ครม.ไฟเขียว ตรึงค่าไฟฟ้า 4.18 บ./หน่วย (ก.ย.- ธ.ค. 67) น้ำมันดีเซลไม่เกิน 33 บาท/ลิตร

   เมื่อ : 24 ก.ค. 2567

            23 ก.ค. 2567 ครม. เห็นชอบมาตรการดูแลราคาพลังงานให้ประชาชนตามที่กระทรวงเสนอ โดยมีมติให้ตรึงราคาค่าไฟ 4.18 บาท/หน่วย จนถึงสิ้นปี 67 และตรึงราคาน้ำมันดีเซล 33 บาท/ลิตร ถึงเดือนตุลาคมนี้ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน 

  • มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า

            ประชาชนทั่วไป - ตรึงอัตราค่าไฟฟ้าที่ประกาศเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้ารอบเดือนกันยายน ถึง ธันวาคม 2567 ในอัตราไม่เกิน 4.18 บาทต่อหน่วย หรือเท่ากับค่าไฟฟ้าเรียกเก็บในปัจจุบัน 

            กลุ่มเปราะบาง - ช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้า ไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน จะคงไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย ในงวดเดือน กันยายน - ธันวาคม 2567 (รวม 4 เดือน)

            ทั้งนี้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวย้ำว่า การตรึงราคาไฟฟ้าให้อยู่ในราคาดังกล่าวนั้น กระทรวงพลังงานมีวิธีการของตนเอง ยืนยันว่าจะไม่มีผู้ใดเดือดร้อน และไม่ได้ให้ กฟผ. แบกรับค่าใช้จ่าย แต่เป็นการนำเงินส่วนต่างจากค่าไฟฟ้าไปจ่าย ซึ่งจะจ่ายในจำนวนที่ลดน้อยลง และนำไปชำระหนี้ให้ กฟผ. ด้วย ซึ่งการชำระจะจ่ายตามงวดค่าไฟฟ้า และการชำระหนี้ ไม่จำเป็นต้องจ่ายในงวดเดียวทั้งหมด เพราะการจ่ายหนี้งวดเดียวหมด ประชาชนจะเป็นผู้แบกรับหนี้ ซึ่งไม่มีเหตุจำเป็นที่จะทำเช่นนั้น ฉะนั้นการทยอยจ่ายเป็นรายงวดก็มีค่าเท่ากัน

  • มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิง

            ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร จนถึง 31 ตุลาคม 2567 โดยใช้มาตรการทางกองทุนน้ำมันไปก่อน ส่วนการดูแลน้ำมันเบนซิน เนื่องจากกลไกน้ำมันในประเทศไทยเป็นเช่นนี้มานาน ขณะนี้กำลังดำเนินการแก้ไข โดยการร่างกฎหมาย และส่งให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบอีกครั้ง ก่อนนำส่งให้กฤษฎีกาช่วยตรวจสอบ ซึ่งเชื่อว่าหากกฎหมายดังกล่าวผ่านจะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องราคาน้ำมันที่ขึ้นอยู่ในทุกวันได้ โดย นายพีระพันธุ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า กฎหมายที่กำลังทำจะไม่ทันใช้ในวันที่ 31 ตุลาคม 2567 เนื่องจากต้องส่งเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา และหลังจากนี้จะบริหารจัดการโดยใช้กฎหมายเดิม แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงก็จะปรับระบบ พร้อมยืนยันว่า หลัง 31 ตุลาคมนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถแบกรับภาระไหวอยู่ 

รอหารือกระทรวงการคลังอีกครั้ง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน

            แนวทางปัจจุบัน (ภายใน 31 ต.ค. 67) ใช้ระบบเดิม คือ ใช้เงินจากกองทุนน้ำมัน (ขณะนี้หนี้กองทุนน้ำมันติดลบ และเป็นหนี้กว่าแสนล้านบาท)

            แนวทางในอนาคต (หลัง 31 ต.ค. 67) กระทรวงพลังงานหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างยั่งยืน เนื่องจากกฎหมายเดิมที่ไม่อำนวยความสะดวก จึงจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมาย.