เล่าเรื่อง เมืองอุบล EP.29 : “วิเชียร ภาดี” ศิลปินพื้นบ้านอีสาน สาขาประติมากรรม ปี 2561

   เมื่อ : 03 ส.ค. 2567

            นายวิเชียร ภาดี เกิดวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2506 เป็นบุตรของนายบัว และ นางลวง ภาดี สมรสกับนางเพ็ญพักตร์ ภาดี มีบุตร – ธิดา รวม 3 คน สำเร็จการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 อาชีพช่างทำลวดลายอาคารศาสนสถาน และแกะสลักเทียนพรรษา

            อยู่บ้านเลขที่ 181 หมู่ที่ 6 บ้านคูเดื่อ ต.แจระแม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี 3400 โทรศัพท์ 089-5822936

          @ ผลงานด้านศิลปวัฒนธรรม :

นายวิเชียร ภาดี เกิดในครอบครัวชาวนาที่มีฐานะยากจน จึงต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดด้วยการทำนา เมื่อจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 จึงทำงานเป็นกรรมกรรับจ้างในงานก่อสร้างอาคารศาสนสถาน โดยมีคุณพ่อ อุตส่าห์ จันทรวิจิตร เป็นครูสอน การก่อสร้างอาคารศาสนสถาน งานปูนปั้นลวดลาย และการแกะสลักเทียนพรรษา ใช้ความวิริยะอุตสาหะ ในการเรียนรู้ฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ จึงรับงานด้วยตนเอง เรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน

          @ ประสบการณ์ด้านศิลปวัฒนธรรมกว่า 40 ปี มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ ดังนี้

            - ปี พ.ศ. 2552 เป็นผู้ร่วมเครือข่ายช่างเทียน สอนและถ่ายทอดภูมิปัญญาการทำเทียนพรรษา และเป็นต้นแบบการทำเทียนพรรษาให้จังหวัดสุพรรณบุรี และจัดทำเทียนพรรษาให้กับอำเภอเมืองสุพรรณบุรี รางวัลชนะเลิศ

            - ปี พ.ศ. 2545 เป็นวิทยากรผู้สอนและถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นการทำเทียนพรรษา และต้นแบบการทำเทียนพรรษาให้กับจังหวัดสระแก้ว 

            - ปี พ.ศ. 2557 เป็นวิทยากรฝึกอบรมเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นการทำเทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานีให้กับเทศบาลตำบลนางรอง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์

            - ปี พ.ศ. 2558 เป็นวิทยากรฝึกอบรมเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นการทำเทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานีให้กับ เทศบาลตำบลแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่

            - ปี พ.ศ. 2555 ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตัดสินการประกวด แกะสลักเทียนพรรษาระดับ นักเรียน นักศึกษา และเยาวชน จังหวัดอุบลราชธานี

            - ปี พ.ศ. 2554 จังหวัดอุบลราชธานี ได้มอบหมายให้ จัดทำต้นเทียนชัยเฉลิมพระเกียรติ 12 สิงหามหาราชินีวันแม่แห่งชาติ นำไปจัดแสดง ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง กทม.

            - ปี พ.ศ. 2555 จังหวัดอุบลราชธานี ได้มอบหมายให้ จัดทำต้นเทียนพรรษาฉลองพุทธชยันตี 2600 ปี นำไปจัดแสดง ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง กทม.

            - ปี พ.ศ. 2558-2560 จัดทำตันเทียนพรรษาให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด ในงานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี

            - ปี พ.ศ. 2558-2560 ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินการประกวดแข่งขันแกะสลักเทียน ทศชาติชาดก ณ บริเวณถนนสายเทียน หน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี

          @ ผลงานที่เคยได้รับรางวัลนับตั้ง ปี พ.ศ. 2533 -2567 ประเภทต่างๆ ที่สำคัญ ดังนี้

            - ปี 2551 รางวัลชนะเลิศประเภทแกะสลักต้นเทียนขนาดใหญ่ วัดพระธาตุหนองบัว รับถ้วยรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 

            - รางวัลชนะรองเลิศอันดับ 2 ประเภทแกะสลักต้นเทียนขนาดใหญ่ วัดพระธาตุหนองบัว 

            - รางวัลชนะเลิศ ประเภทแกะสลักต้นเทียนขนาดกลาง วัดกลาง อ.พิบูลมังสาหาร 

            - รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทแกะสลัก ต้นเทียนขนาดใหญ่ วัดพระธาตุหนองบัว 

            - รางวัลชนะเลิศประเภทแกะสลักต้นเทียนขนาดกลาง วัดหนองปลาปาก อ.เมือง

            - รางวัลรองชนะเลิศประเภทแกะสลัก ต้นเทียนขนาดใหญ่ วัดผาสุการาม อ.วารินชำราบ

            - รางวัลรองชนะเลิศประเภทแกะสลักต้นเทียนขนาดกลาง วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ 

            - รางวัลรองชนะเลิศประเภทแกะสลัก ต้นเทียนขนาดใหญ่ วัดทุ่งศรีเมือง

            - ปี พ.ศ. 2559 รางวัลชนะเลิศเทียนพรรษาประเภทแกะสลักต้นเทียนขนาดใหญ่ วัดทุ่งศรีเมือง รับถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี

            - ปี พ.ศ. 2560 ต้นเทียนเกียรติยศ วัดทุ่งศรีเมือง ประเภทแกะสลักขนาดใหญ่ งานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2560 

            - ปี พ.ศ. 2566 รางวัลชนะเลิศเทียนพรรษา ประเภทแกะสลักขนาดใหญ่ วัดทุ่งศรีเมือง รับถ้วยรางวัล สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี งานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี และเป็นต้นเทียนโชว์ร่วมขบวนแห่ในขบวนแห่งานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2567 อีกด้วย

            วันที่ 3 สิงหาคม 2567 จังหวัดอุบลราชธานี สูญเสียนายวิเชียร ภาดี ช่างเทียนพรรษา มรดกล้ำค่า ภูมิปัญญา เมืองอุบล สิริอายุ 61 ปี นับเป็นการสูญเสียบุคคลสำคัญด้านศิลปวัฒนธรรมของเมืองอุบลอีกท่านหนึ่ง เหลือไว้แต่คุณงาม ความดี และตำนานการทำเทียนพรรษาให้ทายาทสืบสานต่อไป.

          ………….

  • ปัญญา แพงเหล่า/รายงาน

          3 สิงหาคม 2567