เศรษฐาฯ สานสัมพันธ์ไทย–ฝรั่งเศส นำนักธุรกิจไทยสร้างความร่วมมือส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศ

   เมื่อ : 19 พ.ค. 2567

            นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม 2567 พบ นาย Emmanuel Macron ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และร่วมงาน Thailand – France Business Forum ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ทางธุรกิจและอุตสาหกรรมล้ำหน้า อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ อุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมพลังงาน รวมถึงอุตสาหกรรมอวกาศ และเร่งสร้างธุรกิจเชิงนวัตกรรม 

            ในงาน Thailand – France Business Forum นายกรัฐมนตรีได้กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งระบุว่า “ไทยต้องการร่วมมือกับฝรั่งเศสในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย และการเยือนฝรั่งเศสในครั้งนี้ได้นำคณะนักธุรกิจและคณะที่เกี่ยวข้องด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมของไทยเข้าร่วมด้วย ถือเป็นความมุ่งมั่นร่วมกันระหว่าง 2 ประเทศ ที่ต้องการสร้างเวทีให้ภาคเอกชนชั้นนำได้พบปะ เชื่อมโยง และร่วมงานกัน ซึ่งเชื่อมั่นว่างาน Thailand – France Business Forum จะถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี” 

            ภายในงานได้มีการลงนามความร่วมมือ 3 ฉบับ หนึ่งในนั้นคือ ความร่วมมือด้านการสร้างเศรษฐกิจอวกาศเพื่อเอื้อต่อการลงทุนอุตสาหกรรมอวกาศในไทย ระหว่างสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กับ บริษัท Starburst ซึ่งเป็นกลุ่มนักลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญในการเชื่อมโยงบริษัทและสตาร์ทอัพด้านการบินและอวกาศจากทั่วโลกให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 3 ของฝรั่งเศสในอาเซียน ซึ่งเชื่อมั่นว่าในการนำของรัฐบาลไทยจะเป็นพันธมิตรที่ใหญ่และแข็งแกร่งที่สุดของฝรั่งเศสในภูมิภาคนี้ได้

            นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะได้เข้าเยี่ยมคารวะนาย Emmanuel Macron ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ณ ทำเนียบประธานาธิบดี โดยผู้นำทั้งสองประเทศร่วมแสดงความยินดีกับข้อตกลงที่ได้มีการลงนามร่วมกันระหว่างหน่วยงานและบริษัทของทั้งสองประเทศในครั้งนี้ด้วย

            นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า “รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมากกับการผลักดันอุตสาหกรรมอวกาศ และหวังที่จะใช้เทคโนโลยีขั้นสูงนี้ในการพัฒนาประเทศไทยทั้งระบบ ให้เกิดเป็นเศรษฐกิจอวกาศ หรือ Space Economy ตั้งแต่การผลิตชิ้นส่วนขั้นสูงสำหรับดาวเทียมและอากาศยานจากในประเทศ จาก Know-how ของศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมของ GISTDA ตลอดจนการนำข้อมูลจากดาวเทียมมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น นำมาใช้ใน smart farming รวมทั้งการใช้เพื่อลดผลกระทบจากภัยธรรมชาติ

            นางสาวศุภมาสฯ กล่าวอีกว่า “กระทรวง อว. มีนโยบายชัดเจนที่จะผลักดันให้นวัตกรรมและเทคโนโลยีต้องถึงมือประชาชน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคือเรื่องของธุรกิจและเศรษฐกิจที่จะขับเคลื่อนประเทศไทย สอดคล้องกับการนำเทคโนโลยีอวกาศมาเป็นหนึ่งในประเด็นหลัก สำหรับ Thailand – France Business Forum ในวันนี้ เราให้การสนับสนุนกิจการอวกาศอย่างต่อเนื่อง เพราะเรามั่นใจว่า อวกาศจะสามารถเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตได้ เช่น นำข้อมูลอวกาศมาตรวจเช็คค่าฝุ่นละออง PM2.5 นำมาวางแผนจัดการเมือง บริหารจัดการน้ำ และเรื่องภัยธรรมชาติ สำหรับวันนี้ อว. ยินดีอย่างยิ่งที่ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ได้นำเทคโนโลยีของ อว. ไปใช้และเกิดประสิทธิผลสูงสุดให้แก่ประเทศไทย” 

            ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวเสริมว่า “วันนี้เรามาขยายความร่วมมือกับฝรั่งเศสให้มากขึ้น เนื่องจากจุดมุ่งหมายหนึ่งในการมาเยือนฝรั่งเศสรอบนี้ของนายกรัฐมนตรี คือ การกระชับความสัมพันธ์อันดีและความร่วมมือกันในหลากหลายด้าน เพื่อยกระดับและเสริมความแข็งแกร่งให้กับประเทศไทยในด้านธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือด้านอวกาศ จะเห็นว่าวันนี้ประเทศไทยมีความตื่นตัวในธุรกิจอวกาศมากขึ้นเมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา โดยสิ่งที่ GISTDA ขับเคลื่อนมาตลอดเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรม ธุรกิจอวกาศกลายเป็นแนวทางที่เอกชนให้ความสำคัญอย่างมากเพราะเป็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจ ดังนั้น ความร่วมมือกับ Starburst ในครั้งนี้ เราคาดหวังในการวาง eco system ด้านกิจการอวกาศให้กับประเทศไทย เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอวกาศของอาเซียน โดยให้ Starburst เป็นข้อต่อในการดึงนักลงทุนบริษัทต่างชาตินำธุรกิจอวกาศเข้ามาขยายผลในประเทศไทย จับคู่บริษัทในไทยและใช้นวัตกรรมของบริษัทเหล่านั้นมาต่อยอดและขยายผล”

            ด้าน Mr.Francois Chopard ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Starburst กล่าวว่า “Starburst มีฐานข้อมูลบริษัทและ Startup ในธุรกิจอวกาศเพื่อเข้าไปร่วมลงทุนกว่า 140 บริษัท และเป็นบริษัทจากทั่วโลก ตัวอย่างที่ Starburst ทำสำเร็จที่ญี่ปุ่น เช่น Voyager Space ไประดมทุนจาก Mitsubishi ทำให้สามารถขยายธุรกิจในญี่ปุ่นได้ ซึ่งเรามั่นใจในศักยภาพของประเทศไทย และหวังจะเกิดการลงทุนธุรกิจอวกาศแบบนี้เช่นกันในประเทศไทย หากเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมเราจะนำไปเข้าโครงการ France 2030 และเพิ่มการลงทุนจากทางฝรั่งเศสด้วย”

            อย่างไรก็ตาม หากมีการลงทุนในอุตสาหกรรมอวกาศเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย BOI ก็พร้อมให้การส่งเสริม ล่าสุดเมื่อปีแล้ว BOI เปิดประเภทกิจการอวกาศโดยเฉพาะไว้ 5 ประเภท และบางประเภทกิจการ BOI ให้การส่งเสริมในระดับสูงที่สุด เพราะถือเป็นกิจการเป้าหมายที่มุ่งหวังให้ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมล้ำหน้า.