’รู้ให้ไว ไตไม่วาย’ ด้วยนวัตกรรมชุดตรวจคัดกรองโรคไต อว. โดย สวทช. จับมือพันธมิตรนำร่องขยายผลใช้จริงในภาคอีสาน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับโครงการป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (CKDNET) มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่น จัดงานมหกรรมป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรัง เนื่องใน “วันไตโลก” ประจำปี 2567 พร้อมส่งมอบชุดตรวจคัดกรองโรคไต นวัตกรรมภายใต้ BCG Implementation จำนวน 3,500 ชุด พร้อมด้วยชุดตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ จำนวน 10,000 ชุด ขยายผลการใช้ประโยชน์นวัตกรรมให้กลุ่มผู้ใช้จริง นำร่องขอนแก่น ก่อนขยายครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้รับเกียรติจากนายจิรศักดิ์สีหามาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานเปิดงาน ณ หอประชุมอำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น
สมาคมโรคไตนานาชาติ (International Society of Nephrology, ISN) กำหนดให้วันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือนมีนาคมในทุกปีเป็น “วันไตโลก” (World Kidney Day) เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปตระหนักถึงภัยอันตรายจากโรคไต ปีนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม 2567 ซึ่งข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขชี้ว่า ในประเทศไทย มีผู้ป่วยไตเรื้อรัง จำนวน 11.6 ล้านคน และมีจำนวนมากกว่า 1 แสนคนที่ต้องล้างไต ในขณะที่รายงานของ The United States Renal Data System (USRDS) พบว่า ประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่มีอัตราการเกิดโรคไตสูงที่สุด
ผศ.ดร.ธนากร โอสถจันทร์ รักษาการรองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ผู้แทนสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า อว. โดย สวทช. เป็น “ขุมพลังหลักของประเทศ” ในการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อพัฒนา “ระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรม” ให้เข้มแข็ง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยความเชี่ยวชาญและความสามารถของ สวทช. ผ่านแผนงาน BCG Implementation ที่จะทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ในวงกว้าง บรรลุตามเป้าหมาย 4 มิติ ประกอบด้วย การเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การสร้างความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการพึ่งพาตนเอง
โครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมชุดตรวจคัดกรอง ติดตามโรคไตเรื้อรัง และภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวาน เป็นหนึ่งในแผนงานหลักภายใต้การขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ผ่านกลไก BCG Implementation ของ สวทช. เพื่อเป้าหมายการพึ่งตนเอง ลดภาระค่าใช้จ่าย ลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางด้านการแพทย์ของประเทศ ช่วยเพิ่มการเข้าถึงการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขของประชาชน ด้วยกลยุทธ์การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรเพื่อสร้างความเชื่อมั่นจากการนำผลงานวิจัยนวัตกรรมชุดตรวจคัดกรองฯ มาสู่การใช้งานจริง ภายในงานมหกรรมป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรัง เนื่องใน “วันไตโลก” ประจำปี 2567 ที่จัดขึ้น ณ อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่นด้วย
”เราส่งมอบชุดตรวจคัดกรองโรคไต นวัตกรรมภายใต้ BCG Implementation จำนวน 3,500 ชุด พร้อมด้วยชุดตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ จำนวน 10,000 ชุด ทั้งในงานนี้ และอีกหลายกิจกรรมก่อนหน้า เพื่อขยายผลการใช้ประโยชน์นวัตกรรมให้กลุ่มผู้ใช้จริง ซึ่ง สวทช. และพันธมิตร ต่างคาดหวังให้งานมหกรรมป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรัง เนื่องในวันไตโลกในวันนี้ เป็นการ Kick Off หรือเป็นจุดเริ่มต้นในการขยายผลการใช้งานนวัตกรรมชุดตรวจคัดกรองและติดตามโรคไตในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพื้นที่อื่นๆ ในประเทศ ด้วยความร่วมมือกันของพันธมิตรที่ขับเคลื่อนอย่างเข้มแข็ง เพื่อช่วยเหลือประชาชน ลดภาระและเพิ่มการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยโรคไต และยังเป็นการสนับสนุนระบบสาธารณสุขและการแพทย์ของประเทศต่อไป” ผู้บริหาร สวทช. ย้ำ
