ (สำนักงานโบราณคดีที่ 9 จังหวัดอุบลราชธานี, 2563) แบบแผนชีวิตสมัยก่อรประวัติศาสตร์ยุคเหล็กนั้น มนุษย์บางส่วนได้ตั้งถิ่นฐานอย่างถวาร หรือไม่โยกย้ายถิ่นตามฤดูกาล และเริ่มทำเกษตรกรรม วัฒนธรรมอาหารของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์นั้นบริโภคสัตว์ที่เคลื่อนไหวทั้งสัตว์น้ำ เช่น เต่า ตะพาบน้ำ ปลา เป็นต้นและสัตว์บก เช่น กะรอก สุนัข และกวาง เป็นต้น สัตว์เลื้อยคลานครึ่งบกและครึ่งน้ำเช่นกบจึงเป็นหนึ่งในอาหารที่ใช้ประทังชีวิต
เมืองพิมูนยุควัฒนธรรมเขมร เรื่องราวของวัฒนธรรมเขมรพบที่โบราณคดีสระแก้ว และโบราณคดีดอนขุมคำ ตรงกับสมัยก่อนเมืองพระนคร ตรงกับรัชกาลพระเจ้ามเหนทรวรมันแห่งอาณาจักรเจนละ พระองค์ครองราชย์ ช่วง พ.ศ. 1143-1159 พระนามเดิม ชื่อ “เจ้าจิตรเสน” (อภินันท์ สงเคราะห์และคณะ, 2558) หลักฐานโบราณคดีช่วยยืนยัน คนดั้งเดิมในพื้นที่เมืองพิมูน ได้แก่ กลุ่มคนที่พูดภาษาออสโตรเอเชียติก (ภาษามอญ-เขมร) และชนที่พูดภาษาออสโตรนีเซียน รายละเอียดที่น่าสนใจมีดังต่อไปนี้
โบราณคดีสระแก้ว ตั้งอยู่ในพื้นที่วัดสระแก้ว ตำบลพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี มีอายุช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-15 (พ.ศ.1200-1400) กรมศิลปากรขุดค้นและสำรวจ ใน พ.ศ. 2533
“โดยขุดค้นบริเวณแนวฐานอาคารพบแนวอิฐ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา เนื้อแกร่งไม่เคลือบทางน้ำดินสีเหลืองแดง ภาชนะดินเผาเคลือบ รูปทรงไหปากแคบคอสั้น เนื้อแกร่งดิน สีเหลืองนวล เคลือบขุ่นสีขาวนวลคล้ายไหจากแหล่งเตาบุรีรัมย์ แผ่นทองคำมีลายรูปกลีบดอกไม้ สามารถแปลความได้ว่า หลักฐานซากอาคารรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่พบจากการขุดตรวจประกอบกับ หลักฐานส่วนประกอบสถาปัตยกรรม ทำให้สันนิษฐานได้ว่า เดิมเป็นปราสาทก่ออิฐ กำหนดอายุจาก รูปแบบศิลปะในทับหลังอยู่ในช่วงราวกลางหรือปลายพุทธศตวรรษที่ 13” (กรมศิลปากร, 2533: 78-104 อ้างใน กังวล คัชชิมา, 2562: 146)
กังวล คัชชิมา (2562:146) สำรวจพื้นที่วัดสระแก้ว ปัจจุบันถูกไถปรับระดับให้ราบเรียบ กล่าวถึง
หลักฐานที่พบดังนี้ “- ทับหลังศิลปะไพรกเมง อายุพุทธศตวรรษที่ 13 - แผ่นหินคล้ายวงล้อทึบ ประติมากรรมรูปบุรุษ รูปสตรี และชิ้นส่วนประติมากรรมรูปหัวสัตว์ - ชิ้นส่วนธรณีประตู กรอบประตูหินทราย ประตูหลอก - ศิลาจารึกภาษาสันสกฤต อักษรขอมโบราณ (เลขที่ อบ.7) ปัจจุบันไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด”
กรมศิลปากร (2533:106-107 อ้างใน กังวล คัชชิมา, 2562:148-149) ขุดสำรวจพื้นที่โรงเรียนวัดบ้านสะพือใต้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีดอนขุมคำ
“เป็นเนินกว้าง 100 x 150 เมตร ด้านตะวันออกและด้านใต้มีคูน้ำ ตั้งอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำมูล ห่างจากแหล่งโบราณคดีศาลเจ้าปู่ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 1,300 เมตร แหล่งโบราณคดีดอนขุมคำได้มีการ ปรับแต่งพื้นที่สนามได้มีการพบของมีค่าบริเวณซากโบราณสถาน และแนวอิฐฐานอาคาร สันนิษฐานว่า น่าจะมีอายุการก่อสร้างอยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกับโบราณสถานศาลเจ้าปู่และวัดสระแก้ว หลักฐานที่พบ - อัฒจันทร์หินทราย กว้างประมาณ 130 เซนติเมตร ยาว 106 เซนติเมตร หนา 14 เซนติเมตร - เสากรอบประตู หินทรายรูปแปดเหลี่ยม เส้นผ่าศูนย์กลาง 13 เซนติเมตร - กรอบประตูหินทราย - ธรณีประตูหินทรายขนาดกว้างประมาณ 126 เซนติเมตร ยาว 104 เซนติเมตร หนา 20 เซนติเมตร - ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมหินทราย”
แหล่งโปราณคดีสะแก้วและดอนขุมคำตรงกับสมัยพระมเหนทรวรมันแห่งอาณาจักรเจนละ ซึ่งเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเขมร ชาวกัมพูชามีวัฒนธรรมอาหารที่เลืองชื่อรายการหนึ่ง คือ อั่วอึ่ง (Kangkep baob: Stuffed frogs) ซึ่งสำนักข่าว CNN ยกย่องให้เป็น 1 ใน 30 อาหารกัมพูชาที่ไม่ควรพลาด (Goldberg, December 19, 2019) เราพบรากวัฒนธรรมอาหารร่วมกันของเมืองพิมูนกับชาวกัมพูชาที่สามารถคิดค้นสูตรอาหารที่อร่อยจากกบและอึ่ง
ชาวพิมูนในปัจจุบันประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรมไม่ว่าเราจะสืบเชื้อสายมาจากคนกลุ่มใด อย่างน้อยที่สุด เราน้อมรับจิตวิญญาณของเจ้าของพื้นที่ดั้งเดิม ได้แก่ บรรพชนของชาวกัมพูชาได้หรือไม่ เราไม่ใช่คนที่สร้างโบราณคดีสระแก้วและโบราณคดีดอนคำ แต่ชาวเมืองพิมูนต้องรับภาระในการสืบสานวัฒนธรรมเขมรในพื้นที่บ้านของเรา เพื่อรังสรรการดำรงชีวิตแบบยั่งยืนบนรากฐานวัฒนธรรมที่มีชีวิต
เมืองพิมูนยุคล้านช้าง พื้นที่เมืองพิมูนเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมล้านช้างในกรณีศึกษา 3 ตัวอย่าง กรณีที่ 1 ตำนานอพยพลงใต้ของเจ้าไชยเชษฐาธิราช ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานว่าท่านได้เดินทางผ่านพื้นที่เมืองพิมูนหรือไม่ (หนูไช พมมะจันและคณะ, 2000: 212-213) กรณีที่ 2 ตำนานพระครูโพนสะเม็กที่อพยพลงใต้ พบหลักฐานช่องข้ามพรมแดนของราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐปประชาธิปไตยประชาชนลาวว่า “ช่องเม็ก” ซึ่งสัมพันธ์กันอย่างไรนั้นเป็นประเด็นที่ต้องค้นคว้าในลำดับถัดไป กรณีที่ 3 การตั้งถิ่นฐานของกลุ่มพระวอ-พระตา ช่วงปลายยุคธนบุรีถึงต้นรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เราไม่พบหลักฐานที่เอ่ยถึงพื้นที่เมืองพิมูนในสมัยนี้ (สุธิดา ตันเลิศ, 2566) คนร่วมวัฒนธรรมล้านช้างสองฝั่งของใช้กบเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารได้หลากหลาย แหล่งโปรตีนตามฤดูกาลในอาหารประเภทป่น ปิ้ง อ่อม แกงส้ม และปิ้งหนังกบ เป็นต้น
