สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ เสด็จทอดพระเนตรการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยฯ จ.อุบลราชธานี

   เมื่อ : 23 ก.พ. 2567

            22 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13.00 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จถึงสนามบินจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พลตรีอัครพนธ์ มูลประดับ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 22 พลตำรวจตรีประสงค์ เรืองเดช ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี ว่าที่ร้อยตรีอัธยา ลาภมาก ผู้อำนวยการท่าอากาศยานอุบลราชธานี พร้อมด้วย ผศ.จุรีรัตน์ กอเจริญยศ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดอุบลราชธานี นางพรรธิดา มูลประดับ ประธานสมาคมแม่บ้านทหารบกสาขามณฑลทหารบกที่ 22 นางอุทัยวรรณ โพทิพยวงศ์ ผู้แทน ประธานแม่บ้าน ตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี นางสาวศุภรดา สุดา ผู้แทน ภริยาผู้อำนวยการท่าอากาศยานอุบลราชธานี และ หัวหน้าส่วนราชการ เฝ้ารับเสด็จฯ และถวายมาลัยกร

            จากนั้น เสด็จไปยังหอประชุมไพรพะยอม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี อำเภอเมืองฯ จังหวัดอุบลราชธานี ทอดพระเนตรนิทรรศการและการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ชัยภูมิ นครพนม บึงกาฬ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษสกลนคร สุรินทร์ หนองคายอำนาจเจริญ อุดรธานี และอุบลราชธานี รวม 29 กลุ่ม รวมทั้งกลุ่มศิลปะชีพจังหวัดสกลนคร

            ในการนี้ ได้พระราชทานหนังสือจากโครงการตามแนวพระดำริ ผ้าไทยใส่ให้สนุก อาทิ ผ้าไหมยกลายดอกพิกุลของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านน้อยนาเจริญจังหวัดศรีสะเกษ มีการให้สีที่ละมุนมากขึ้นด้วยสีพาสเทล ผ้าลายลอดช่องปุยฝ้าย ของกลุ่มแปรรูปทำมือจังหวัดมุกดาหาร นำปุยฝ้ายของดอกฝ้ายมาทอด้วยการสอดปุยฝ้ายใส่ระหว่างช่องของเส้นยืนให้เกิดลวดลาย และกระเป๋ากกของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาจังหวัดนครพนม ผสมผสานการเย็บตกแต่งด้วยหนัง ผ้าไหมแพรวาของกลุ่มชุมชนภูไทดำกาฬสินธุ์ นำลายแพรวาโบราณมาปรับรูปแบบใหม่ใช้เส้นใหม่ให้ลายชัดเจนขึ้น ผ้าไหมมัดหมี่ลายเกลียวใจของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตลาดน้ำริมโขงเขมราฐอุบลราชธานีเป็นลายปักงานมงคลนำมาออกแบบสร้างสรรค์ให้เข้ากับยุคสมัยใหม่และผ้ายกดอกลายโบราณลายเทพพนม ของกลุ่มทอผ้ายกดอกลายโบราณจังหวัดร้อยเอ็ด ปรับลายที่เล็กลงย้อมด้วยสีธรรมชาติโดยทอผ้ายกดอกด้วยดิ้นทองเส้นยืนและเส้นพุ่งเป็นใหม่ใช้สีเปลือกมะพร้าวอ่อนและสีครั่ง

            โอกาสนี้ พระราชทานพระราชวโรกาสให้สมาชิกมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพผู้ผลิตและผู้ประกอบการเฝ้าถวายงาน การบ้าน โดยทรงนำประสบการณ์จากการทรงงาน ทรงศึกษาผ้าทอพื้นเมือง และพระปรีชาสามารถด้านการออกแบบที่นำสมัย พระราชทานคำแนะนำในการปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อยกระดับคุณภาพและมูลค่าผลิตภัณฑ์ของสมาชิกอาทิ เซรามิคจากศูนย์ศิลปาชีพบ้านกุดนาขามจังหวัดสกลนคร กลุ่มงานตะกร้าที่เผาให้มีน้ำหนักเบาขึ้นแล้ว พระราชทานคำแนะนำ นอกจากเป็นเนื้อเงาแล้วให้ทำเป็นเนื้อด้าน และปั้นของตกแต่งให้เป็นดอกไม้ไทย เพิ่มรูปแบบให้หลากหลาย ผลิตภัณฑ์จักสานไม้ไผ่ จากโครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านดอนคำเสนานวมินทร์สกลนคร เปลี่ยนจากสีเคมีเป็นสีธรรมชาติทั้งหมด ปรับรูปทรงและขนาดให้มีความหลากหลายมากขึ้น ผ้าไหมจากโครงการส่งเสริมศิลปาชีพ อำเภอห้วยทับทันศรีสะเกษ ย้อมใหม่ด้วยสีธรรมชาติ เช่น สีน้ำเงินจากคราม สีแดงจากครั่ง พระราชทานคำแนะนำให้เพิ่มลำมี และมัดหมี่ให้เล็กลง

