ผู้ส่งออกไทยเฮ ซาอุดีอาระเบียไฟเขียวนำเข้าวัว แกะ แพะ จากไทยแล้ว

   เมื่อ : 18 มิ.ย. 2567

          17 มิ.ย. 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยความคืบหน้าหลังจากการพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ซาอุดีอาระเบีย และร่วมลงนาม MOU ผลักดันสินค้าเกษตร อาหาร ธุรกิจบริการทางการแพทย์ ท่องเที่ยว เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า กระทรวงสิ่งแวดล้อม น้ำ และการเกษตรแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ได้แจ้งข่าวดีผ่านกระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย และสถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรไทย ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ถึงรัฐบาลไทยว่า ซาอุดีอาระเบียอนุญาตให้นำเข้าปศุสัตว์มีชีวิต (วัว แกะ แพะ) เพื่อเชือดและเลี้ยงจากประเทศไทยได้ โดยให้ใช้หนังสือรับรองสุขภาพสัตว์เพื่อการส่งออกปศุสัตว์มีชีวิตที่ได้รับอนุมัติจากการหารือระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ องค์การอาหารและยาซาอุดีอาระเบีย (SFDA) หรือ อย.ซาอุดีอาระเบีย ได้อนุญาตให้โรงงานไก่ไทย สามารถส่งออกไก่สด ไก่แปรรูป ไก่ปรุงสุก เข้าประเทศซาอุดีอาระเบียได้อย่างครบถ้วน ทุกด่านทั่วประเทศ 

            ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ต้องการส่งออกผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์มีชีวิต สามารถขอรับใบอนุญาตนำเข้าผ่านแพลตฟอร์ม NAAMA (https://naama.sa/Home/ServiceSearch) ของกระทรวงสิ่งแวดล้อม น้ำ และการเกษตรแห่งซาอุดีอาระเบีย หรือขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ป้องกันและควบคุมศัตรูพืชและโรคสัตว์แห่งชาติ (National Centre for Prevention and Control of Pests and Animal Diseases) ซาอุดีอาระเบีย หมายเลขโทรศัพท์ (0502374064) และอีเมล์ baltureif@weqaa.gov.sa 

  • สั่งการ สค. เร่งแจ้งผู้ประกอบการ - ส่งออก

            รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งไปยังผู้ประกอบการและผู้ส่งออกของไทย ให้เตรียมความพร้อม และปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎระเบียบที่ซาอุดีอาระเบียกำหนด เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกวัว แกะ แพะ ของไทยไปยังตลาดซาอุดีอาระเบียโดยเร็ว เนื่องจากการส่งออกผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ไปยังซาอุดีอาระเบีย ค่อนข้างมีข้อกำหนดที่เข้มงวด เช่น ห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ผ่านการแช่เย็น แช่แข็ง บรรจุกระป๋อง จากประเทศที่มีการเกิดโรคระบาดในสัตว์ รวมถึงการผลิตต้องเป็นไปตามหลักศาสนา และถูกต้องตามมาตรฐานของ GCC Standardization Organization (GSO) รวมถึงต้องมีใบรับรองสุขภาพของสัตว์ที่ได้รับการยอมรับจากองค์การอาหารและยาของซาอุดีอาระเบีย (Saudi Food and Drug Authority :SFDA) จึงแนะนำให้ผู้ประกอบการไทยศึกษาข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดก่อนทำการส่งออก ซึ่งความสำเร็จครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ของไทย พร้อมเป็นการช่วยเพิ่มช่องทางและโอกาสของการส่งออกวัว แกะ และแพะ ของไทยไปตลาดของประเทศในอ่าวอาหรับอื่นๆ ได้มากขึ้น 

            สำหรับข้อมูลการค้าระหว่างไทย - ซาอุดีอาระเบีย ในปี 2566 การค้ารวมมีมูลค่า 8,796.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แยกเป็นการส่งออก มูลค่า 2,667.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้ามูลค่า 6,128.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในช่วง 4 เดือนปี 2567 (ม.ค.-เม.ย.) การค้ารวม มีมูลค่า 2,588.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 17.42% แยกเป็นส่งออก มูลค่า 926.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 11.71% และนำเข้า มูลค่า 1,662.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 27.89%

  • ไทย-ซาอุฯ จับมือขยายความร่วมมืออุตสาหกรรมฮาลาล เร่งผลักดันสินค้าไทย เข้าสู่ตลาดซาอุดิอาระเบีย

          8 พ.ค. 2567 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้การต้อนรับ ดร. มาญิด บิน อับดุลเลาะฮ์ อัลกอเศาะบี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบียและคณะ เพื่อหารือความร่วมมือและแนวทางการขับเคลื่อนการส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของทั้งสองประเทศ โดย ดร. มาญิด กล่าวว่า ”ประเทศไทยมีความโดดเด่นในด้านอุตสาหกรรมอาหาร ทางซาอุดีอาระเบียมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมมือและดำเนินการร่วมกันในอุตสาหกรรมฮาลาล เนื่องจากซาอุดิอาระเบียเป็นศูนย์กลางของตลาดฮาลาลในภูมิภาคชาติอาหรับ อีกทั้งมีผู้บริโภคจำนวนมาก นับเป็นเรื่องสำคัญมากหากได้รับความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลของทั้งสองประเทศให้ดียิ่งขึ้น”

            ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมวางแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือด้านฮาลาลระหว่างสองประเทศ เพื่อผลักดันให้สินค้าฮาลาล รวมทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภคของไทย สามารถเข้าถึงตลาดซาอุดิอาระเบียได้มากขึ้น เนื่องจากประเทศซาอุดิอาระเบีย เป็นตลาดฮาลาลขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และไทยก็มีศักยภาพในการผลิตสินค้าฮาลาลที่มีคุณภาพ การส่งเสริมสินค้าฮาลาลระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบีย มุ่งเน้นไปที่สินค้าอาหาร เครื่องดื่ม เวชสำอาง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาล ขยายโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการไทย สนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงข้อมูลและช่องทางการจำหน่ายสินค้าในตลาดซาอุดิอาระเบีย ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยี ร่วมพัฒนากลยุทธ์และมาตรฐานสินค้าฮาลาล เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าและความสามารถในการแข่งขัน

  • ซาอุดีอาระเบียหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ประตูสำคัญสู่ตะวันออกกลาง แอฟริกาและยุโรป

            ซาอุดีอาระเบียเป็น 1 ใน 10 ประเทศยุทธศาสตร์ภายใต้นโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกของรัฐบาลไทย (9 พ.ค. 2567) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพาณิชย์แห่งราชอาณาจักรไทยกับสำนักงานการค้าต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียว่าด้วยการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกัน ร่วมกับ ดร. มาญิด บิน อับดุลเลาะฮ์ อัลกอเศาะบี (H.E. Majed Bin Abdullah Alkassabi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ซาอุดีอาระเบีย ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยในฐานะแขกกระทรวงพาณิชย์ (ระหว่างวันที่ 8–10 พ.ค. 2567) เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า โดยทางซาอุดีฯ ได้นำภาคเอกชนกว่า 90 บริษัทมาเพื่อเจรจาจับคู่ธุรกิจด้วย 

       โดยซาอุดีอาระเบียถือเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของไทยเป็นประตูสำคัญสู่ตะวันออกกลาง แอฟริกาและยุโรป และไทยมีภูมิรัฐศาสตร์อยู่ในจุดศูนย์กลางของเอเชีย ซึ่งไทยมีความพร้อมด้านอาหารฮาลาล และสินค้าเกษตร สามารถเป็นแหล่งมั่นคงทางอาหารให้แก่ซาอุดีอาระเบียได้ นอกจากนี้ซาอุดีอาระเบียให้การสนับสนุนข้าวไทยมาโดยตลอด และเป็นตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งแต่ละปีไทยส่งออกข้าวไปซาอุดีอาระเบีย ประมาณ 15,000 – 30,000 ตัน.