เริ่มต้นปีงบฯ “ศุลกากร” เร่งปราบสินค้าผิดกฎหมายทุกภูมิภาค มูลค่ากว่า 35.96 ล้านบาท

   เมื่อ : 15 ต.ค. 2567

กรมศุลกากรกำชับเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังการลักลอบนำเข้ามาในและส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งสินค้าตามนโยบายของรัฐบาลในทุกช่องทาง รวมถึงสินค้าที่มีการลักลอบหนีศุลกากรอื่นๆ โดยในระหว่างวันที่ 1 – 10 ตุลาคม 2567 กรมศุลกากรได้เร่งปฏิบัติการปราบปรามสินค้าผิดกฎหมาย

            12 ตุลาคม 2567 นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้ายาเสพติดให้หมดไปจากประเทศ รวมถึงการเร่งป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้า ส่งออก นำผ่าน และจำหน่าย ยาเสพติด บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงสินค้าราคาต่ำ สินค้าไม่มีคุณภาพและไม่ได้มาตรฐาน 

            ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้กรมศุลกากร เข้มงวดกวดขันเรื่องดังกล่าว โดยนายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากรได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังการลักลอบนำเข้ามาในและส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งสินค้าตามนโยบายของรัฐบาลในทุกช่องทาง รวมถึงสินค้าที่มีการลักลอบหนีศุลกากรอื่นๆ เช่น วัตถุลามก น้ำมันดีเซล และสัตว์มีชีวิตที่อยู่ภายใต้อนุสัญญาไซเตส (CITES) อีกด้วย

            โดยในระหว่างวันที่ 1 – 10 ตุลาคม 2567 กรมศุลกากรได้เร่งปฏิบัติการปราบปรามสินค้าผิดกฎหมาย โดยมีผลงานการจับกุมที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้

 1. ยาเสพติด

1.1 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม ได้ทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงในการลักลอบส่งของต้องห้ามต้องกำกัดออกนอกราชอาณาจักร ณ ศูนย์ไปรษณีย์สุวรรณภูมิ พบพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศต้องสงสัย ปลายทางประเทศออสเตรเลีย สำแดงชนิดสินค้าเป็น “SNACK” ตรวจสอบพบยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ไอซ์ (Methamphetamine) ห่อหุ้มด้วยฟอยล์สีเงินซุกซ่อนภายในซองลูกอมอัลมอนด์เคลือบรสช็อกโกแลต น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้มประมาณ 530 กรัม มูลค่า 159,000 บาท

กรณีนี้เป็นความผิดในการพยายามส่งยาเสพติดให้โทษ ออกนอกราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 242 และ 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และประมวลกฎหมายยาเสพติด

1.2 เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2567 กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม ได้ทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงในการลักลอบส่งของต้องห้ามต้องกำกัดออกนอกราชอาณาจักร ณ ศูนย์ไปรษณีย์สุวรรณภูมิ พบพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศต้องสงสัย ปลายทางประเทศออสเตรเลีย สำแดงชนิดสินค้าเป็น “Pack of Paper for Prayer” ตรวจสอบพบยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เฮโรอีน (Heroin) ลักษณะเป็นผงสีขาวขุ่นซุกซ่อนอยู่ภายในป้ายมงคลภาษาจีนแบบแขวน น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้มประมาณ 350 กรัม มูลค่า 105,000 บาท

กรณีนี้เป็นความผิดในการพยายามส่งยาเสพติดให้โทษ ออกนอกราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 242 และ 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และประมวลกฎหมายยาเสพติด

1.3 เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรหนองคาย ได้ทำการตรวจรถยนต์และสิ่งของที่มากับรถยนต์ที่จะเข้ามาในราชอาณาจักร พบสิ่งของต้องสงสัยบรรจุในกระเป๋าสัมภาระ จึงนำมาทดสอบด้วยน้ำยา (ONCB 051) Marquis Test พบยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ยาอี (Ecstasy) น้ำหนักรวม 3 กิโลกรัม มูลค่า 19,000,000 บาท

กรณีนี้เป็นความผิดในการพยายามนำยาเสพติดให้โทษ เข้ามาในราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 242 และ 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และประมวลกฎหมายยาเสพติด

1.4 เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2567 กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม ได้ทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงในการลักลอบส่งของต้องห้ามต้องกำกัดออกนอกราชอาณาจักร ณ ศูนย์ไปรษณีย์สุวรรณภูมิ พบพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศต้องสงสัย ปลายทางประเทศนอร์เวย์ สำแดงชนิดสินค้าเป็น “Seaweed Porksticks Squid snack Bento Fish frame 30” ตรวจสอบพบยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ยาบ้า จำนวน 350 เม็ด และยาไอซ์ (Methamphetamine) น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้มประมาณ 60 กรัม ซุกซ่อนอยู่ภายในถุงเมล็ดทานตะวัน และถุงถั่วลิสง มูลค่า 53,000 บาท

            ในวันเดียวกัน กองสืบสวนและปราบปรามได้ทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงในการลักลอบส่งของต้องห้ามต้องกำกัดออกนอกราชอาณาจักร ณ ศูนย์ไปรษณีย์สุวรรณภูมิ พบพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศต้องสงสัยปลายทางประเทศออสเตรเลีย สำแดงชนิดสินค้าเป็น “Snack” ตรวจสอบพบยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ไอซ์ (Methamphetamine) ห่อหุ้มด้วยฟอยล์สีเงิน ซุกซ่อนภายในซองขนมลูกอมอัลมอนด์เคลือบรสช็อกโกแลต น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้มประมาณ 520 กรัม มูลค่า 156,000 บาท

            ทั้ง 2 กรณี เป็นความผิดในการพยายามส่งยาเสพติดให้โทษ ออกนอกราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 242 และ 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และประมวลกฎหมายยาเสพติด

1.5 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2567 กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรกรุงเทพ ร่วมกับกองสืบสวนและปราบปราม ชุดปฏิบัติการ AITF และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้ทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงในการลักลอบส่งของต้องห้ามต้องกำกัดเข้ามาในราชอาณาจักร พบพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศต้องสงสัย ต้นทางประเทศเบลเยียม เบื้องต้นพบความผิดปกติจากภาพ X – RAY ตรวจสอบพบยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ยาอี (Ecstasy) ลักษณะเป็นเม็ดสีชมพู จำนวน 1,000 เม็ด น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 586 กรัม และวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 เคตามีน (Ketamine) ลักษณะเป็นผงสีขาว น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 262 กรัม รวมมูลค่า 862,000 บาท

กรณีนี้เป็นความผิดในการพยายามนำยาเสพติดให้โทษเข้ามาในราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 244 และ 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และประมวลกฎหมายยาเสพติด

1.6 เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2567 กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ดำเนินการตรวจสอบใบขนสินค้าขาออก ปลายทางประเทศฝรั่งเศส สำแดงสินค้าเป็นถุงมือยาง เบื้องต้นพบความผิดปกติจากภาพ X – RAY จึงทำการตรวจสอบพบช่อดอกกัญชา ซุกซ่อนในถุงมือยางเก่าใช้แล้ว จำนวน 162 ห่อ น้ำหนักรวม 51.50 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 1,545,000 บาท

กรณีนี้เป็นความผิดในการพยายามส่งของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรออกไปนอกราชอาณาจักร โดยสำแดงชนิดของ ปริมาณ น้ำหนักและประเภทพิกัดเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัด อันเป็นความผิดฐานสำแดงข้อมูลไม่ถูกต้อง หลีกเลี่ยงข้อจำกัดตามมาตรา 202  208 และมาตรา 244 ประกอบมาตรา 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542

1.7 เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม ได้ทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงในการลักลอบส่งของต้องห้ามต้องกำกัดออกนอกราชอาณาจักร ณ ศูนย์ไปรษณีย์สุวรรณภูมิ พบพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ปลายทางประเทศเกาหลีใต้ สำแดงชนิดสินค้าเป็น “Dried Fruit” ตรวจสอบพบยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ยาบ้า (Methamphetamine) บรรจุในถุงพลาสติกใสห่อหุ้มด้วยฟอยล์สีเงิน ซุกซ่อนภายในถุงมะม่วงอบแห้ง จำนวน 48,071 เม็ด มูลค่า 1,442,130 บาท

กรณีนี้เป็นความผิดในการพยายามส่งยาเสพติดให้โทษ ออกนอกราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 242 และ 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และประมวลกฎหมายยาเสพติด

1.8 เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ดำเนินการตรวจสอบสินค้าขาออกต้องสงสัย พบสินค้าเป็นช่อดอกกัญชา 2 รายการ โดยรายการแรกเป็นสินค้าขาออก ปลายทางประเทศสหราชอาณาจักร (GB) สำแดงสินค้าเป็น เสื้อเซฟตี้สะท้อนแสง ตรวจพบเป็นช่อดอกกัญชาบรรจุอยู่ในถุงพลาสติกใส ซุกซ่อนปะปนมากับเสื้อเซฟตี้ จำนวน 198 ห่อ น้ำหนักรวม 109 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 3,270,000 บาท สำหรับรายการที่ 2 เป็นสินค้าขาออก ปลายทางประเทศสหราชอาณาจักร (GB) สำแดงสินค้าเป็น DOS FLOOR STANDING โดยตรวจพบเป็นช่อดอกกัญชาบรรจุอยู่ในถุงพลาสติกใส ซุกซ่อนอยู่ในถังดักไขมัน จำนวน 20 ห่อ น้ำหนักรวม 12 กิโลกรัม มูลค่า 360,000 บาท

            ต่อมาในวันที่ 10 ตุลาคม 2567 ได้รับแจ้งจากบริษัทขนส่งว่า มีของต้องสงสัยจะทำการส่งออกไปประเทศสหราชอาณาจักร (GB) ตามใบคำร้องขอส่งของเร่งด่วนออกโดยรีบด่วน สำแดงชนิดสินค้าเป็น DOS FLOOR STANDING น้ำหนัก 109 กิโลกรัม ผลการตรวจพบสินค้าเป็นช่อดอกของพืชสกุลกัญชา (Cannabis spp.) บรรจุอยู่ในถุงพลาสติกใสจำนวน 57 ถุง น้ำหนักรวมทั้งหมด 32 กิโลกรัม มูลค่า 960,000 บาท เนื่องจากช่อดอกกัญชา จัดเป็นสมุนไพรควบคุม และผู้ใดประสงค์จะส่งออกจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับใบอนุญาต ซึ่งในขณะตรวจค้นผู้ส่งของออกไม่มีใบอนุญาตดังกล่าวมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ฯ

กรณีนี้เป็นความผิดฐานสำแดงข้อมูลไม่ถูกต้อง ปฏิบัติพิธีการไม่ถูกต้อง และส่งออกของที่กำลังผ่านพิธีการศุลกากรออกไปนอกราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อจำกัดอันเกี่ยวกับของนั้น อันเป็นความผิดตามมาตรา 202 208 244 และมาตรา 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 และพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542

            เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2567 กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรภาคที่ 2 ร่วมกับกองสืบสวนและปราบปราม และด่านศุลกากรมุกดาหาร ได้ขอหมายค้นเข้าตรวจสอบสินค้าบริษัทฯ แห่งหนึ่ง เนื่องจากได้รับการข่าวว่ามีสินค้าที่พยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากรและหลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อจำกัด เมื่อตรวจสอบพบ ส่วนประกอบเครื่องบุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 3,000 ชิ้น น้ำหนักรวม 96 กิโลกรัม มูลค่า 100,000 บาท

กรณีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 202 243 244 252 ประกอบมาตรา 166 และ 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

            2.2 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2567 กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ได้ขอหมายค้นเข้าตรวจสอบร้านค้าในถนนพัทยาใต้ ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เนื่องจากได้รับการข่าวว่ามีการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า เมื่อเข้าตรวจสอบพบ เครื่องบุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 10 ชิ้น บุหรี่ไฟฟ้าใช้แล้วทิ้ง จำนวน 250 ชิ้น หัวพ็อตบุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 250 ชิ้น น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ขนาด 30 ml จำนวน 14 ชิ้น รวมจำนวน 524 ชิ้น มูลค่า 67,920 บาท

กรณีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 242 244 245 246 247 และมาตรา 252 ประกอบมาตรา 166 และ 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

3. บุหรี่ต่างประเทศ

3.1 เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2567 กรมศุลกากร โดยด่านศุลกากรกันตัง ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานศุลกากรภาคที่ 5 ได้ขอหมายค้นเข้าตรวจสอบร้านค้าในพื้นที่ ตำบลกันตัง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เนื่องจากได้รับเบาะแสว่ามีการจำหน่ายบุหรี่ต่างประเทศ ที่ยังไม่ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง เมื่อเข้าตรวจสอบพบสินค้าประเภทบุหรี่ จำนวน 34,360 มวน มูลค่า 199,775 บาท ซึ่งของดังกล่าวมีเมืองกำเนิดต่างประเทศ และไม่พบเอกสารหรือหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง จึงทำการอายัดไว้เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย

กรณีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 246 ประกอบมาตรา 166 และ 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

3.2 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2567 กรมศุลกากร โดยด่านศุลกากรจันทบุรี ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานศุลกากรภาคที่ 1 ได้เข้าตรวจสอบพัสดุภัณฑ์ ณ ที่ทำการบริษัทไปรษณีย์ไทย สาขาโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี เนื่องจากได้รับแจ้งว่ามีของที่ยังไม่ได้เสียภาษีอากร ของต้องห้าม – ต้องกำกัด หรือของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง ขนส่งมายัง ณ ที่ทำการของบริษัทฯ จึงร่วมกับเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ไทยโป่งน้ำร้อน และเจ้าหน้าที่สรรพสามิตพื้นที่จันทบุรีเข้าตรวจสอบ ผลการตรวจสอบพบบุหรี่ต่างประเทศ จำนวน 370,600 มวน มูลค่า 2,000,000 บาท ซึ่งของดังกล่าวมีเมืองกำเนิดต่างประเทศ และไม่พบเอกสารหรือหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง จึงทำการอายัดไว้เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย

กรณีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 242 มาตรา 246 ประกอบมาตรา 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

3.3 เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 กรมศุลกากร โดยด่านศุลกากรชุมพร ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานศุลกากรภาคที่ 1 ได้ปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดทางศุลกากร ณ จุดตรวจศุลกากรปฐมพร พบรถบรรทุกต้องสงสัยว่าอาจมีของที่ยังไม่ผ่านพิธีการทางศุลกากร จึงเข้าตรวจสอบ พบบุหรี่ต่างประเทศ จำนวน 21,000 มวน มูลค่า 87,000 บาท ซึ่งของดังกล่าวมีเมืองกำเนิดต่างประเทศ และไม่พบเอกสารหรือหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง จึงทำการอายัดไว้เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย

กรณีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 242 244 246 ประกอบมาตรา 166 และ 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

4. สินค้าไม่มีหนังสือรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) และสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม ได้ขอหมายค้นเพื่อเข้าตรวจสอบโกดังเก็บสินค้าในพื้นที่อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เนื่องจากได้รับแจ้งว่า มีการเก็บสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรมไว้เป็นจำนวนมาก เมื่อเข้าตรวจสอบ พบสินค้าที่ไม่มีหนังสือรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) และสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา อาทิ ตรวจพบสินค้าประเภทกระเป๋าเดินทาง ทาร์ปกันแดด เต็นท์ เก้าอี้พับ พัดลมไอเย็น และอื่น ๆ จำนวนกว่า 13,000 ชิ้น มูลค่า 5,000,000 บาท ทั้งนี้ สินค้าทั้งหมดมีเมืองกำเนิดต่างประเทศ และเบื้องต้นไม่พบเอกสารหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง

กรณีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 242 และ 246 ประกอบมาตรา 166 และ 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

5. น้ำมันดีเซล

            เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2567 กรมศุลกากร โดยด่านศุลกากรสงขลา ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานศุลกากรภาคที่ 4 ได้ทำการตรวจค้นรถยนต์ต้องสงสัย ในพื้นที่ตำบลควนรู อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา พบน้ำมันดีเซล จำนวน 4,000 ลิตร มูลค่า 100,000 บาท มีเมืองกำเนิดต่างประเทศ และไม่พบเอกสารหรือหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง

กรณีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 242 246 ประกอบมาตรา 166 และ 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560

6. วัตถุลามก (Sex toy)

            เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2567 กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรภาคที่ 2 ร่วมกับกองสืบสวนและปราบปราม และด่านศุลกากรนครพนม ได้ขอหมายค้นเข้าตรวจสอบบริษัท ตามใบขนสินค้าขาเข้า เนื่องจากได้รับเบาะแสว่ามีสินค้าพยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากรและหลีกเลี่ยงข้อจำกัด ตรวจพบ อวัยวะเทียมเพศชาย (Sex toy) จำนวน 229 ชิ้น น้ำหนัก 48 กิโลกรัม และอวัยวะเทียมเพศหญิง (Sex toy) จำนวน 94 ชิ้น น้ำหนัก 90 กิโลกรัม รวมมูลค่า 160,000 บาท

            ในวันเดียวกัน สำนักงานศุลกากรภาคที่ 2 ร่วมกับกองสืบสวนและปราบปราม และด่านศุลกากรมุกดาหาร ได้ขอหมายค้นเข้าตรวจสอบบริษัท ตามใบขนสินค้าขาเข้า เนื่องจากได้รับเบาะแสว่ามีสินค้าพยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากรและหลีกเลี่ยงข้อจำกัด ตรวจพบ อวัยวะเทียมเพศชาย (Sex toy) จำนวน 115 ชิ้น น้ำหนัก 23 กิโลกรัม และวัตถุลามก (Sex toy) ทำด้วยยาง จำนวน 245 ชิ้น น้ำหนัก 33 กิโลกรัม รวมมูลค่า 300,000 บาท

กรณีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 202  243 244 และ 252 ประกอบมาตรา 166 และ 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

7. สัตว์มีชีวิตที่อยู่ภายใต้อนุสัญญาไซเตส (CITES)

            เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2567 สำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ตรวจสอบภาพเอกซเรย์กระเป๋าสัมภาระที่ต้องสงสัยว่าจะมีการลักลอบขนสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายของผู้โดยสารชาย สัญชาติเกาหลี อายุ 36 ปี กำลังจะออกเดินทางจากประเทศไทยและจะเดินทางไปยังกรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ผลการตรวจค้นพบ สิ่งมีชีวิตประเภทเต่า จำนวน 3 ตัว ถูกพันด้วยเทปใสซุกซ่อนอยู่ในกางเกงชั้นใน มูลค่า 30,000 บาท

กรณีนี้เป็นความผิดฐานพยายามส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ตามมาตรา 242 ประกอบมาตรา 166 และ 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 พยายามส่งออกสัตว์ป่าควบคุมออกไปนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 23 วรรคแรก และมาตรา 112 ซึ่งอยู่ในบทเฉพาะกาล ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพยายามส่งออกออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558