ผลสำเร็จมหาสงกรานต์ 2567 มีนักท่องเที่ยวเข้าร่วมกว่า 7 แสน 8 หมื่น คน เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 2,800 ล้านบาท
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยตัวเลขผลสำเร็จจากการจัดงาน เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ 2567 ขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ ส่งผลให้ภาพรวมการจัดงาน 11 – 15 เมษายน 2567 มีประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าร่วมงานเกือบ 785,000 คน เกิดเป็นกระแสเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 2,800 ล้านบาท
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยผลการจัดงาน Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567 ระหว่างวันที่ 11 – 15 เมษายน 2567 บริเวณถนนราชดำเนินกลางและพื้นที่ท้องสนามหลวง จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พบว่า
• นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าร่วมงานถึง 784,883 คน
• ยอดขายร้านค้าภายในงาน รวม 9,334,335 บาท
• สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจแล้วถึง 2,886.82 ล้านบาท
นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ พึงพอใจการจัดงาน Maha Songkran World Water Festival 2024 ระดับมากที่สุด
นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวตลอดระยะเวลาการจัดงาน Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567 ระหว่างวันที่ 11 – 15 เมษายน 2567 พบว่า นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติพึงพอใจในการจัดงานระดับมากที่สุด กิจกรรมแสงสีเสียงไฟ และบรรยากาศการจัดงานและสิ่งอำนวยความสะดวกในการให้บริการ ตลอดจน และพึงพอใจในการชมขบวนรถพาเหรดมหาสงกรานต์ รวมทั้งต้องการให้มีการจัดงานลักษณะนี้อีกครั้ง
- การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ชวนเที่ยวเทศกาลสงกรานต์ ”วันไหล 2567” ภาคตะวันออก-กลาง
วันไหลสงกรานต์ 2567 ภาคตะวันออก คือ หนึ่งในภูมิภาคเด่นของไทยที่ได้ริเริ่มจัดงาน เทศกาลวันไหลสงกรานต์ ซึ่งในปี 2567 นี้ มีหลายจังหวัดร่วมจัดงานเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกให้ร่วมสนุกสนานและสืบสานประเพณีวัฒนธรรมของไทย
ประเพณีวันไหล หรือที่เรียกว่า ”ประเพณีก่อพระทรายน้ำไหล” ซึ่งเป็นประเพณีดั้งเดิมในหมู่ชาวประมงและผู้อาศัยในพื้นที่ติดทะเลของภาคตะวันออกและภาคกลางของประเทศไทย ประเพณีวันไหลมักจะจัดขึ้นในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ประมาณ 5 - 6 วัน โดยในปี 2567 ตรงกับวันที่ 16 - 17 เมษายน ซึ่งผู้คนในชุมชนจะร่วมกันปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ อาทิ การก่อพระเจดีย์ทราย การทำบุญตักบาตร การสรงน้ำพระพุทธรูป การรดน้ำขอพรผู้สูงอายุ การเล่นน้ำ การละเล่นพื้นบ้าน และการจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง.