เล่าเรื่อง เมืองอุบล EP.22 : 10 ครูภูมิปัญญาไทย มรดกทางวัฒนธรรม จังหวัดอุบลราชธานี

   เมื่อ : 01 เม.ย. 2567

            ความเป็นมา ”ครูภูมิปัญญาไทย” ถือกำเนิดมาจากโครงการสรรหาและยกย่องครูภูมิปัญญาไทย ซึ่งเป็นโครงการของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้เริ่มศึกษาวิจัยข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำนโยบายส่งเสริมภูมิปัญญาไทยในการจัดการศึกษา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 

            และในปีต่อมาได้ดำเนิน “โครงการสรรหาและยกย่องครูภูมิปัญญาไทย” โดยมีแนวคิดเริ่มต้นจาก ดร.รุ่ง แก้วแดง เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (ในขณะนั้น) มีแนวคิดให้สร้างพื้นที่และสนับสนุนส่งเสริม “ครูภูมิปัญญาไทย” เพื่อให้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของชาติ ทั้ง 3 รูปแบบ คือ การศึกษาในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียน และการศึกษาตามอัธยาศัย (ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542) โดยเน้นให้ครูภูมิปัญญาไทย มีบทบาทถ่ายทอดองค์ความรู้ ในส่วนของการศึกษานอกระบบโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย เนื่องจากการศึกษาในระบบโรงเรียนมี “ครูและคณาจารย์” เป็นกำลังหลักในการจัดกระบวนการเรียนรู้อยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันมีครูภูมิปัญญาไทยที่ได้รับการสรรหาและยกย่องแล้วทั้งหมด 9 รุ่น จำนวน 503 คน 

            ครูภูมิปัญญาไทย มี  9 ด้านดังนี้ (1) ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน (2) ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (3) ด้านการแพทย์แผนไทย (4) ด้านเกษตรกรรม (5) ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี (6) ด้านภาษาและวรรณกรรม (7) ด้านโภชนาการ (8) ด้านศิลปกรรม (9) ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม

            ในส่วนของจังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กระทรวงศึกษาธิการ คัดเลือกและสรรหาบุคคลปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตั้งแต่รุ่น 2-9 มีผู้ได้รับการคัดเลือกและยกย่องเป็นครูภูมิปัญญาไทย จำนวน 10 คน ดังนี้

            ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 2 ปี 2545 จังหวัดอุบลราชธานี มีบุคคลที่ได้รับการประกาศยกย่อง จำนวน 3 คน คือ

            1.นายสวิง บุญเจิม ด้านปรัชญา ศาสนาและประเพณี (การลำ ขับร้อง สู่ขวัญ แต่งผญา) สำนักพิมพ์หนังสือมรดกอีสาน (ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2563 อายุ 84 ปี)

            2. นายธีระ โกมลศรี ด้านศิลปกรรม (ดนตรีพื้นบ้านอีสาน) ปัจจุบัน อายุ 84 ปี ยังคงมีการสอนและถ่ายทอดองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง

            3. นายทองใส ทับถนน ด้านศิลปกรรม ดนตรีพื้นบ้าน (พิณอีสาน) ถึงแก่กรรม 20 มีนาคม 2567 อายุ 78 ปี

            ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 3 ปี 2546 จังหวัดอุบลราชธานี มีบุคคลที่ได้รับการประกาศยกย่อง จำนวน 3 คน คือ 

            1. นายมนัส สุขสาย ด้านภาษาและวรรณกรรม (อักษรขอม ธรรม ไทยน้อย) ปัจจุบัน อายุ 83 ปี มีผลงานการสืบทอดภูมิปัญญาด้านภาษาและวรรณกรรม วัฒนธรรมประเพณีอย่างต่อเนื่อง

            2. นายสมคิด สอนอาจ ด้านศิลปกรรม (ช่างเทียนพรรษา) ปัจจุบันอายุ 78 ปี มีผลงานการทำเทียนพรรษา สืบทอดภูมิปัญญาช่างเทียน ณ ศูนย์การเรียนเทียนพรรษาศรีประดู่ ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมงานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีทุกปี

            3. นายสลา คุณวุฒิ ด้านศิลปกรรม (การประพันธ์เพลง) ต่อมาได้รับการประกาศยกย่องเป็น ศิลปินแห่งชาติ ปี 2564 ด้านศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ประพันธ์เพลงไทยลูกทุ่ง) ปัจจุบัน อายุ 62 ปี มีผลงานด้านการร้องเพลง ประพันธ์เพลงและสร้างลูกศิษย์เป็นนักร้องลูกทุ่งที่มีชื่อเสียงอย่างต่อเนื่อง

            ครูภูมิปัญญาไทย รุ่น 4 ปี 2548 จังหวัดอุบลราชธานี มีบุคคลที่ได้รับการประกาศยกย่อง จำนวน  4 คน คือ

            1. นายพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ด้านภาษาและวรรณกรรม (ประพันธ์เพลง) ต่อมาได้รับการประกาศยกย่องเป็น ศิลปินแห่งชาติ ปี 2557 ด้านศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยลูกทุ่ง-ประพันธ์เพลง) ถึงแก่กรรม วันที่ 1 กันยายน 2558 อายุ 77 ปี

            2. นายโสรัจ นามอ่อน ด้านภาษาและวรรณกรรม (ใบลาน) ถึงแก่กรรม

            3. นายเด็ดดวง เรตสันเทียะ ด้านปรัชญา ศาสนาและประเพณี (พิธีกรรม โหราศาสตร์ ลัทธิพราหมณ์) ทำหน้าที่สอนและถ่ายทอดองค์ความรู้และเป็นพราหมณ์ประกอบในพิธีกรรมสำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบัน อายุ 80 ปี

            4. นายวัตชัย สามสี ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม (แกะสลักไม้) ปัจจุบัน อายุ 57 ปี มีผลงานด้านการแกะสลักไม้ ถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็ก นักเรียน ประชาชนผู้สนใจอย่างต่อเนื่อง

            ครูภูมิปัญญาไทยจังหวัดอุบลราชธานีทุกคน คือ มรดกทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรมประเพณีที่ทรงคุณค่า สมควรบันทึกประวัติชีวิตและผลงาน เพื่อสืบสานสร้างสรรค์เป็นมรดกอุบลราชธานี มรดกอีสานมรดกชาติและมรดกโลกต่อไป

            ขอขอบคุณ อาจารย์จีระวัฒน์ สว่างวงศ์ ศึกษานิเทศก์ ชำนาญการพิเศษ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 1 ซึ่งเป็นคณะทำงานและอยู่เบื้องหลังของครูภูมิปัญญาไทย จังหวัดอุบลราชธานี 

   ……..

* ปัญญา แพงเหล่า / รายงาน

   1 เมษายน 2567