โรคไตภัยเงียบ ที่ผู้ป่วยเพียง 1.9% ที่รู้ตัวว่า ตนเองป่วยเป็นโรคไตแล้ว (ข้อมูลจาก กรมการแพทย์ 2566) ด้วยระยะต้นมักไม่แสดงอาการ แต่การทำงานของไตจะเสื่อมลง จนเข้าสู่ระยะสุดท้าย ซึ่งผู้ป่วยต้องได้รับการฟอกเลือด ล้างไต โดยข้อมูลจาก สปสช. ปีงบประมาณ 2564 ชี้ว่า งบประมาณค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย 9,720.28 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่ข้อมูลจาก สปสช. 2563 ชี้ว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคไต 200,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งการจะรับมือได้ นอกเหนือจากการป้องกันไม่ให้เกิดโรค เพื่อลดจำนวนผู้ป่วย จำเป็นต้องรู้ให้เร็ว ชะลอความรุนแรงของโรค และลดค่าใช้จ่าย ที่ยิ่งระยะท้ายๆ จะมีค่ารักษาพยาบาลที่มากขึ้น
ดร.เดือนเพ็ญ จาปรุง ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน นาโนเทค สวทช. กล่าวว่า ชุดตรวจคัดกรอง ติดตามโรคไตเรื้อรัง และภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวาน เป็นตัวช่วยลด “ช่องโหว่” ให้ประชาชนที่เดิมไม่สามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองโรคไตได้ตั้งแต่ระยะต้น จากค่าใช้จ่ายในการตรวจที่ค่อนข้างสูง รวมถึงหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่ให้บริการตรวจยังมีไม่เพียงพอ เพราะต้องเป็นสถานพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ และด้านเทคนิคการแพทย์ดำเนินการตรวจในห้องปฏิบัติการ
ทีมวิจัย นาโนเทค สวทช. พัฒนา 2 เทคโนโลยีที่ตอบความต้องการใช้งานที่แตกต่างกัน เทคโนโลยีแรกคือ ‘AL-Strip’ เป็นชุดตรวจโรคไตเชิงคุณภาพที่ประชาชนทั่วไปใช้ตรวจคัดกรองโรคได้ด้วยตัวเอง ทราบผลการตรวจได้ภายใน 5 นาที เพียงหยดปัสสาวะที่เก็บใหม่ลงบนแถบตรวจ แล้วอ่านผลจากแถบสีที่ปรากฏ (คล้ายกับการใช้ชุดตรวจคัดกรองโรคโควิด-19) ก็จะทราบผลการคัดกรองได้ทันที โดยหากมีปริมาณอัลบูมินซึ่งเป็นโปรตีนที่เป็นสารประกอบหลักของเลือดเจือปนอยู่ในปัสสาวะเกิน 20 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ชุดตรวจจะขึ้นแถบสี 1 ขีด หมายถึง ‘มีความเสี่ยงเป็นโรคไตสูง’ ผู้ตรวจควรเข้ารับการตรวจโดยละเอียดที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยความผิดปกติของร่างกาย และเข้ารับการรักษาตามระยะของความผิดปกติ หากผู้ป่วยตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่อยู่ในระยะเริ่มต้น ก็จะมีโอกาสหันกลับมาดูแลตัวเองด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อชะลอความเสื่อมของไต ซึ่งอาจทำให้ไตกลับมาทำงานเป็นปกติได้
เทคโนโลยีที่สอง คือ GO-Sensor Albumin Test ชุดตรวจโรคไตเชิงปริมาณ เพื่อการวิเคราะห์ผลทางการแพทย์ ที่ทีมวิจัยได้พัฒนาใน 2 ส่วนหลัก คือ เครื่องตรวจปริมาณอัลบูมินที่เจือปนอยู่ในปัสสาวะ ที่ใช้เวลาในการประมวลผลเพียง 10-30 นาที ขึ้นอยู่กับความละเอียดของข้อมูลที่ต้องการ หลังประมวลผลจะสามารถดูข้อมูลได้ผ่านทั้งคอมพิวเตอร์และสมาร์ตโฟน เพื่อให้แพทย์นำผลการตรวจไปใช้งานต่อได้สะดวก ส่วนที่สองคือน้ำยาตรวจที่มีความจำเพาะกับอัลบูมินของมนุษย์ มีความไวในการตรวจมากกว่าชุดตรวจทั่วไปประมาณ 100 เท่า ช่วยลดปริมาณน้ำยาที่ใช้ในการตรวจได้เป็นอย่างดี
”นอกเหนือจากความท้าทายเรื่องเทคโนโลยี เรายังให้ความสำคัญกับเรื่องราคาที่ต้องจับต้องได้ เพื่อให้ชุดตรวจ AL-Strip นี้เข้าถึงได้ง่าย เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญด้านการคัดกรองโรคไตแบบเชิงรุกเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังในประเทศไทย ในขณะที่ GO-Sensor Albumin Test จะเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้ทุกสถานพยาบาลเข้าถึงอุปกรณ์การตรวจเชิงปริมาณเพื่อการดูแลรักษาคนไข้ในพื้นที่ โดยไม่ต้องส่งตัวคนไข้หรือส่งปัสสาวะ (ภายใต้การควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสมและนำเข้ากระบวนการตรวจภายใน 24 ชั่วโมง) ไปตรวจยังสถานพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมสูง” นักวิจัย สวทช. เผย พร้อมชี้ว่า ปัจจุบัน นวัตกรรมนี้ มีเอกชนรับถ่ายทอดเทคโนโลยี พร้อมขยายสู่เชิงพาณิชย์ให้ผู้ที่สนใจใช้งานได้ในอนาคตอันใกล้
