ปปช.อุบลราชธานี แถลงผลงานปราบทุจริต ปี 2567

   เมื่อ : 18 ก.ย. 2567

            17 กันยายน 2567 นายศรัทธา กอบกุลบุญศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จังหวัดอุบลราชธานี (ปปช.อบ.) พร้อมคณะจัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน และถ่ายทอดสดในเครือข่าย ณ ห้องประชุมสำนักงาน ปปช. จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อแถลงผลการดำเนินงานในรอบปี 2567 ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

 

          @ งานปราบปรามการทุจริต การไต่สวนข้อเท็จจริง มีการดำเนินการเสร็จแล้ว 25 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ 113 เรื่อง และทำการสอบสวนเบื้องต้น ดำเนินการเสร็จแล้ว 123 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ 133 เรื่อง (ข้อมูล 13 กันยายน 2567) โดยคณะกรรมการ ปปช.มีมติชี้มูล 2 เรื่อง คือ 

            1. กรณีกล่าวหา นายกเทศมนตรีตำบลนาจะหลวย (ขณะนั้น) และผู้เกี่ยวข้อง กรณีขอปรับปรุงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานปลัด จากระดับ 7 เป็นระดับ 8 โดยมิชอบ และการกระทำดังกล่าว มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และตาม พรบ. เทศบาล พ.ศ.2496 และแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 73 และมีความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงอีกด้วย

            2. กรณีกล่าวหา ผู้อำนวยการโรงเรียนโขงเจียมวิทยาคม (ขณะนั้น) กับพวกรวม 9 คน กรณีร่วมกันทุจริตเบิกจ่ายเงินเพื่อใช้จ่ายในโครงการทัศนศึกษาดูงาน ตามแผนปฏิบัติการประจำปี 2559 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติ มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้น ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสาร ร่วมกันกระทำการรับรองเป็นหลักฐานว่าตน ได้กระทำการอย่างใดขึ้นหรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จ และรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 มาตรา 157 มาตรา 162 (1) และ (4) ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือ ใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริตตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) และมีมูลเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยจงใจ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการและหน่วยงานการศึกษามติคณะรัฐมนตรีหรือนโยบายของรัฐบาล ประมาทเลินเล่อ หรือขาดการเอาใจใส่ระมัดระวังรักษาประโยชน์ของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 84 วรรคสาม และมาตรา 85 วรรคสอง 

          @ ภารกิจป้องกันการทุจริต ประเด็นการต่อต้านการทุจริต และประพฤติมิชอบ เป้าหมายที่ 1 ประกอบด้วย 

  • ตัวชี้วัดที่ 1.1  ร้อยละของเด็กและเยาวชนไทย  มีพฤติกรรมที่ยึดมั่นความซื่อสัตย์สุจริต ร้อยละ 96.70 ( เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.90)
  • ตัวชี้วัดที่ 1.2 ร้อยละของประชาชนมีวัฒนธรรมค่านิยมสุจริต มีทัศนคติและพฤติกรรมต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ร้อยละ 96.30 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.40)
  • ตัวชี้วัดที่ 1.3 ร้อยละของหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์การประเมิน ITA  ร้อยละ 79.58 (ผ่าน191 จาก240 หน่วยงาน) (เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.33)

            ส่วนภารกิจการตรวจสอบทรัพย์สิน รายละเอียดดังนี้

@ รับบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีตรวจสอบปกติ 225 บัญชี กรณีตรวจสอบยืนยัน 32 ราย 36 บัญชี และกรณีตรวจสอบเชิงลึก 8 ราย 8 บัญชี และการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) กรณีตรวจสอบปกติ 686 บัญชี กรณีตรวจสอบยืนยัน 33 ราย 37 บัญชี กรณีตรวจสอบเชิงลึก 4 ราย 4 บัญชี

            คณะกรรมการ ปปช. พิจารณาบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) กรณีตรวจสอบปกติ 550 บัญชี กรณีตรวจสอบยืนยัน 16 ราย 20 บัญชี กรณีตรวจสอบเชิงลึก 3 ราย 5 บัญชี  กรณีจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ 3 ราย 3 บัญชี กรณีไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและเอกสารประกอบ 2 ราย กรณีจงใจยื่นและข้อมูลฯเป็นเท็จฯปกปิดข้อเท็จจริง 1 ราย 1 บัญชี 

            สำหรับบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ กรณีตรวจสอบปกติ 43 บัญชี กรณีตรวจสอบ 21 ราย 25 บัญชี กรณีตรวจสอบเชิงลึก 3 ราย 3 บัญชี 

            นอกจากการแถลงผลงานดังกล่าวแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ผู้รับฟังการแถลงข่าว และตอบคำถามสื่อมวลชน ซึ่งมีหลายประเด็น ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการบริหารงานราชการ และเจ้าหน้าที่ถูกผู้บังคับบัญชา พากระทำเสี่ยงต่อการกระทำผิดหรือทุจริตต่อหน้าที่ ทางสำนักงาน ปปช.ประจำจังหวัดอุบลราชธานี มีความยินดีและมีจ้อแนะนำ เกี่ยวกับระเบียบการต่างๆ สามารถติดต่อสอบถามและขอคำปรึกษาได้ในวันและเวลาราชการ หรือ จะโทรศัพท์ประสานได้ที่

  • กลุ่มงานปราบปรามการทุจริต โทร.045-242747
  • กลุ่มงานป้องกันการทุจริต โทร. 045-242747 
  • กลุ่มงานตรวจสอบทรัพย์สิน โทร.045-242748

          ทั้งนี้ มติการชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ปปช.ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด.

             ………..

  • ปัญญา แพงเหล่า/รายงาน

            17 กันยายน 2567