ซูสีไทเฮา: พญาหงส์ผู้(ต้อง)อยู่เหนือมังกร กรณีศึกษาอันทรงคุณค่าของ “อำนาจ” จากประวัติศาสตร์จีน

   เมื่อ : 30 ก.ย. 2566

          ประวัติศาสตร์แต่ละหน้า แต่ละมุมมองนั้นแตกต่าง จะดีจะร้าย จะให้โทษหรือจะให้คุณ นั่นก็ขึ้นอยู่กับว่า ใครคือผู้มีโอกาสได้เป็นผู้เขียนหรือบันทึก ด้วยเหตุนี้เราจึงมักจะพบว่า บันทึกประวัติศาสตร์บุคคลสำคัญของแต่ละผู้นำเสนอ จึงมักจะถ่ายทอดออกมาถึงโครงสร้างและรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป

          “ซูสีไทเฮา” อาจจะถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์จีนจากมุมมองของผู้มีหัวอนุรักษ์นิยมว่า คือจักรพรรดินีที่ยิ่งใหญ่ ปกครองและปกป้องบัลลังก์ โดยอยู่เบื้องหลังฮ่องเต้สามพระองค์อยู่นานร่วม 48 ปี แม้จะเป็นช่วงสุดท้ายก่อนการอำลาหรือปิดฉากราชวงศ์จีนก็ตาม แต่ภายใต้แรงกดดันและภาวะวิกฤตรอบด้านตลอดช่วงที่พระนางครองอำนาจอยู่ จึงน่าจะกล่าวได้ว่า “ซูสีไทเฮา” คือสตรีแกร่งที่อยู่เหนือระดับความธรรมดาไปได้โดยดุษฎี

          หากแต่ในอีกมุมมองหนึ่ง ต่างวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่า “ซูสีไทเฮา” คือ ผู้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ เผด็จการ วิตกจริตเสียจนต้องสั่งกำจัดทุกคนที่เป็นขวากหนามหรือคุกคามอำนาจของพระนางแทน “ฮ่องเต้” ที่ล้วนแล้วแต่ตกอยู่ในสถานภาพ ไม่อ่อนด้วยวัยก็อ่อนด้วยประสบการณ์(ตามความคิดของพระนาง) เกินกว่าจะลุกขึ้นมาว่าราชการแผ่นดินได้ด้วยตัวเอง ทั้งนี้รวมไปจนถึงพฤติกรรมและแนวคิดแบบเก่าๆ ของ “ซูสีไทเฮา” ที่เต็มไปด้วยความเป็นอนุรักษ์นิยมค่อนข้างจะสุดขอบ จนเป็นมูลเหตุสำคัญให้เกิดการปิดกั้น “พระราชวังต้องห้าม” ออกจากโลกภายนอก และนำมาซึ่งการล่มสลายของระบอบราชาธิปไตยในประเทศจีนโดยสิ้นเชิง

          ประวัติความเป็นมาของ “ซูสีไทเฮา” ในช่วงต้นก่อนการเข้าสู่ “พระราชวังต้องห้าม” นั้น ค่อนข้างจะคลุมเครือ แต่ก็สามารถสรุปตามหลักฐานของนักประวัติศาสตร์จีนที่ค้นพบได้โดยสังเขปว่า “หลันเอ๋อร์” คือพระนามเดิมของพระนาง มีต้นสกุลคือ “เย่เฮ่อน่าลา” โดยพระราชบิดาเป็นข้าราชการแมนจูระดับล่างชื่อ “หุ้ยเจิง” มีพระราชมารดาชื่อ “ฟู่ฉา” ส่วนถิ่นฐานบ้านเกิดนั้นไม่สามารถระบุชัดเจนได้ แต่จากการประมวลงานบันทึกหรือข้อเขียนที่อ้างอิงต่างๆ สรุปได้ว่า “ซูสีไทเฮา” ทรงเคยใช้ชีวิตในวัยเยาว์ที่มณฑลอันฮุย ก่อนที่จะย้ายไปอยู่กรุงปักกิ่ง และมีโอกาสถวายตัวแก่ราชสำนักเป็นพระสนมของ สมเด็จพระจักรพรรดิเสียนเฟิง จนไต่เต้าเป็น “พระมเหสีชั้น 5” และขยับฐานะเป็น “พระมเหสีชั้น 4” ทันทีเมื่อพระนางได้ทรงประสูติกาลพระโอรส “ไจ้ฉุน” และเนื่องจากพระโอรสองค์นี้เป็นเพียงหนึ่งเดียวของพระรัชทายาท “ซูสีไทเฮา” จึงได้รับการแต่งตั้งอีกครั้งเป็น “พระมเหสีชั้น 2” ซึ่งจะเป็นรองแค่เพียงสมเด็จพระอัครมเหสีเจิน พระมเหสีชั้น 1 หรือที่คนไทยเรารู้จักกันในพระนาม “ซูอันไทเฮา”

