รายงานพิเศษ 7 : จังหวัดอุบลราชธานี ต้อนรับประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และคณะ
จังหวัดอุบลราชธานี ให้การต้อนรับ ดร.ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ (His Excellency Dr.Frank-Walter Steinmeier) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และนางเอ็ลเคอ บือเดินเบนเดอร์ (Mrs. Elke Büdenbender) ภริยา และคณะในโอกาสเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล (Official Visit) ระหว่างวันที่ 24 – 26 มกราคม 2567 โดยมีกำหนดการเยี่ยมชมแหล่งปลูกข้าวสวนตารมย์ โรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธร และอุทยานแห่งชาติผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี
โดยจุดแรก วันที่ 26 มกราคม 2567 คณะเดินทางไปเยี่ยมชมสวนตารมย์ บ้านดอนหมู อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่แปลงเกษตรสาธิตขนาด 35 ไร่ ของโครงการระบบการผลิตข้าวยั่งยืนแบบองค์รวม (Inclusive Sustainable Rice Landscape: ISRL)
ในการนี้ มีร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย ณัฐวัฒน์ กฤษณามระ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมคณะผู้บริหาร ผู้แทนจากกระทรวงฯ ให้การต้อนรับ
ในส่วนของอุบลราชธานีเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และมีพื้นที่สำหรับทำนาปลูกข้าวมากถึง 4.2 ล้านไร่ สำหรับกำหนดการเยี่ยมชมพื้นที่ครั้งนี้ ประธานาธิบดีและภริยาพร้อมคณะได้มีโอกาสพบปะกับเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของโครงการ และผู้นำชุมชนเพื่อเรียนรู้แนวทางการทำงานผ่านฐานการเรียนรู้วิธีจัดการดินและน้ำ ประกอบด้วยการปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหลักที่จะช่วยลดอัตราการสูญเสียปุ๋ยและทำให้ข้าวได้รับปุ๋ยสม่ำเสมอทั่วกันทั้งแปลงนา ลดการใช้น้ำและเชื้อเพลิงในการปลูกข้าว ด้วยวิธีจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การทำปุ๋ยจากมูลสัตว์เพื่อลดต้นทุนการเกษตร การจัดการฟางข้าวเพื่อนำมาเป็นอาหารสัตว์ ลดการเผาฟางและตอซัง ขุดบ่อน้ำไว้ใช้ในพื้นที่เกษตร พร้อมเลี้ยงปลาเพื่อบริโภคและจำหน่ายเป็นรายได้เสริมของครัวเรือน และปลูกป่าไม้ยืนต้นบนคันนาตามแนวทางวนเกษตร
ความสำคัญ : โครงการระบบการผลิตข้าวยั่งยืนแบบองค์รวม ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility) ผ่านโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme) โดยมีองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ GIZ เป็นผู้ดำเนินโครงการในพื้นที่นำร่องที่จังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดเชียงราย เพื่อสนับสนุนประเด็นด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ลดความเสื่อมโทรมของที่ดิน และบรรเทาผลกระทบของสภาพภูมิอากาศ
และเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง GIZ กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และบริษัทโอแลมอกริ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรเรียนรู้วิธีการจัดการระบบอาหาร ฟื้นฟูสภาพดิน และแนวทางการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์เพื่อปลูกข้าวอย่างยั่งยืน ซึ่งจะนำมาสู่การปฏิบัติที่สามารถเพิ่มผลผลิตและรายได้อย่างมั่นคง พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตรของไทยอย่างเป็นระบบ โดยคาดว่าเกษตรกรกว่า 45,000 คน จะได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการ นำมาสู่การพัฒนาพื้นที่กว่า 652,500 ไร่ ให้เป็นพื้นที่การปลูกข้าวยั่งยืนและสามารถฟื้นพื้นที่สำหรับการปลูกป่าและพืชหมุนเวียนได้มากกว่า 187,500 ไร่ และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการเกษตรไทยได้มากถึง 3.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และลดการใช้สารเคมีในกระบวนการเกษตรได้มากถึง 100 เมตริกตัน ภายในปีสิ้นสุดโครงการ พ.ศ. 2570
สำหรับโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2566-2569 และดำเนินการในจังหวัดเป้าหมาย 2 จังหวัด คือ จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดเชียงราย
นายธนู ทัฬหกิจ ประธานกลุ่มข้าวยั่งยืนบ้านดอนหมู ตำบลขามเปี้ย อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวในฐานะตัวแทนเกษตรกรว่า มาตรฐานข้าวยั่งยืนเกษตรกรในพื้นที่มีความตื่นตัวในการเข้าร่วมโครงการฯ ทำให้กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวยั่งยืนมีสมาชิกเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในระยะเวลาเพียงสองปี อย่างไรก็ตาม พี่น้องเกษตรกรยังจำเป็นต้องรู้จักปรับตัวนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ในการการผลิตข้าวตามมาตรฐานข้าวยั่งยืนเพื่อรับมือกับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนต่อการปลูกข้าวและ สร้างโอกาสให้กับเกษตรกรเข้าสู่ตลาดข้าวใหม่ๆ ในเวทีโลกต่อไป
ทั้งนี้ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ) เป็นองค์กรของรัฐบาลเยอรมนีที่ดำเนินงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน GIZ ปฏิบัติงานในนามของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนทั้งในประเทศเยอรมนีและต่างประเทศ รวมทั้งรัฐบาลของประเทศต่างๆ สหภาพยุโรป องค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก และองค์กรที่ให้ทุนอื่นๆ GIZ ดำเนินงานอยู่ในกว่า 120 ประเทศทั่วโลก
จุดที่ 2 เขื่อนสิรินธร
ดร.ฟรังค์-วัลเทอร์ ซไตน์ไมเออร์ (H.E.Dr.Frank-Walter Steinmeier) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันนีและภริยา และคณะเดินทางไป อ. สิรินธร เพื่อเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าโซล่าร์เชลล์ลอยน้ำไฮบริด เขื่อนสิรินธร
โครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด เขื่อนสิรินธร หนึ่งในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำที่ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เปิดทำการเชิงพาณิชย์แล้ว นับเป็นก้าวย่างที่สำคัญในการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ของแผน เชิงรักษาสิ่งแวดล้อมของไทย
สำหรับ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด เขื่อนสิรินธร เป็นโรงไฟฟ้าโซลาเซลล์ลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบไปด้วย มีแผงโซลาร์เซลล์มากถึง 145,000 แผง แบ่งออกเป็น 7 ชุด บนพื้นที่ 750 ไร่ ซึ่งอยู่บนพื้นที่ผิวน้ำ ในเขื่อนไม่ถึง 1 % ของพื้นที่อ่างเก็บน้ำทั้งหมด โดยเลือกใช้แผงโซลาร์เซลล์และทุ่นลอยน้ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ไม่ส่งผลกระทบกับระบบนิเวศใต้น้ำ
โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำได้ 36 เมกะวัตต์ โดยหม้อแปลงเดิมมีประสิทธิภาพในการรองรับได้ที่ 45 เมกะวัตต์ จึงกำหนดตัวเลขกำลังผลิตไฟฟ้าของโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ จากจำนวนเมกะวัตต์ที่หม้อแปลงเดิมของเขื่อนสิรินธรรับได้ แล้วนำมาใช้ในการสร้างแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 45 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าที่ผลิตได้มาก็จะส่งเข้าสายส่งไฟฟ้าเส้นเดิม ใช้อุปกรณ์หม้อแปลงเดิม ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่เขื่อนสิรินธรมีต้นทุนที่ต่ำ เพราะเราบริหารจัดการใช้ทรัพยากรเดิมที่มีอยู่แล้วให้เต็มประสิทธิ์ภาพ
