บันทึกประวัติศาสตร์ อุบลเมืองนักปราชญ์ กับวิถีพุทธสองแผ่นดิน

   เมื่อ : 22 เม.ย. 2567

          โครงการธรรมยาตราจากมหานทีคงคา สู่ลุ่มน้ำโขง อุบลราชธานี เป็น 1 ใน 4 จังหวัดสำคัญ ที่ได้รับมหามงคลในการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ จากประเทศอินเดีย มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ ประเทศไทย ตามโครงการธรรมยาตรา จากมหานทีคงคาสู่ลุ่มน้ำโขง เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 

            ในส่วนของจังหวัดอุบลราชธานี อัญเชิญประดิษฐาน ณ วัดมหาวนาราม พระอารามหลวง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 9 – 13 มีนาคม 2567 เพื่อประกอบพิธีถวายเป็นพุทธบูชา โดยมีสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เป็นประธานในพิธี และมีพระเทพวราจารย์ เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี พระราชธรรมสุธี เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี(ธ) และพระวชิรกิจโกศล เจ้าอาวาสวัดมหาวนาราม และคณะสงฆ์ในจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีพร้อมข้าราชการทุกภาคส่วนร่วมในพิธี และมีพุทธศาสนิกชนในจังหวัดอุบลราชธานี และทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และกัมพูชาได้กราบสักการะโดยทั่วกัน 

            ความสำคัญ: ประเทศไทยจัดพิธีอัญเชิญ พระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ จากสาธารณรัฐอินเดีย สู่กรุงเทพมหานคร โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ จากสาธารณรัฐอินเดีย มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ ประเทศไทย มีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นองค์ประธานฝ่ายสงฆ์

            ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม จัดริ้วขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ออกจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครมายังมณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยมีนายราเชนทร์ วิศวนาถ อัรเลกัร ผู้ว่าการรัฐพิหาร เป็นผู้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ มอบให้แก่นายกรัฐมนตรี

            ดร.วิเรนทร์ กุมาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและเพิ่มพลังทางสังคม เป็นผู้อัญเชิญพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตร มอบให้แก่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี และนายนาเคส สิงห์ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินเดียประจำประเทศไทย เป็นผู้อัญเชิญพระอรหันตธาตุของพระโมคคัลลานะ มอบให้แก่ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนมณฑป

            สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ถวายพวงมาลัยและจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย สักการะพระบรมสารีริกธาตุ และมีพิธีเจริญชัยมงคลคาถาตลอดพิธี

            ในการนี้ รัฐบาลไทยร่วมกับรัฐบาลสาธารณรัฐอินเดีย ดำเนินงานโครงการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ตามโครงการธรรมยาตราพระบรมสารีริกธาตุจากมหานทีคงคาสู่ลุ่มน้ำโขง จากสาธารณรัฐอินเดีย มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ ประเทศไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ในระหว่างวันที่ 22 ก.พ. ถึง 19 มี.ค. 67 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวงกรุงเทพมหานคร จังหวัดเชียงใหม่ อุบลราชธานี และกระบี่ 

            สำหรับกำหนดการในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ตามลำดับ ดังนี้ 

            ภาคกลาง ที่กรุงเทพมหานครโดยรัฐบาลจัดพิธีอัญเชิญอย่างยิ่งใหญ่ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 และเปิดให้ประชาชนเข้ากราบสักการะ ถึง วันที่ 3 มีนาคม 2567 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง จากนั้นอัญเชิญไปประดิษฐานในส่วนภูมิภาคใน 3 จังหวัด ได้แก่

            ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 5 - 8 มีนาคม 2567 ประดิษฐานที่หอคำหลวง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ 

            ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 10 - 13 มีนาคม 2567 ประดิษฐานที่ วัดมหาวนาราม (วัดป่าใหญ่) และ

            ภาคใต้ ที่จังหวัดกระบี่ ระหว่างวันที่ 15 - 18 มีนาคม 2567 ประดิษฐาน ที่วัดมหาธาตุวชิรมงคล (วัดบางโทง) หลังจากนั้นรัฐบาลไทยและอินเดียอัญเชิญกลับไปอินเดียต่อไป

            จังหวัดอุบลราชธานี มีความสัมพันธ์อันดีกับสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเอกอัครราชทูตอินเดียหลายท่านได้เดินทางมาเยือนจังหวัดอุบลราชธานีในหลายโอกาส และปรารภความตั้งใจที่ให้อุบลราชธานีเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของการสถาปนาเมืองคู่มิตรกับสาธารณรัฐอินเดีย นอกจากนี้อุบลราชธานี ยังมีศูนย์ศึกษาอินเดียแห่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งเป็นศูนย์บริการวิชาการ วิจัย และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมด้านอินเดียแห่งแรกและแห่งเดียวในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกด้วย 

            พุทธศาสนิกชน ชาวอุบลราชธานี แสดงให้เห็นถึงความสมัครสมาน สามัคคี และร่วมใจของคณะสงฆ์ ภาครัฐ ภาคเอกชน และน้ำใจไมตรีพี่น้องประชาชน โดยผู้แทนรัฐบาลอินเดียได้ชื่นชมถึงการบริหารจัดการที่สามารถรองรับสาธุชนกว่าสองแสนคนในแต่ละวัน ซึ่งรวมทั้งสิ้นกว่า 825,303 คน (แปดแสนกว่าคน) ได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ปลอดภัย มีจุดพักคอย มีรถรับส่งบริการ มีโรงทาน มีจิตอาสา-เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก และมีการจัดการจราจรได้อย่างเป็นระบบ 

            พร้อมกันนี้ “อุบลราชธานี” ยังแสดงให้เห็นถึงความปราณีตของการถวายเป็นพุทธบูชาในทุกมิติ ทั้งริ้วขบวนอัญเชิญ สถานที่ประดิษฐาน พิธีการ การสักการะบูชา ที่ผสมผสานวัฒนธรรมอีสาน ไทย อินเดีย เป็นวิถีพุทธสองแผ่นดินครั้งประวัติศาสตร์ที่งดงาม

            จังหวัดอุบลราชธานี จัดเสวนา เพื่อเป็นพุทธบูชาในโอกาสอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุในหัวข้อ ”จากมหานทีคงคาสู่ลุ่มน้ำโขง ประวัติพระบรมสารีริกธาตุ การเดินทางจากอดีตสู่ปัจจุบัน”

            สำนักศิลปากรที 9 อุบลราชธานี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มูลนิธิหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต 150 ปี ชาตกาล จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย และ ศูนย์ศึกษาอินเดียแห่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย จัดเสวนาในวันพุธที่ 13 มีนาคม 2567 เวลา 09:00-12:00 น. ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี โดยมี ดร.ปิยะมาศ ทัพมงคล รองผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาอินเดียแห่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วยนายธนภัทร จิตสุทธิผล ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี มีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย

          ๑. Prof.Amarjiva Lochan, University of Delhi

          ๒. คุณเชาวนี เหล็กกล้า หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี

          ๓. คุณพงษ์พิศิษฏ์ กรมขันธ์ นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี 

            ดำเนินรายการและแปลโดย ดร.อัญชลี แสงทอง (มรภ.อบ.) และ ดร.สิวะกรณ์ กฤษณสุวรรณ (มอบ.) ศูนย์ศึกษาอินเดียแห่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ภายในงานยังมีนิทรรศการ “ตามรอยพระศาสดาและพุทธสถานในอินเดีย” The Buddhist Exhibition “Buddha Carika – in Footsteps of Buddha” ตลอดเดือนมีนาคม 2567 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี อีกด้วย

            นับเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์เมืองอุบลราชธานี ที่ได้กราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ ตามโครงการ “ธรรมยาตรา จากมหานทีคงคา สู่ลุ่มน้ำโขง” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และเป็นวิถีพุทธ วิถีประชาธิปไตย และวิถีไทย ที่ยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ให้ดำรงอยู่สถาพรสืบไป

   ………

* ปัญญา แพงเหล่า/รายงาน

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