รายงานพิเศษ : 123 ปี งานแห่เทียนพรรษา ภูมิปัญญาชาวอุบลราชธานี

   เมื่อ : 15 มิ.ย. 2567

            จังหวัดอุบลราชธานี จัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษา ประจำปี 2567 ภายใต้ชื่องาน ”เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เมืองเทียน เมืองธรรม งามล้ำเมือง 4 แสง” ในปีมหามงคล ขับเคลื่อนด้วยหลัก 3 ป. 4 ส. โดยความร่วมมือทุกภาคส่วน พร้อมยกระดับการจัดงานสู่ระดับ World class (เทียนพรรษาภูมิปัญญาไทย สู่สากล)

            ป.1 คือ : ปรับ วันเวลา การจัดงานปรับการแห่เทียน จากเดิม 1 วัน เป็น 2 วัน 2 คืน ระหว่างวันที่ 20-21 กรกฎาคม 2567 รวมทั้งกิจกรรมหลัก กิจกรรมรอง และกิจกรรมเสริม ให้สอดคล้องกันตลอดช่วงเทศกาล ในเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม 2567

            ป. 2 คือ : เปลี่ยนแนวการจัดงาน/กิจกรรมเยือนชุมชน คนทำเทียนในคุ้มวัดต่างๆ ทั้งในเขตเมืองและต่างอำเภอ เพื่อให้นักท่องเที่ยวและชาวอุบลราชธานี ร่วมเรียนรู้ประเพณีแห่เทียนพรรษา จากรุ่นสู่รุ่นเป็นไม้ผลัดวัฒนธรรมเมืองอุบลราชธานี และจัดระบบข้อมูลบริการให้ครบทุกด้าน 

            ป.3 คือ : เปิดเมือง ให้การต้อนรับทุกคน ทุกชาติ จังหวัดอุบลราชธานี เมืองนักปราชญ์ มีพร้อมทุกอย่าง โรงแรม ที่พัก ห้องอาหาร บริการขนส่ง วัดวาอาราม แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ อาหารพื้นเมือง 5 ชาติพันธุ์ ไทย จีน ลาว เวียดนาม อินเดีย รวมไปถึงของที่ระลึกของฝากจากผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นระดับ 5 ดาว เช่น ผ้าไหมในตำนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ถ่ายทอดถึงยุคปัจจุบันเป็นผ้ากาบบัวอุบล วัฒนธรรมพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง และความปลอดภัย

            จังหวัดอุบลราชธานี มีชื่อเสียงโดดเด่น ตามหลัก 4 ส. (สี่แสง) 

            ส.1 คือ : แสงแรก ชมดวงอาทิตย์ขึ้นก่อนใครในสยาม ที่อำเภอโขงเจียม ซึ่งกรมประชาสัมพันธ์ ประกาศทุกวัน

            ส.2 คือ : แสงธรรม เมืองแห่งพระพุทธศาสนา ดินแดนธรรมะ มีพระสงฆ์ชั้นสมเด็จถึง 5 รูป และเป็นต้นกำเนิดพระอริยสงฆ์ สายวิปัสสนา เช่น หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่ชา สุภัทโท 

            ส.3 คือ : แสงเทียน จากสายธารศรัทธาและความเชื่อทางพุทธศาสนา สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ และพัฒนาเป็นงานประเพณีแห่เทียนพรรษา ช่วงปี 2444 - 2567 หรือ 123 ปีผ่านมา ด้วยการยึดถือฮีต12 คอง14 ในบุญเดือนแปด ถวายเทียนพรรษา ถวายเป็นพุทธบูชา

            ส.4 คือ : แสงโซล่าเซลล์ เป็นพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งแรกที่เขื่อนสิรินธร และเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญชายแดนไทยลาวอีกด้วย

            สำหรับกิจกรรมสำคัญ ในงานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ประกอบด้วย 

          @ พิธีอัญเชิญเทียนพรรษาพระราชทานและผ้าอาบน้ำฝนพระราชทาน ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จังหวัดอุบลราชธานี จัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาโดยเชิดชูสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ โดยใช้ชื่องานในปีมหามงคล 2567 ว่า “เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เมืองเทียน เมืองธรรม งามล้ำเมือง 4 แสง” และในอดีตที่ผ่านมาจังหวัดอุบลราชธานี ก็ใช้ชื่องานประเพณีแห่เทียนพรรษา ใน ปี 2542 ว่า “งานประเพณีแห่เทียนพรรษา เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษามหาราชา” ปี 2547 “ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา เทิดไท้ 72 พรรษา มหาราชินี” และปี 2549 “60 ปี พระบารมีแผ่ไพศาล งามตระการเทียนพรรษาเทิดราชัน” ในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งการใช้ชื่องานประเพณีแต่ละปี จังหวัดอุบลราชธานี ได้น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเทียนพรรษาเป็นเทียนชัยนำขบวนแห่เทียนพรรษา ตั้งแต่ปี 2522 เป็นต้นมา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าอาบน้ำฝนตั้งแต่ปี 2552 ต่อเนื่องตลอดมา 

          ดังนั้นจังหวัดอุบลราชธานี จึงได้จัดพิธีอัญเชิญเทียนพรรษาพระราชทานและผ้าอาบน้ำฝนพระราชทาน จากกรุงเทพมหานคร - อุบลราชธานี และอัญเชิญเทียนพรรษา ประดิษฐานที่มณฑลพิธีทุ่งศรีเมืองให้ประชาชนสักการะ และอัญเชิญเป็นเทียนชัยนำขบวนแห่เทียนพรรษาในวันที่ 20 กรกฎาคม 2567 

          @ กิจกรรมที่สำคัญในชุมชนคนทำเทียน โดยการสนับสนุนของ ททท. และภาคเครือข่าย เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ จากศูนย์การเรียนรู้เทียนพรรษาอุบลราชธานี จากคุ้มวัดต่างๆ ระหว่างวันที่ 1-18 กรกฎาคม 2567 เปิดโอกาสให้ประชาชนและสาธุชนและนักท่องเที่ยว ได้ทำบุญเสริมดวง 12 ราศีจากต้นเทียนเรืองแสง ที่วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ วัดพลแพน วัดใต้ท่า วัดแจ้ง วัดมหาวนาราม วัดทุ่งศรีเมือง วัดศรีประดู่ วัดพระธาตุหนองบัว วัดศรีแสงทอง วัดบูรพา วัดสุปัฏนาราม วัดสารพัฒนึก

            นอกจากนี้ จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับชุมชนคนทำเทียน ทั้งแบบแกะสลัก แบบติดพิมพ์ และแบบโบราณ ให้นักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยวได้ศึกษากระบวนการทำต้นเทียน และศิลปะบนลายเทียน เปิดให้ชมวิถีคนทำเทียนคุ้มวัดในพื้นที่อำเภอเมืองและ อำเภอวารินชำราบ เช่น วัดโชยมงคล วัดสุทัศน์ วัดเลียบ วัดปทุมมาลัย วัดกลาง วัดกุดคูณ วัดผาสุการาม วัดหายโศก โดยชมฟรีทุกรายการ และบางเวลาจะมีนักเรียน นักศึกษา เข้าไปเรียนรู้ เพื่อสืบสานภูมิปัญญา มรดกล้ำค่าเทียนพรรษาเมืองอุบล รวมทั้งสื่อมวลชนร่วมบันทึกทำข่าวเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ระหว่างวันที่ 1-18 กรกฎาคม 2567 

          @ กิจกรรมการประกวดนางงามเทียนพรรษา ปี 2567 ระหว่างวันที่ 17-23 กรกฎาคม 2567 โดยมีสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับ ห้างเซ็นทรัลอุบล และโรงแรมสุนีย์แกรนด์ จัดประกวด และงานพาแลง ตั้งแต่รอบคัดเลือกจนถึงรอบสุดท้าย เพื่อส่งเสริมงานประเพณีแห่เทียนพรรษา ให้มีกิจกรรมหลากหลาย 