ความสัมพันธ์กับชุมชน ‘เพื่อให้เป็นโรงไฟฟ้าที่สร้างความมั่นคงทางพลังงาน ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน’ Nature Walk way หรือเส้นทางเดินชมธรรมชาติ ได้สร้างขึ้น เพื่อเป็นจุดเช็คอินของนักท่องเที่ยวให้ได้มาสัมผัสความอัศจรรย์ของแผงโซลาเซลล์ลอยน้ำนับแสนแผง ไปพร้อมกับเรียนรู้ด้านพลังงานสะอาด และมีนักท่องเที่ยวเข้าชมช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์สูงสุดถึงวันละกว่า 2,000 คน ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนและเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย
จุดที่ 3 อุทยานแห่งชาติผาแต้ม
ดร.ฟรังค์-วัลเทอร์ ซไตน์ไมเออร์ (H.E.Dr.Frank-Walter Steinmeier) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันนีและภริยา พร้อมด้วยคณะ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมภาพเขียนสีประวัติศาสตร์อุทยานแห่งชาติผาแต้ม อ.โขงเจียม จ. อุบลราชธานี
อุทยานแห่งชาติผาแต้ม เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดของประเทศไทย สามารถรับชมพระอาทิตย์ขึ้นได้เป็นจุดแรกของประเทศไทย อยู่ในพื้นที่ของจังหวัดอุบลราชธานี จุดที่น่าสนใจคือภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ผาแต้ม และจุดชมพระอาทิตย์แสงแรกแห่งสยาม
อุทยานแห่งชาติผาแต้ม มีพื้นที่ราว 340 ตารางกิโลเมตร มีเนื้อที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอโขงเจียม อำเภอศรีเมืองใหม่ และอำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี ประกอบด้วย สภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่านานาชนิด มีจุดเด่นที่สวยงามตามธรรมชาติมากมาย เช่น ผาชัน น้ำตกสร้อยสวรรค์ เสาเฉลียง ถ้ำปาฏิหาริย์ ภูนาทาม เป็นต้น อีกทั้งยังได้มีการค้นพบภาพเขียนสีโบราณ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว 3,000-4,000 ปี ที่บริเวณผาขาม ผาแต้ม ผาหมอน และเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทยที่มีแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นพรมแดน ระหว่างประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) เป็นแนวเขตอุทยานแห่งชาติที่ยาวที่สุด ทำให้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ป่าเขา ทางฝั่ง(สปป.ลาว)
คำว่า ”แต้ม” เป็นภาษาถิ่นดั้งเดิมหมายถึง รอยวาด ระบาย ประทับ หรือการกระทำด้วยประการใดๆ โดยใช้สี ให้ปรากฏเป็นรูปภาพ เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ต่างๆ โดยที่ผาแต้มนี้ เป็นแหล่งที่พบภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว 3,000-4,000 ปี มี 4 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ยาวที่สุดยาว 180 เมตร และมีภาพมากกว่า 300 ภาพ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ของไทย
การเยือนประเทศไทย และเยี่ยมชมโครงการ สถานที่สำคัญของจังหวัดอุบลราชธานีครั้งนี้ นับเป็นโอกาสที่สำคัญของไทยและเยอรมนี ที่จะสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความร่วมมือ ทั้งในด้านการค้า การลงทุน พลังงาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การท่องเที่ยว และการอาชีวศึกษา เสริมสร้างความสัมพันธ์ เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกันในทุกมิติ ให้มีความก้าวหน้าบนพื้นฐานของค่านิยมและผลประโยชน์ร่วมกัน นำไปสู่การยกระดับความสัมพันธ์สู่ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ตลอดจนส่งเสริมภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของไทยในเวทีระหว่างประเทศ.
………
- ปัญญา แพงเหล่า/รายงาน
มกราคม 2567