สายสัมพันธ์การศึกษาสู่อาเซียน อุบลราชธานี - พนมเปญ 2557-2567
ย้อนความสัมพันธ์ด้านการศึกษาระหว่างประเทศ ช่วงเตรียมตัวสู่ประชาคมอาเซียนซึ่งหน่วยงานทางการศึกษาในประเทศไทย มีความพร้อมและสร้างเครือข่ายพัฒนาผู้เรียน โดยการศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยน และรับฟังแนวคิดจากกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งเป็นอีกวิธีการสำคัญในทางปฏิบัติ ดังนี้
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 29 (อุบลราชธานี – อำนาจเจริญ) ร่วมกับสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพบริหารการศึกษาในสังกัด จำนวน 87 คน จัดประชุมสัญจร และศึกษาดูงานด้านการศึกษาที่ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา ระหว่างวันที่ 14 - 16 สิงหาคม 2557 โดยมีนายประวิทย์ หลักบุญ ผอ.สพม.29, นายวีระพล เวชพันธ์ ประธาน อ.ก.ค.ศ.สพม.29, นายบัญญัติ อุทธา ประธาน อ.ก.ค.ศ.สพป.อบ 2, นายพิสิฐ รวยทรัพย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ อ.ก.ค.ศ. สพม.29 พร้อมด้วย นายประชา สิทธิโชค, นายวลงกรณ์ บุญเต็ม, นางศิริยนต์ ถาวร, ดร.มัธยม เรืองแสน, นายสำเนียง คำโฮม, ผอ.กลุ่มนโยบายและแผน, นางวนิดา ทองพิทักษ์ ผอ.กลุ่มการเงินและสินทรัพย์, นายสรเดช ชายผา หน.งานนิติการ, นายปัญญา แพงเหล่า ผอ.กลุ่มอำนวยการ, นายบรรทม เครือวัลย์ ศึกษานิเทศสพม.29, นางสาวพรทิพย์ น้อยแก้ว, นางสาวสุภาวดี สมบัติ, นางสุวรรณา แสงเพ็ชร และผู้เกี่ยวข้อง รวม 87 คน ได้ดำเนินการประชุมสัมมนา และศึกษาดูงาน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการจัดการศึกษาสู่ประชาคมอาเซียน
ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ ความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กระบวนการพัฒนาศักยภาพเยาวชน บนพื้นฐานค่านิยม ประเพณี และวัฒนธรรมในประเทศราชอาณาจักรกัมพูชาและประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความตระหนักและสนับสนุนการสร้างเครือข่ายเด็กและเยาวชนในประชาคม ASEAN (ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม) ตลอดจนการสื่อสารให้เกิดความเข้าใจและชัดเจน เพื่อให้มีความเข้มแข็ง ในการมีส่วนร่วมแบ่งปันความคิดและมีเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งการขยายเครือข่ายองค์กรเด็ก และเยาวชนและผู้นำเยาวชนระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน ให้เกิดความเชื่อมโยง และการเปลี่ยนแปลงกระบวนการพัฒนาเด็ก และเยาวชนในอนาคต เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเรียนรู้สามารถยกระดับการคิด วิเคราะห์ และเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและเยาวชน ทั้งด้านการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นร่วมกัน
ในการศึกษาดูงานครั้งนี้ นอกจากการดำเนินการตามนโยบายขับเคลื่อนงานการศึกษาสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 29 ยังได้สร้างเครือข่ายการประสานงานและเตรียมความพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่การเรียนรู้ในอาเซียน โดยเน้นไปที่การพัฒนาครูทั้งระบบ การส่งเสริมสนับสนุนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ ภาษาอังกฤษ และภาษาเพื่อนบ้าน คือ ภาษาลาว ภาษาเวียดนาม ภาษากัมพูชา ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ มีอาณาเขตติดต่อแนวชายแดน 2 ประเทศ มีโรงเรียนแกนนำรับผิดชอบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่หลากหลาย ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน และเตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนอย่างแท้จริง.
………
- ปัญญา แพงเหล่า/รายงาน
1 กุมภาพันธ์ 2567