ชาวนาไทยเฮ ราคาข้าวพุ่งสูงในรอบ 16 ปี
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์การส่งออกข้าวไทยในไตรมาสแรก 2567 ค่อนข้างราบรื่น และคาดจะมีปริมาณส่งออกข้าว 3 เดือนแรกปีนี้ประมาณ 2.5 ล้านตัน สูงกว่าปีก่อนที่ 3 เดือนแรกส่งออกได้ประมาณ 2 ล้านตัน ปัจจัยจากคำสั่งซื้อล่วงหน้าและค้างส่งมอบจากปลายปี 2566 ประเทศผู้นำเข้าหลักอย่างอินโดนีเซียประกาศเพิ่มนำเข้าอีก 1.6 ล้านตัน จากเดิมประกาศนำเข้าทั้งปีนี้ไว้ 2 ล้านตัน ทำให้ทั้งปีอินโดนีเซียจะนำเข้าเป็น 3.6 ล้านตัน
ทั้งนี้ สาเหตุที่อินโดนีเซียนำเข้าข้าวไทยมากขึ้น เนื่องจากความเชื่อถือในการส่งมอบและคงรักษาคุณภาพข้าว ซึ่งเป็นปัจจัยเข้มแข็งของไทย ขณะนี้ราคาส่งออกข้าวขาว 5% ของไทยอยู่ที่ 585 เหรียญสหรัฐต่อตัน ปากีสถาน 580 เหรียญสหรัฐต่อตัน เวียดนามจากเดิม 620 เหรียญสหรัฐต่อตัน เหลือ 570 เหรียญสหรัฐต่อตัน
- ไทยส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลก
การส่งออกข้าวของไทยมีส่วนแบ่งตลาดคิดเป็น 13.5% รองจากอินเดียที่มีส่วนแบ่งตลาด 38.8% และยังมีคู่แข่งอื่นๆ อาทิ เวียดนาม ปากีสถาน เมียนมา และจีน เป็นต้น สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดการณ์ว่า ปี 2567 การส่งออกข้าวไทย จะมีปริมาณ 7.5 ล้านตัน ลดลง 14.4% คิดเป็นมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท โดยมีมูลค่าน้อยกว่าปีก่อนราว 2.8 หมื่นล้านบาท ส่วนอินเดียยังคงเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก ปริมาณ 16.5 ล้านตัน โดยเมื่อแบ่งชนิดข้าวที่ไทยส่งออกในตลาดโลก ได้แก่
1) ข้าวขาว 4.2 ล้านตัน
2) ข้าวหอมมะลิ 1.4 ล้านตัน
3) ข้าวนึ่ง 1.2 ล้านตัน
4) ข้าวหอมไทย 0.5 ล้านตัน
5) ข้าวเหนียว 0.2 ล้านตัน
- ข้าวนาปรังเกี่ยวสดขายได้ 1 หมื่นบาท/ตัน
สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยราคาข้าวนาปรังที่กำลังออกสู่ตลาดขณะนี้ ถือว่ามีราคาสูงที่สุดในรอบหลายปี โดยราคาข้าวเปลือกเกี่ยวสด ปัจจุบันยังจำหน่ายได้ราคา 10,000 บาท/ตัน ถ้าเป็นข้าวแห้งได้ราคา 11,000 - 12,000 บาท/ตัน แม้ข้าวพื้นนุ่มสายพันธุ์เบอร์ 20 หรือ 80 ที่โรงสีจะปรับลดราคาลงมาที่ตันละ 9,000 บาท แต่ก็ยังถือว่าสูงกว่าปีที่ผ่านๆ ทั้งนี้ ราคาปัจจุบัน ทำให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปรังมีรายได้มากกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา
- 67 ปีทองของเกษตรกร ข้าวเปลือกขยับพุ่งกว่าหมื่นบาท
ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ปี 2566 ไทยส่งออกข้าวปริมาณ 8.76 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 13.7% มีมูลค่าเกือบ 5.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 29% ข้าวขาว 5% ราคาเฉลี่ยทั้งปี 587 เหรียญสหรัฐต่อตันขณะที่ กรมการค้าภายใน รายงานราคาข้าวเปลือกทุกชนิดปรับตัวสูงขึ้น โดยข้าวเปลือกหอมมะลิ ความชื้นร้อยละ 15 อยู่ที่ตันละ 14,850 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 12,300 บาท ราคาข้าวปีนี้ถือว่าเป็นปีทองของเกษตรกรไทย เพราะภัยแล้งทำให้ความต้องการข้าวมากขึ้น เช่น อินโดนีเซีย ซึ่งมีผลผลิตในประเทศลดลงจากเดิม จึงต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นเป็น 3,600,000 ตัน (เดิม 2,000,000 ตัน)
- ราคาข้าวไทยเป็นไปตามกลไกตลาด
กระทรวงพาณิชย์มีการติดตามดูแลสินค้าเกษตรกรต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรกรสำคัญ เช่น ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน ซึ่งหากดูราคาข้าวเปลือกโดยรวมของไทยขณะนี้เฉลี่ยสูงขึ้นร้อยละ 10 - 20 ถือว่ามีราคาดีและเป็นไปตามกลไกตลาด เกษตรกรส่วนใหญ่ได้ราคาข้าวเปลือกอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ
ทั้งนี้ หากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ราคาข้าวก็จะปรับตัวลงมาเป็นไปตามกลไกตลาด เนื่องจากประเทศผู้ผลิตข้าวหลายประเทศ มีผลผลิตออกมามาก เช่น ประเทศเวียดนาม กำลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปี ขณะที่ไทยข้าวนาปรังก็กำลังออกมามากเช่นเดียวกัน ดังนั้นเพื่อให้แข่งขันในตลาดได้ ข้าวไทยก็ต้องปรับลดราคาลงเพื่อให้ขายได้ ไม่เช่นนั้นลูกค้าจะหันไปซื้อเวียดนามเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นภาวะปกติของตลาด
- รัฐบาลเตรียมเสนอโครงการ “ค่าปุ๋ยคนละครึ่ง” ช่วยเหลือผู้ปลูกข้าว
โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายสนับสนุนค่าปุ๋ย โดยใช้หลักคิดตามหลักวิชาการ ว่าเกษตรกรใช้ปุ๋ยในอัตราไร่ละ 50 กก. ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ (ครัวเรือนละไม่เกิน 1,000 กก.) เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68
สำหรับวิธีการจ่าย ”ค่าปุ๋ยคนละครึ่ง” โดยให้เกษตรกรจ่ายค่าปุ๋ยครึ่งหนึ่ง และรัฐบาลสนับสนุนอีกครึ่งหนึ่ง (ในอัตราปุ๋ยไร่ละ 25 กก. ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ คือไม่เกินครัวเรือนละ 500 กก.) โดยงบประมาณรวมอยู่ที่ 33,530 ล้านบาท ลดลงกว่า 20,770 ล้านบาท จากโครงการไร่ละ 1,000 บาท โดยดำเนินโครงการผ่านกรมการข้าว ตรวจสอบสิทธิ์โดย ธ.ก.ส. และมีการส่งมอบปุ๋ยให้กับเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ต่อไป.