เล่าเรื่อง เมืองอุบล EP.๒๗ : ๒๓๒ ปี อุบลราชธานี
ในโอกาสปีมหามงคล และครบรอบ 232 ปี การตั้งเมืองอุบลราชธานี...ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานี เคยจัดงานเฉลิมฉลอง 200 ปี เมื่อ ปี 2535 และจัดงาน 222 ปี เมื่อปี 2557 และล่าสุด มีการจัดงานฉลอง 231 ปี มีกิจกรรมหลากหลาย โดยมีประชาชนร่วมกิจกรรมฟ้อนรำ 25 อำเภอ จำนวนนับแสนคน และมีหนังสือสมุดภาพ เป็นที่ระลึกด้วย
การตั้งเมืองอุบลราชธานี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช บ้านเมืองค่อนข้างสงบก็ทรงมี นโยบายที่จะจัดตั้งเมืองให้มากขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการรวบรวมไพร่พลให้เป็นปึกแผ่น เพื่อความสงบสุข สมเด็จฯ กรมพระยาดำรง ราชานุภาพ ได้ทรงกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ”…รัชกาลที่ 1 ถึงรัชการที่ 3 ให้เจ้าเมืองร้าง เที่ยวเกลี้ยกล่อมหา ผู้คนมาเป็นพลเมือง โดยไม่ต้องใช้อำนาจ อาจทำได้ด้วยยินดีด้วยกัน ทุกฝ่ายก็สำเร็จประโยชน์ ถึงความมุ่งหมาย เจ้าเมืองไหนเกลี้ยกล่อมคนมาได้มาก ก็ได้ทรัพย์เศษส่วน และได้ผู้คนสำหรับอาศัยใช้สอยมากขึ้น ก็เต็มใจขวนขวาย ตั้งบ้านเมือง ฝ่ายราษฎรที่ไปเที่ยวหลบลี้ เดือดร้อนลำบากมากอยู่ เมื่อรู้ว่า บ้านเมืองเรียบร้อยอย่างเดิม ก็ยินดีที่จะกลับมา โดยมาก…
”คงจะเป็น เพื่อสนองตอบ พระบรมราโชบาย ในการตั้งเมืองดังกล่าวมาแล้ว และเพื่อความอุดมสมบูรณ์ในการประกอบอาชีพของไพร่บ้านพลเมือง”….
ในปี พ.ศ.2329 ( จุลศักราช 1148 ปีมะเมีย นพศก) พระประทุมจึงย้ายครอบครัวไพร่พลมาตั้งอยู่ ณ ตำบลแจระแม ตือตำบล ที่ตั้ง อยู่ทางทิศเหนือ เมืองอุบลปัจจุบัน…
สถาปนาเมืองอุบลราชธานี พ.ศ.2335 พระประทุมสุรราช (ท้าวคำผง) ได้พาพรรคพวกไพร่พลตั้งอยู่ที่ ตำบลห้วยแจระแม (บริเวณบ้าน ท่าบ่อ ในปัจจุบัน) ด้วยความปกติสุขเป็นเวลานานหลายปี จนกระทั่ง พ.ศ.2334 (จุลศักราช 1153 ตรีศก) อ้ายเชียงแก้ว ซึ่งตั้งบ้านอยู่ที่ตำบลเขาโองแขวง เมืองโขง คิดการกบฎ พาพรรคพวก ไพร่พลเข้ายึดนครจำปาศักดิ์ พระเจ้าองค์หลวง (ไชยกุมาร) เจ้าเมืองซึ่งกำลังป่วยอยู่ก็มีอาการป่วยทรุดหนัก และถึงแก่พิราลัย อ้ายเชียงแก้วจึงยึดเมืองนครจำปาศักดิ์ไว้ได้ ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) เมื่อครั้งเป็น พระพรหม ยกกระบัตร ยกกองทัพเมืองนครราชสีมามาปราบกบฏอ้ายเชียงแก้ว
อย่างไรก็ดีขณะที่กองทัพนครราชสีมายกมาไม่ถึงนั้น พระประทุมสุรราช (ท้าวคำผง) และท้าวฝ่ายหน้า ผู้น้อง ที่ตั้งอยู่บ้านสิงห์ท่า (เมืองยโสธร) ได้ยกกำลังไปรบอ้ายเชียงแก้วก่อน ทั้งสองฝ่าย ได้สู้รบกันที่บริเวณแก่งตะนะ (อยู่ในท้องที่ อำเภอโขงเจียม) กองกำลังอ้ายเชียงแก้วแตกพ่ายไป อ้ายเชียงแก้วถูกจับได้ และถูกประหารชีวิต เมื่อกองทัพเมืองนครราชสีมายกมาถึงเมืองจำปาศักดิ์ เหตุการณ์ก็สงบเรียบร้อยแล้ว จึงพากันยกกองทัพไปตีพวกข่า ”ชาติกระเสงสวาง จะรายระแดร์” ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกแม่น้ำโขง จับพวกข่าเป็นเชลยได้เป็นจำนวนมาก
จากความดีความชอบในการปราบปรามกบฏอ้ายเชียงแก้วนี้เอง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ท้าวฝ่ายหน้าเป็น พระวิไชยราชขัตติยวงศา ครองนครจำปาศักดิ์ และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พระประทุมสุรราช เป็น พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ ครองเมืองอุบลราชธานี พร้อมกับยกฐานะบ้านห้วยแจระแมขึ้นเป็นเมืองอุบลราชธานี เมื่อวันจันทร์ แรม 13 ค่ำ เดือน 8 จุลศักราช 1154 (พ.ศ.2335) ดังปรากฏในพระสุพรรณบัตรตั้งเจ้าประเทศราชในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ว่า ”…ด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้า ผู้ผ่านพิภพกรุงเทพ มหานครศรีอยุธยา มีพระราชโองการโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม ตั้งให้ พระประทุม เป็น พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ ครองเมือง อุบลราชธานีศรีวนาไลยประเทศราช เศกให้ ณ วัน 2 แรม 13 ค่ำ เดือน 8 จุลศักราช 1154 ปีจัตวาศก...”
ตรงกับวันที่ 16 กรกฎาคม 2335 นับถึงปี 2567 รวม 232 ปี…
………….
- ปัญญา แพงเหล่า/รายงาน
16 กรกฎาคม 2567