          @ กิจกรรมประกวดต้นเทียนพรรษา เพื่อรับรางวัลพระราชทาน และรางวัลรองชนะเลิศ รางวัลชมเชย ทั้ง 3 ประเภท 3 ขนาด คือ ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก และประเภทแกะสลัก ประเภทติดพิมพ์ และประเภทโบราณ การจัดทำต้นเทียนพรรษา คือ งานหลักที่สำคัญของงานประเพณีแห่เทียน โดยจะมีช่างเทียนทุกรุ่น ทุกกลุ่มศิลปินมารวมกันจัดสร้างต้นเทียน ซึ่งมีทั้งทำใหม่ตั้งค้นและทำต่อยอดจากแบบเดิม และตกแต่งตามลักษณะของงานหรือตามโครงสร้างของช่างที่กำหนดไว้ เช่น ถ้าทำใหม่จะใช้เวลานานกว่า 90 วัน ส่วนมากจะทำแบบต่อยอด ไม่ต้องสร้างรถบรรทุกใหม่ สร้างเฉพาะต้นเทียน จะใช้เวลาประมาณ 45-60 วันก็แล้วเสร็จ ตกแต่งองค์ประกอบครบตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด แล้วนำเทียนทุกต้น ทุกประเภทไปรวมกันในวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 ณ ถนนรอบทุ่งศรีเมือง เพื่อให้คณะกรรมการตัดสิน และนำไปร่วมชวนแห่ในวันที่ 20 และ 21 กรกฎาคม 2567

            สำหรับในปี 2567 คาดว่าจะมีต้นเทียนร่วมขบวนแห่ไม้น้อยกว่า 50 ต้น พร้อมขบวนฟ้อนรำ ไม่น้อยกว่า 30 ขบวน

          @ กิจกรรมที่สร้างความประทับใจ คือ การแสดงแสง เสียง ประกอบขบวนแห่เทียนภาคกลางคืน ในวันที่ 20-21 กรกฎาคม 2567 ณ ถนนอุปราช หน้าวัดศรีอุบลรัตนาราม มีขบวนฟ้อนรำและนักแสดงจากหน่วยงาน สถานศึกษาต่างๆ และชมต้นเทียนยามค่ำคืน สวยงามตระการตา และชมฟรี

            กิจกรรมสำคัญในงาน คือ พิธีเปิดงานแห่เทียนพรรษา และพิธีอัญเชิญเทียนพรรษาพระราชทานและผ้าอาบน้ำฝนพระราชทาน โดยปกติ จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับเกียรติจากภาครัฐโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเปิดงาน หากนายกรัฐมนตรี ติดภารกิจ จะมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี หรือ รัฐมนตรีเป็นประธานเปิดงานสืบเนื่องตลอดมา

            สำหรับพิธีเปิดงานประเพณีแห่เทียนพรรษา ปี 2567 ได้รับเกียรติจาก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายเกรียง กัลป์ตินันทน์) เป็นประธานในพิธีเปิด โดยกำหนดการเริ่มตั้งแต่เวลา 08:29 น. เป็นต้นไป ในวันที่ 20 และ วันที่ 21 กรกฎาคม 2567 ณ กองอำนวยการ ถนนอุปราช หน้าวัดศรีอุบลรัตนาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี และปล่อยขบวนแห่เทียนพรรษา เคลื่อนจากหน้าวัดศรีอุบลรัตนาราม ไปตามถนนอุปราช ตรงไปตามถนนชยางกูร ถึงสี่แยกถนนสุริยาตร์ ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร โดยขบวนแรก คือ ขบวนอัญเชิญเทียนพรรษาพระราชทานและผ้าอาบน้ำฝนพระราชทาน เป็นเทียนชัยนำขบวนแห่ให้ประชาชนได้ชื่นชมสักการะ พร้อมขบวนเกียรติยศและข้าราชการทุกสังกัด

            กิจกรรมสุดท้าย และใช้เวลายาวนานที่สุด คือ งานเทียนอุบล ยลได้ตลอดเดือน โดยจังหวัดอุบลราชธานี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ชุมชน คุ้มวัด และภาคีเครือข่าย ร่วมจัดกิจกรรม เพื่อให้ประชาชน และนักท่องเที่ยว รวมทั้งนักเรียน นักศึกษา ได้ศึกษา วิถีเทียน วิถีพุทธของชาวอุบลราชธานีให้มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และรวบรวมเป็นองค์ความรู้ เพื่อถ่ายทอดสู่รุ่นต่อไป หรือนำไปเผยแพร่ให้รับทราบทั่วกัน 

            ทั้งนี้ จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ จัดสถานที่แสดงต้นเทียนที่ได้รับรางพระราชทาน รางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศ จัดแสดงที่ถนนสายหลักหน้าศาลหลักเมือง ระหว่างวันที่ 22-23 กรกฎาคม 2567 เพื่อให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวได้ชมและบันทึกภาพเป็นที่ระลึกอยู่ในความทรงจำไปอีกนาน.

            ………….

  • ปัญญา แพงเหล่า/รายงาน

            16 มิถุนายน 2567