          ปฐมบทการก้าวขึ้นสู่อำนาจของ “ซูสีไทเฮา” เริ่มขึ้นเมื่อ สมเด็จพระจักรพรรดิเสียนเฟิง เกิดภาวะซึมเศร้าและทิวงคตด้วยโรคสมองเสื่อม (dementia) ขณะพระชนมายุได้เพียง 30 พรรษา อันมีสาเหตุมาจากการเสด็จลี้ภัยจากกรุงปักกิ่งไปประทับยังพระราชวังที่เมืองเฉิงเต๋อ เนื่องจากถูกกองทหารผสมของสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสเข้าโจมตีกรุงปักกิ่ง โดยยึดและเผาทำลายหมู่พระราชวังจนย่อยยับด้วยเหตุแห่งสงครามฝิ่นในยุคนั้น ก่อนสิ้นพระชนม์พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนรวม 8 คน เพื่อสนับสนุนสมเด็จพระจักรพรรดิองค์ใหม่ “สมเด็จพระเจ้ายาเธอเจ้าฟ้าไจ้ฉุน” ให้ขึ้นครองราชย์เป็น สมเด็จพระจักรพรรดิถงจื้อ (ขณะนั้นมีพระชันษาเพียงแค่ 5 ชันษา) โดยมี “ซูอันไทเฮา” และ “ซูสีไทเฮา” คอยอภิบาลดูแลจักรพรรดิองค์น้อย และตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

          แต่ให้หลังไปไม่นาน ในช่วงงานพิธีอัญเชิญพระศพ “สมเด็จพระจักรพรรดิเสียนเฟิง” เพื่อกลับกรุงปักกิ่ง ผู้สำเร็จราชการแทนทั้ง 8 คน ก็ถูกกำจัดออกนอกเส้นการขึ้นสู่อำนาจ เมื่อ “ซูสีไทเฮา” ได้ว่านล้อมให้ “ซูอันไทเฮา” เห็นชอบถึงประโยชน์ที่จะได้รับหากทั้งสองพระองค์ร่วมกันเป็นผู้สำเร็จราชการแทนเสียเอง

ส่วนวิธีการก็คือ พระนางได้ทรงหาแนวร่วมอันประกอบไปด้วยบรรดารัฐมนตรีและข้าราชการพลเรือนที่อยู่กันคนละขั้ว วางแผนและยัดเหยียดสารพัดข้อหา อาทิ สมคบคิดกับต่างชาติให้เข้ามารุกรานบ้านเมือง และการลักลอบใช้อำนาจโดยไม่ชอบ สุดท้ายทั้งหมดก็ถูกลงโทษประหารชีวิต หรือไม่ก็ถูกบังคับให้กระทำการอัตวินิบาตกรรมในที่สุด

          จากนั้น “ซูสีไทเฮา” จึงได้ประกาศสถาปนาพระองค์เอง พร้อมด้วย “ซูอันไทเฮา” ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนองค์พระจักรพรรดิ โดยการออกว่าราชการนั้น พระพันปีหลวงทั้งสองพระองค์จะประทับคู่กัน ณ พระราชบัลลังก์หลังม่าน โดยมีสมเด็จพระจักรพรรดิซึ่งยังทรงพระเยาว์ประทับพระราชอาสน์อยู่หน้าม่าน จวบจนกระทั่งเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2423 “ซูอันไทเฮา” ก็ทรงทิวงคตอย่างปัจจุบันทันด่วน และนำมาซึ่งความคลางแคลงใจไปทั่ว ตามบันทึกเอกสารทางการแพทย์ในสมัยนั้นระบุว่า ทรงประชวรด้วยโรคลมปัจจุบัน หากแต่บางกระแสกลับร่ำลือว่า เหตุเพราะเกิดความขัดแย้งกันภายในนั่นเอง โดยเฉพาะกรณีที่ว่ากันว่า “ซูอันไทเฮา” ทรงถือพระราชโองการจาก “สมเด็จพระจักรพรรดิเสียนเฟิง” ให้มีพระราชอำนาจสั่งประหาร “ซูสีไทเฮา” ได้ทุกขณะหากมีพระราชวิสัยไม่เหมาะสม อย่างไรก็ดีการทิวงคตของ “ซูอันไทเฮา” ก็มีผลทำให้ “ซูสีไทเฮา” ทรงกุมอำนาจเบ็ดเสร็จแต่เพียงพระองค์เดียวในเวลาต่อมา

          ตลอดช่วงเวลาที่ “ซูสีไทเฮา” ทรงบริหารราชการแทนองค์จักรพรรดิทั้งสามพระองค์ อันประกอบไปด้วย สมเด็จพระจักรพรรดิถงจื้อ (27 เมษายน พ.ศ. 2398 – 13 มกราคม พ.ศ. 2417) สมเด็จพระจักรพรรดิกวังซวี้ (14 สิงหาคม พ.ศ. 2413 - 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450) และสมเด็จพระจักรพรรดิปูยีจักรพรรดิองค์สุดท้ายของจีน ซึ่งขึ้นครองราชย์ก่อนที่ “ซูสีไทเฮา” จะทิวงคตในวันรุ่งขึ้น (วันที่

15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450) พระนางต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ

          …การก้าวสู่อำนาจที่ว่ายาก หากแต่การที่จะคงหรือรักษาไว้ซึ่งสถานภาพนั้นย่อมยากยิ่งกว่า เพราะในช่วงสมัยที่พระนางเถลิงอำนาจ การเมืองภายใน “พระราชวังต้องห้าม” นั้นไม่นิ่งและสั่นคลอน อันเนื่องมาจากสารพัดปัญหา อาทิปัญหาความขัดแย้งระหว่างราชนิกูล ปัญหาข้าราชการเกิดการแตกแยกเรื่องเชื้อชาติระหว่างชาวแมนจูและชาวฮั่น รวมไปจนถึงปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง นอกจากปัญหาภายในแล้ว ยังประกอบด้วยปัญหาภายนอกที่เกิดจากการแทรกแซงจากต่างชาติ สงครามฝิ่น และกบฏแบ่งแยกดินแดนที่มีติดตามมาไม่ขาดสาย

           เมื่อปัญหาต่างๆ เริ่มขมวดปมเข้ามารายรอบ เพราะความที่เป็นผู้มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมของ “ซูสีไทเฮา” ส่งผลให้จีนในยุคนั้น กลายเป็นประเทศที่ไม่ใคร่ยอมคบค้าสมาคมกับต่างชาติ และนำมาซึ่งความด้อยพัฒนาการด้านวิทยาการอันจะเป็นประโยชน์แก่การบริหารประเทศ อาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีอยู่ก็ล้วนแล้วแต่เริ่มล้าสมัยพอๆ กับระบบการทหารที่ต้องการการปฏิรูปเสียใหม่ แม้พระนางจะพยายามปรับปรุงด้วยการสั่งซื้อเรือรบถึงเจ็ดลำจากสหราชอาณาจักร แต่เพราะความที่เจ้ายศเจ้าอย่างถือตนว่ามีเกียรติยศสูงส่ง เมื่อมีการส่งมอบเรือและพระนางทรงทราบว่า มีการบรรทุกคนต่างชาติติดลำเรือมาลงที่จีนด้วย พระนางก็ทรงไม่พอพระทัยและสั่งส่งคืนเรือทุกลำในทันที นอกจากนี้เมื่อจะมีการเสนอก่อสร้างทางรถไฟ พระนางก็ทรงไม่อนุมัติโดยอ้างว่า เสียงอันดังของเครื่องจักร จะเป็นการรบกวนบรรดาบูรพจักรพรรดิที่บรรทมอยู่ในฮวงซุ้ย

           ด้วยเหตุแห่งปัญหาทุกอย่างรุมเร้า ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงจากโลกภายนอกเริ่มย่างกลายเข้ามาในรูปแบบของวัฒนธรรมจากต่างชาติ “ซูสีไทเฮา” จึงต่อต้านและไม่ให้การยอมรับ โดยเฉพาะแนวคิดเชิงเสรีนิยม เพราะเกรงว่า สักวันหนึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องเป็นภัยคุกคามต่อพระราชอำนาจของพระนาง ดังนั้นจึงเริ่มปิดกั้นโอกาสในการเข้าถึงจากนานาประเทศมากขึ้น นโยบายการจัดส่งเด็กหนุ่มไปเล่าเรียนยังต่างประเทศเพื่อนำวิทยาการกลับมาพัฒนาบ้านเกิด จึงถูกสั่งยกเลิกนับตั้งแต่บัดนั้น และหันมาให้ความสำคัญกับโลกใกล้ตัวของพระนางใน “พระราชวังต้องห้าม” แทน อาทิ ยกเลิกงบประมาณปรับปรุงกองทัพ แล้วนำไปปฏิสังขรณ์พระราชวังฤดูร้อนส่วนพระองค์ ขุดสระน้ำขนาดใหญ่แล้วสร้างเรือหินอ่อนเอาไว้พักผ่อนยามอ่อนล้า หรือทุ่มทุนสร้างฮวงซุ้ยของพระองค์เองแบบอลังการงานสร้างอย่างที่ไม่เคยมีราชวงศ์องค์ใดในประวัติศาสตร์จีนเคยทำมาก่อน

“ซูสีไทเฮา” พระราชสมภพเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2377 และทิวงคตวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450 รวมพระชนมายุได้ 73 พรรษา หากเทียบเคียงกับยุคสมัยในบ้านเราก็จะตรงกับช่วงรัชกาลที่ 3 จนถึงปลายรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นยุคที่เรียกได้ว่า เป็นช่วงของการล่าอาณานิคมของประเทศทางแถบตะวันตก แต่ด้วยวิสัยทัศน์อันกว้างไกลผนวกกับพระปรีชาสามารถขององค์พระมหากษัตริย์ไทย จึงส่งผลให้บ้านเมืองเราผ่านพ้นวิกฤตและคง “เอกราช” มาได้ แต่ในขณะเดียวกันประเทศจีนซึ่ง ณ ขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของ “ซูเสียไทเฮา” ท่ามกลางภาวะวิกฤตรอบด้านดังที่กล่าวมาข้างต้น กลับเป็นการปิดฉากราชวงศ์ชิงสู่การปกครองระบอบสังคมนิยมแบบจีนตราบเท่าทุกวันนี้

           ภาพความทรงจำของ “ซูสีไทเฮา” ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า มีทั้งคนที่นิยมชมชอบ และ/หรือมีความเห็นที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ดี “ซูสีไทเฮา” ก็คือบันทึกบทหนึ่งของประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าที่มีไว้เพื่อเป็นกรณีศึกษาถึงคุณและโทษของ “อำนาจ” ว่าควรจะเอาเยี่ยง หรือควรจะเอาอย่างๆ อย่างไร หากต้องกระโจนลงสู่วังวนของอำนาจ เฉกเช่นเดียวกันกับเธอ…

          “พระนางซูสีไทเฮา” พญาหงส์ผู้(ต้อง)อยู่เหนือมังกรของประวัติศาสตร์จีน

                                                                                                           โดย #ธนกฤต วงษ์พรต