‘เคอีเอ็กซ์-ไปรษณีย์ไทย’ ขานรับ กม.คุ้มครองนักช้อป ถก สคบ. เตรียมความพร้อมคิกออฟ “มาตรการส่งดี” มีผลใช้บังคับ 3 ต.ค. นี้
29 สิงหาคม 2567 เวลา 14.00 น. ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นประธานในการหารือร่วมกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) นำโดย นายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการ สคบ. ร่วมกับตัวแทนผู้บริหารธุรกิจขนส่ง ประกอบด้วย บริษัท เคอีเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อหารือแลกเปลี่ยนความเห็นและซักซ้อมทำความเข้าใจร่วมกันถึงแนวปฏิบัติในการจัดส่งสินค้าในกลุ่มให้บริการเก็บเงินปลายทาง (COD) ให้สอดรับกับประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2567 หรือที่เรียกว่า “มาตรการส่งดี (Dee-Delivery)” ของ สคบ. ซึ่งกำลังจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 3 ตุลาคม 2567 นี้
นางสาวจิราพร กล่าวว่า “มาตรการส่งดี (Dee-Delivery)” มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าแบบเก็บเงินปลายทาง โดยผู้ให้บริการขนส่งสินค้าจะต้องจัดทำหลักฐานการรับเงินส่งมอบให้กับผู้บริโภคทันทีที่ได้รับชำระเงินจากผู้บริโภค และให้สิทธิผู้บริโภคสามารถเปิดดูสินค้าก่อนชำระเงินได้ หากพบว่าสินค้ามีปัญหา เช่น สั่งซื้อสินค้าแล้วได้รับสินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ ไม่ได้สั่งซื้อสินค้าแต่มีสินค้าไปส่งแล้วเรียกเก็บเงินปลายทาง และสินค้าที่ได้รับมีความชำรุดบกพร่อง สามารถปฏิเสธการชำระเงินและไม่รับสินค้าได้ หรือหากไม่อยู่ในวิสัยที่จะเปิดดูสินค้า โดยรับสินค้าไว้และชำระเงินแล้ว มาตรวจสอบภายหลังพบว่ามีปัญหาดังกล่าวสามารถขอคืนสินค้าและขอเงินคืนได้ภายใน 5 วัน และผู้ให้บริการขนส่งสินค้าต้องคืนเงินให้กับผู้บริโภคภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
ทางด้าน นายวราวุธ นาถประดิษฐ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคอีเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า เนื่องจากข้อจำกัดด้านระยะเวลา ยังมีข้อกังวลบางประการในด้านขั้นตอนที่ต้องศึกษาเพิ่มเติม เพื่อปรับกระบวนการภายในให้สอดรับกับกฎหมายฉบับดังกล่าวเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคให้มากที่สุด อย่างไรก็ดี บริษัทฯ พร้อมที่จะสนับสนุนกฎหมายของ สคบ. ที่คุ้มครองผู้บริโภคที่สั่งซื้อสินค้าแบบเก็บเงินปลายทาง ตามแนวทางปฏิบัติที่ได้หารือกับ สคบ. ในขณะที่นายพูลลาภ ป้องกันภัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้านระบบไปรษณีย์ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ระบุว่า การเปิดเวทีหารือระหว่าง สคบ. กับผู้ประกอบการขนส่งจะทำให้เกิดแนวทางในการปฏิบัติที่ชัดเจน ทำให้ประกาศฯ ถูกบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไปรษณีย์ไทย ยินดีร่วมมือและสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกับ สคบ.
ทั้งนี้ นางสาวจิราพรได้สั่งการให้ สคบ. นำข้อซักถามและข้อเสนอแนะของบริษัทขนส่ง ไปประกอบการออกแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ผู้บริโภค ผู้ขนส่ง และผู้ขายสินค้า อย่างทั่วถึง พร้อมสั่งการให้ สคบ. ตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามผลการบังคับใช้ต่อไป