ที่ผ่านมา สวทช. โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 7 ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อขยายผลการใช้ประโยชน์นวัตกรรมชุดตรวจทางการแพทย์ในหน่วยงานสาธารณสุขในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันขยายผลการใช้ชุดตรวจทางการแพทย์สำหรับการคัดกรองโรคติดเชื้อทางเดินหายใจและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง นำไปสู่การใช้ประโยชน์ในระบบสาธารณสุขของไทย ระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2569
ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวมีการจัดตั้ง โครงการเพื่อทดสอบการใช้ชุดตรวจอัลบูมินรั่วในปัสสาวะเชิงคุณภาพ (AL-Strip) สำหรับคัดกรองโรคไตเรื้อรังในประชาชน 2,000 ราย ปัจจุบัน นาโนเทคได้ผลิตชุดตรวจติดตามโรคไตเชิงคุณภาพ (AL-Strip) ตามมาตรฐาน ISO 13485 :2016 และผลิตในสถานประกอบการผลิตเครื่องมือแพทย์ (กท. สผ. 53/2563 กท. Diagnostic test kits) ภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และมีแผนที่จะนำชุดตรวจดังกล่าวมาขยายผลร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อสร้างการยอมรับและความเชื่อมั่นในเรื่องประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์
รองศาสตราจารย์ศิริรัตน์ อนุตระกูลชัย ปฏิบัติการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการต่อยอดความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น โครงการ CKDNET กับ สวทช. (ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค และศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือนาโนเทค) ในปี 2563 ซึ่งโครงการฯ ได้มุ่งเน้นสร้างนวัตกรรมที่คัดกรองโรคไตตั้งแต่ระยะแรกที่ต้นทุนต่ำ ใช้สะดวกและได้ผลคุ้มค่า โดยเป็นการนำนวัตกรรมไปใช้ในชุมชนและเปรียบเทียบผลลัพธ์ทางคลินิก รวมถึงศึกษาวิจัยโรคไตเรื้อรังชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุซึ่งสันนิษฐานว่ามีความเกี่ยวข้องกับมลภาวะสิ่งแวดล้อมในดิน แหล่งน้ำและอากาศ
สำหรับงานมหกรรมป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรัง เนื่องใน “วันไตโลก” ประจำปี 2567 นี้ จะขับเคลื่อนและขยายผลการใช้ประโยชน์นวัตกรรมชุดตรวจทางการแพทย์สำหรับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ “ร้อยแก่นสารสินธุ์” ประกอบด้วย จังหวัดขอนแก่น จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดกาฬสินธุ์ และ จังหวัดร้อยเอ็ด โดย CKDNET จะดำเนินการนำชุดตรวจคัดกรองโรคไต GO-sensor และ AL strip ใช้ตรวจวัดปริมาณอัลบูมินในปัสสาวะ ซึ่งนาโนเทค สวทช. พัฒนาขึ้นและได้รับอนุญาตจาก อย.(สผ.) ให้เป็นสถานที่ผลิต และมีการประเมินผลทางคลินิกแล้วระดับหนึ่ง โดยส่งมอบชุดตรวจทดสอบใช้ในพื้นที่เป้าหมายพร้อมทั้งอบรมวิธีการใช้งาน และจะมีการประเมินผลลัพธ์ของโครงการฯ จากแบบประเมินความพึงพอใจต่อการใช้ผลิตภัณฑ์ของผู้ใช้งาน และบุคลากรทางการแพทย์ในสถานพยาบาล และประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ในการลดค่าใช้จ่ายการนำเข้าอุปกรณ์การแพทย์จากต่างประเทศ
ดร.ภก.ณรงค์ อาสายุทธ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่น กล่าวว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความท้าทายต่อการจัดระบบบริการสุขภาพ แม้มีความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาขึ้นอย่างมากและต่อเนื่อง ขณะเดียวกันสถานการณ์ผู้ป่วยโรคเรื้อรังยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานตามนโยบายเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้ประชาชนคนไทยทุกคนเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 การดำเนินงานตลอด 21 ปี ย่างเข้าสู่ปีที่ 22 สปสช. มีการพัฒนาสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อการดูแลสุขภาพของประชาชน ครอบคลุมทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล.