เล่าเรื่อง เมืองอุบล EP.21 : วันรำลึกคุณงามความดี พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ 3 เมษายน

   เมื่อ : 23 มี.ค. 2567

          การปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดินในสมัยกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี มีการพัฒนาหลายด้าน และมีความเจริญก้าวหน้าถึงปัจจุบัน ดังนี้

          ความสำคัญ และคุณูปการ : กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการ มณฑลอีสาน ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2436-2453 พระองค์ได้พัฒนาปรับปรุงเมืองอุบลราชธานี และวางรากฐานไว้หลายด้าน ทั้งด้านการปกครอง การทหาร การศึกษา การศาสนา การคมนาคม การสาธารณสุข การศาล และด้านประเพณีวัฒนธรรมอีกมากมาย เช่น

  • ด้านการปกครอง มีการปรับเปลี่ยนมาใช้รูปแบบใหม่ ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ.116 เช่น เจ้าเมือง เป็นผู้ว่าราชการเมือง ตำแหน่งอุปราชเป็นปลัดเมือง และอีกหลายตำแหน่งทั้งระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้านด้วย โดยมีการตั้งโรงเรียนฝึกหัดราชการ เพื่ออบรมให้มีความรู้ด้านการปกครอง ซึ่งผู้ผ่านการอบรมแล้วจะให้รับราชการในท้องถิ่นของตนต่อไป
  • ด้านการทหาร โดยจัดตั้งกองทหารในเมืองอุบลราชธานี ครั้งแรก เริ่ม ปี พ.ศ.2431 (การปราบกบฏผีบ้า-ผีบุญ พ.ศ.2444) กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ได้พยายามปรับปรุงการทหาร แต่มีปัญหาอุปสรรคในช่วงวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ที่รัฐบาลทำสัญญากับฝรั่งเศส จึงได้ปรับปรุงบำรุงกิจการตำรวจ โดยประกาศและเรียกคนเข้ารับราการตำรวจแทนการเกณฑ์ทหาร และได้จัดตั้งโรงพักตำรวจภูธรขึ้นที่ทุ่งหนองสะพัง คือ สถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานี ในปัจจุบัน 
  • ด้านการศาล และการปรับปรุงในปี พ.ศ.2451 มีการตั้งศาลยุติธรรมขึ้นที่เมืองอุบลราชธานี มีฐานะเป็นศาลเมืองอุบลราชธานี และศาลมณฑลอีสานอีกด้วย และมีการปรับกระบวนการในศาลทั้งระบบการไต่สวน การสอบสวนอรรถคดี ซึ่งผู้ต้องหาที่อ่านเขียนหนังสือไทยไม่ออก เจ้าหน้าที่ต้องจับมือลง (แกงได) แทนลงลายมือชื่อ ซึ่งอาจไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงเปลี่ยนมาใช้วิธีการ (แต๊ะโป้) แทน
  • ด้านการมคมนาคม มีการจัดตั้งโรงเรียนแผนที่ขึ้น เพื่อสอนให้รู้จักการสำรวจทำถนนหนทาง ซึ่งดำเนินการทั้งถนนในเมืองอุบลราชธานี และนอกเมือง รวมทั้งการสำรวจเส้นทางวางสายโทรเลข ระหว่างหัวเมืองในมณฑลลาวกาว เช่นจากอุบลราชธานี – ช่องเม็ก - จำปาศักดิ์ ซึ่งรัฐบาลสยามใช้ในการติดต่อสื่อสาร โดยกรมไปรษณีย์โทรเลข ได้จัดตั้งขึ้น ณ หัวเมือง เช่น เขมราฐ ชานุมาน โขงเจียม พิบูลมังสาหาร เดชอุดม ศรีสะเกษ ขุขันธ์ สุรินทร์ สังขะ เป็นต้น ทำให้การขยายการคมนาคมและการสื่อสารสะดวกยิ่งขึ้น และโทรเลขนี้ เป็นเครื่องมือช่วยให้การว่าราชการในพื้นที่จำปาศักดิ์ และพื้นที่อื่นๆ สะดวกมีประสิทธิภาพในการปกครองมากขึ้น
  • ด้านการศึกษา เดิมอุบลราชธานี มีการสอนหนังสือไทยอยู่ 2 โรงเรียน คือ โรงเรียนอุบลวาสิกสถาน และโรงเรียนแม่หนู เพื่อสอนการบ้านการเรือนสำหรับสตรี ต่อมาท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนโท) ได้จัดสร้างอาคารเรียนขึ้นที่วัดสุปัฏนาราม วรวิหาร เปิดสอน เมื่อปี พ.ศ.2440 โดยกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เป็นประธานในพิธีเปิด และตั้งชื่อโรงเรียนว่า อุบลวิทยาคม ต่อมามีการประกาศจัดการเล่าเรียนในหัวเมือง พ.ศ.2441 ให้พระสงฆ์จัดสอนหนังสือในวัดหัวเมืองต่างๆ หลังจากนั้น วัดในเมืองอุบลราชธานี ได้จัดตั้งโรงเรียนสอนหนังสือไทยอีกจำนวนมาก
  • ด้านการศาสนา มีการอุปถัมภ์กิจการและพระศาสนา โดยการบูรณะปฏสังขรณ์วัดหลายแห่ง เช่น วัดเลียบ วัดบูรพาราม วัดสารพัฒนึก รวมทั้งการส่งเสริมกิจการต่างๆ ด้านพระพุทธศาสนา ที่สำคัญ คือ การส่งเสริมให้จัดงานประเพณีแห่เทียนในเทศกาลเข้าพรรษา ซึ่งสืบสานเป็นงานสำคัญของจังหวัดอุบลราชธานีถึงปัจจุบัน
  • ด้านการสร้างสังคม โดยจัดให้มีการประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่ประชาชน และกำหนดให้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองอุบลราชธานี และเมืองใกล้เคียง ว่า เป็นคนไทย เชื้อชาติไทย สัญชาติไทย
  • การจัดหาที่ดินสำหรับปลูกสร้างสถานที่ราชการ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ได้ขอที่ดินจากหม่อมเจียงคำ และญาติผู้ใหญ่ จำนวน 6 แปลง สำหรับปลูกสร้างสถานที่ราชการ รวมทั้งการบริจาคที่ดินจำนวน 37 ไร่ เพื่อสร้างโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ และได้ขอซื้อที่ดินจากต้นตระกูลของหม่อมเจียงคำ เพื่อใช้ประโยชน์แก่ราชการ แต่ญาติผู้ใหญ่และหม่อมเจียงคำได้ถวายที่ดินโดยไม่คิดมูลค่า ทำให้มีที่ดินสำหรับปลูกสร้างสถานที่ราชการ และเพื่อสาธารณประโยชน์ ซึ่งมากกว่า 6 แปลง เช่น ที่ดินที่ตั้งศาลจังหวัดอุบลราชธานี และศาลแขวง ที่ดินที่ตั้งโรงเรียนอนุบาลอุบลราชธานี ที่ดินที่ตั้งศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี (หลังเก่า) โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช (หลังเก่า) และองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ที่ดินที่ตั้ง พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอุบลราชธานี รวมถึงบริเวณศาลหลักเมืองจังหวัดอุบลราชธานี ที่ดินที่ตั้ง เทศบาลนครอุบลราชธานี ธนาคารออมสิน และอาคารพาณิชย์ ที่ดินที่ตั้ง อำเภอเมืองอุบลราชธานี และที่ดินทุ่งศรีเมืองจังหวัดอุบลราชธานี

            โดยสรุป พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ขณะดำรงตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลอีสาน และประทับที่เมืองอุบลราชธานี จาก ปี พ.ศ.2436-2453 เป็นเวลา 17 ปี มีการปรับปรุงและพัฒนาเมืองอุบลราชธานีแทบทุกด้าน จนอาจกล่าวได้ว่า ความเจริญด้านต่างๆ ที่ส่งผลถึงปัจจุบัน ล้วนแต่การริเริ่มมาตั้งแต่ช่วงเวลาที่ประทับที่เมืองอุบลราชธานี

            กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ พระนามเดิมว่า พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช ทรงสำเร็จการศึกษาทางด้านกฎหมายและด้านช่าง ทรงเริ่มรับราชการในกรมช่างทหารใน และดำรงตำแหน่งราชองครักษ์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2427 ทรงรับราชการในตำแหน่งอธิบดีศาลฎีกาและศาลแพ่ง ในปี พ.ศ. 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ

            ต่อมาทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงใหญ่ต่างพระองค์ ข้าหลวงต่างพระองค์นั้นเป็นตำแหน่งสำคัญที่มีอำนาจยิ่งใหญ่กว่าข้าหลวง ข้าหลวงพิเศษอุปราชหรือสมุหเทศาภิบาล เพราะคำว่า ”ต่างพระองค์”มีความหมาย ”ต่างพระเนตรพระกรรณ” และสำเร็จราชการ ก็มีความหมายถึง ”ความสำเร็จเด็ดขาดที่ได้รับมอบจากองค์พระเจ้าแผ่นดิน” อันได้แก่ ”การบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่พสกนิกร คือความสมบูรณ์พูนสุขอยู่ดีกินดี” ตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์นี้เท่าที่ปรากฏทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มี 3 พระองค์ คือ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์, พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร และ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม

            วันที่ 10 ธันวาคม ปี พ.ศ.2436 เสด็จรับราชการที่มณฑลลาวกาว ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นมณฑลอีสาน ครอบคลุมท้องที่จังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม นครจำปาศักดิ์ และกาฬสินธุ์ และตั้งกองบัญชาการที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยทรงรับผิดชอบทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน

            ต่อมาในปี พ.ศ. 2442 ทรงค้นพบ ประสาทพระวิหาร บนผาเป้ยตาดี จังหวัดศรีสะเกษ และได้ทรงจารึก ร.ศ. ที่พบ และพระนามไว้ที่บริเวณชะง่อนผาเป้ยตาดี มีข้อความว่า ”118 สรรพสิทธิ”

            พระองค์ปกครองมณฑลอีสานเป็นเวลากว่า 17 ปี กระทั่งปี พ.ศ. 2453 ได้เสด็จกลับกรุงเทพฯ และทรงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวัง

            นอกจากนี้พระองค์ยังทรงดำรงตำแหน่งองคมนตรีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

            ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับสถาปนาพระเกียรติยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ และได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการ เนื่องจากทรงชราและมีพระอนามัยไม่สมบูรณ์ กระทั่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2465 พระชันษาได้ 65 ปี 

            ด้วยสำนึกถึงพระกรุณาธิคุณ และคุณูปการ ต่างๆ จังหวัดอุบลราชธานี จึงได้สร้างพระอนุสาวรีย์ขึ้นเมื่อปี 2564 และมีการจัดงานวันรำลึกคุณงามความดี พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ในวันที่ 3 เมษายน ของทุกปีต่อเนื่องตลอดมา

            สำหรับ หม่อมเจียงคํา ชุมพล ณ อยุธยา (ท.จ.) นามเดิม อัญญานาง เจียงคํา บุตโรบล เป็นเจ้านายฝ่ายหญิง ของเมืองอุบลฯ ได้ถวายตัวเป็นหม่อมในพลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพ สิทธิประสงค์ พระราชโอรสองค์ที่ 11 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาพึ่ง ซึ่งเป็นการกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างราชสํานักสยามกับเจ้านายเมืองอุบลฯ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และอยู่ในช่วงที่มีนโยบายปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดิน ในสมัยรัชกาลที่ 5 และส่งผลให้จังหวัดอุบลราชธานี มีความเจริญก้าวหน้าถึงปัจจุบัน 

            เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีและเป็นการเชิดชูเกียรติ จังหวัดอุบลราชธานี กำหนดจัดงานเชิดชูเกียรติและรำลึกหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา (ท.จ.) ในวันที่ 20 ตุลาคม ของทุกปี ณ วัดสุทัศนาราม อ.เมือง จ. อุบลราชธานี .

                  …………..

  • ปัญญา แพงเหล่า / รายงาน

            22 มีนาคม 2567