เมืองพิมูนยุคสยาม พื้นที่เมืองพิมูนเกี่ยวข้องกับสยาม 3 เหตุการณ์ด้วยกัน ได้แก่ เหตุการณ์ที่ 1 ฑ.ศ. 2334 สมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กลุ่มเจ้าเมืองอุบลกับโอรสเจ้าอนุวงศ์ปราบกบฏข่าอ้ายสาเชียงแก้วได้ที่แก่งตะนะ (เติม วิภาคย์พจนกิจ, 2546: 57) เหตุการณ์ที่ 2 ในพ.ศ.2406 เมื่อเจ้าเมืองอุบลคนที่ 3 ขอรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งชื่อเมืองใหม่ ขื่อ บ้านกว้างลำชะโด รัชกาลที่ 4 ทรงให้นามว่า “พิมูน” หมายถึงเมืองที่ตั้งอยู่ปลายน้ำมูน ให้สอดคล้องกับ “พิมาย” ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ต้นน้ำมูน พ.ศ.2453 ถูกลดเป็นอำเภอหนึ่งในเมืองอุบล ในพ.ศ.2482 เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอพิมูลมังษาหาร สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอพิบูลมังสาหารมาถึงปัจจุบัน (เติม วิภาคย์พจนกิจ, 2546: 109) เหตุการณ์ที่ 3 ช่วงพ.ศ.2406-2426 นักสำรวจชาวฝรั่งเศสเข้ามาสำรวจล้ำนำของและลำน้ำมูน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น ที่เราได้พบภาพวาดบรรดาแก่งต่าง ๆ ในลำน้ำมูนกับลำน้ำของ ตำนานเรื่องราวแก่งสะพือ จารึกโบราณ ขนบธรรมเนียมประเพณีของผู้คนจึงเริ่มปรากฎต่อหน้าสาธารณชน
หนังกบในพื้นที่ชาวจีนกับชาวเวียดนาม ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2482 สยามเปลี่ยนชื่อเป็นราชอาณาจักรไทย ชาวจีนและชาวเวียดนามบางส่วนที่อาศัยในพื้นที่ยุทธศาสตร์อาทิ เทศบาลอุบล วารินชำราบต้องอพยพมาอาศัยในพื้นที่เมืองพิมูนตั้งบ้านเรือนเลียบริมน้ำมูน ชาวจีนกับชาวเวียดนามอาจเข้ามาอาศัยในพื้นที่ก่อนเกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะเมืองพิมูนเป็นเมืองท่าลำเลียงสินค้าสู่ลำน้ำโขง ลงไปเมืองเขมราฐ มุกดาหาร นครพนม หรือเส้นทางบกไปยังจำปาศักดิ์
ชาวจีนกับชาวเวียดนามอาจเป็นพ่อค้าแม่ค้าที่พัฒนาอาหารพื้นเมืองหนังกบตากแห้งมาเป็นสินค้าพื้นเมืองให้กับเมืองพิมูนมังสาหาร เคียงคู่ซาลาเปา ปัจจุบัน ชาวพิมูนรู้แหล่งหนังกบตากแห้งนั้นมาจากบ้านสะพือใต้ในพื้นที่แหล่งโบราณคดีดอนคำ จุดเชื่อมของวัฒนธรรมอาหารเช่นกบสะท้อนให้เห็นว่าคนลุ่มน้ำโขงคุ้นชินการนำกบมาประกอบอาหารทั้งตัว มีข้อสังเกตว่า ชาวฝรั่งเศสนิยมบริโภคกบเช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่นิยมบริโภคขากบ ซึ่งเป็นอาหารจานโปรดของชาวฝรั่งเศสสืบทอดมาตั้งแต่ยุคกลางราวคริสต์ศตวรรษที่ 12 ปัจจุบันชาวฝรั่งเศสบริโภคขากบราวปีละ 80 ล้านคู่ต่อปี ชาวฝรั่งเศสบริโภคขากบโดยลอกหนังกบออก เพราะหนังกบบางชนิดมีพิษไม่ควรบริโภค (Denig, n.d.)
คณะผู้เขียนสันนิษฐานว่า พระบาทสมเด็จพระภูมิพลอดุลยเดชเสด็จประพาสแก่งสะพือเป็นจุดเปิดของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมให้กับแก่งสะพือและเมืองพิมูนมังสาหาร คนในตัวเมืองอุบลหรือเทศบางอุบลโดยสารเรือมาเที่ยวแก่งสะพือ นักท่องเที่ยวมหาชนกลุ่มนี้ลิ้มรสก๋วยจั๊บ หมูยอกับแม่ค้าพ่อค้าเร่ชาวเวียดนามที่นำสินค้ามาจำหน่ายบนเรือ ร้านรวงแถวแก่งสะพือขายอาหารก๋วยเตี๋ยว หน้าร้านมีหนังกบตากแห้งจำหน่ายด้วย ซึ่งถือเป็นเสน่ห์เมืองพิมูน
ความหลากหลายทางวัฒนธรรมใน “เมืองพิมูน” กับหนังกบถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมาของเมืองพิมูนตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ถึงปัจจุบัน หนังกบหรือหนังกบตากแห้งเป็นสินค้าพื้นเมืองที่เป็นอัตลักษณ์ให้กับเมืองพิมูนทั้งยังเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมอาหารของคนร่วมวัฒนธรรมล้านช้างสองฝั่งของ คนลุ่มน้ำของกับเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส เมื่อเมืองพิมูนมังสาหารถอดความได้ว่า เมืองปลายแม่น้ำมูนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยข้าวปลาอาหารกลับต้องมาอับเชาเพราะการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศจากการสร้างเขื่อนต่าง ๆ ณ ห้วงเวลานี้ ชาวพิมูนมีความพร้อมมากน้อยเพียงใดที่จะปลุกเมืองที่หลับไหลให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง
เอกสารอ้างอิง
ภาษาไทย
- กังวล คัชชิมา. (2562). รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ เรื่อง จารึกพระเจ้ามเหนทรวรมัน (The inscriptions
of king Mahendravarman). โครงการวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนสนันสนุนการวิจัย
นวัตกรรมและการสร้างสรรค์ของคณะโบราณคดี ประจำปี 2562. สืบค้นตุลาคม 21, 2567, จาก
https://archae.su.ac.th/wp-content/uploads/2022/08/รา%.pdf
- กรมศิลปากร. โบราณเขื่อนปากมูล. (2535). กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
เติม วิภาคย์พจนกิจ. (2546). พิมพ์ครั้งที่ 4. ประวัติศาสตร์อีสาน. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
- สำนักงานโบราณคดี 9 อุบลราชธานี, กรมศิลปากร, กระทรวงวัฒนธรรม. (2563). แหล่งโบราณคดีโนนนาใน. สืบค้นตุลาคม 21, 2567, จาก https://finearts.go.th/fad9/view/35004-แหล่งโบราณคดีโนนนาใน.
- สุธิดา ตันเลิศ. (2566). โครงการวิจัยพระวอพระตาในเอกสารประวัติศาสตร๋ลาว. ทุนวิจัยคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี งบประมาณพ.ศ.2567. (เอกสารไม่ตีพิมพ์)
- อภินันท์ สงเคราะห์และคณะ. (2558). จารึกพระเจ้ามเหนทรวรมัน: ภาพสะท้อนประวัติศาสตร์ สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 7 (มรดกความทรงจำแห่งอุบลราชธานี): เอกสารลำดับที่ 56.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
ภาษาลาว
หนูไช พมมะจันและคณะ.(2000). ประวัติศาสตร์ลาวตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพถึงปัจจุบัน. นครหลวงเวียงจันทน์:
โรงพิมพ์แห่งรัฐ
ภาษาอังกฤษ
Denig, Vicki.(n.d.). Taste France magazine: What’s the Deal with Frogs’ Legs? Retrieved
October 21,2024, from https://www.tastefrance.com/magazine/french-pantry/whats- deal-frogs-legs
Goldberg, Lina. (December 19,2024). 30 Cambodian Foods every visitor needs to try.
Retrieved October 21, 2024, from https://edition.cnn.com/travel/article/top cambodia-foods- intl-hnk/index.html