            ในการนี้ มีรับสั่งให้ฟื้นฟูผ้าอัญญานาง ผ้าโบราณของอำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี ทั้งนี้โปรดให้คณะที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ได้แก่วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และการย้อมสีธรรมชาติ ดีไซเนอร์ชั้นนำของประเทศ ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดเช่น การพัฒนาบรรจุภัณฑ์

            สำหรับการจัดนิทรรศการการแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการภายใต้โครงการพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงภูมิปัญญาชุมชนไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถผู้นำชุมชน ผู้ประกอบการ OTOP หรือกลุ่มอาชีพในการนำแนวคิดสมัยใหม่ มาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาชุมชนไทย ให้แข่งขันในตลาดสากล และมีองค์ความรู้สามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดสู่คนอื่นในชุมชนได้ โดยน้อมนำแนวพระดำริ ”ผ้าไทย ให้สนุก” มาส่งเสริมและพัฒนาภูมิปัญญาผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชน เพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน

            นิทรรศการผ้าไทยลายอัตลักษณ์ประจำจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ ผ้ามัดหมี่ลายหมี่คั่นขอนารี จังหวัดชัยภูมิ ผ้ามุกนครพนม ผ้าลายสาเกตของร้อยเอ็ด ผ้าเหยียบลายลูกแก้วของศรีสะเกษ ผ้ายกดอกหลายโค้งภูพานของกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านคำประมงอำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร รวมทั้งการสาธิตทำเครื่องทองเหลืองจากศูนย์อนุรักษ์หัตถกรรมหล่อทองเหลืองบ้านปะอ่าวอุบลราชธานี ชุมชนเก่าแก่กว่า 200 ปี หล่อทองเหลืองแบบโบราณที่สืบทอดมา เรียกว่าการหล่อแบบการศูนย์ขี้ผึ้ง ในการนี้ ทอดพระเนตรการแสดงวงโปงลางบัวอุบลมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีผลงานของนักศึกษาและคณาจารย์ สาขาวิชานาฏศิลป์และการละคร

            เวลา 16:15 น เสด็จไปทอดพระเนตรบ้านคำปุ่นอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ของนางคำปุน ศรีใส ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ประเภทประยุกต์ศิลป์ ประณีตศิลป์ทอผ้าปี 2537 เดิมเป็นกิจกรรมทอผ้าไหม ผลิต ถักทอผ้าไหมชั้นดีและมีชื่อเสียงของจังหวัดอุบลราชธานี โดยนางคำปุนฯ เรียนรู้การทอผ้ามาจากมารดา ซึ่งมีชื่อเสียงในการทอผ้าของจังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันบ้านคำปุนเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้กระบวนการถักทอดั้งเดิมของท้องถิ่น โดยมีนายมีชัย แต้สุจริยา ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ทอผ้าพุทธศักราช 2564 บุตรเป็นผู้ดูแล จากนั้น ทรงวางพวงมาลัยถวายสักการะ พระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปไม้โบราณศิลปะล้านช้าง ทอดพระเนตรนิทรรศการผ้าภายในหอพระ 

            โอกาสนี้ ทรงพระราชทานลายผ้าพระราชทาน ”ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” แก่แพทย์หญิงพักตร์พิไล ทวีสิน ภริยานายกรัฐมนตรี นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และนางสาวธนนนท์ นิรามิษ ภริยารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อเชิญไปมอบแก่ศิลปินช่างทอผ้าและหัตถกรรมไทยทั่วประเทศ ซึ่ง ”ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” นี้ เป็นลายที่ได้ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายผืนผ้าจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และทรงนำมาออกแบบลายพระราชทาน เนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 6 รอบ 72 พรรษา โดยมีลายพระราชทานหลัก จำนวน 4 ลาย ได้แก่ 

            ”ลายวชิรภักดิ์” ที่ได้รับแรงบันดาลพระทัยจากอักษร “ว” ซึ่งเป็นอักษรพระปรมาภิไธยตัวแรกในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว, ”ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ 2567” ที่ทรงออกแบบต่อยอดจากลายพระราชทานลำดับแรก ”ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”, ”ลายหัวใจ” สื่อถึงความรักและความห่วงใยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทยในทุกภาคทั่วประเทศ และ ”ลายดอกรักราษฎร์ภักดี” โดยทรงออกแบบต่อยอดจากลายพระราชทาน ”ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” สื่อถึงความรักและความภักดีของประชาชนชาวไทยที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และพระบรมราชจักรีวงศ์ โดยพระราชทานแบบตั้งต้นไว้ 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทผ้ากาบบัว, ประเภทผ้ายก, จก, ขิด, แพรวา, ประเภทผ้ามัดหมี่ และประเภทผ้าบาติก ซึ่งสามารถนำลายพระราชทานหลัก ทั้ง 4 ลายนี้ ไปถักทอผสมผสานกับลวดลายภูมิปัญญาพื้นถิ่นตามความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคง ยังผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนต่อไป

            ก่อนเสด็จกลับ ทอดพระเนตรการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่น ชุด สิริวชิรายุ - อุบลราษฎร์ภักดี (Siri Vajirayu Ubonrathbhakdi) ที่เป็นการรวมพลังความรักสามัคคีของเด็กและเยาวชนชุมชนบ้านหนองบ่อ นำเสนอการฟ้อนกลองตุ้มในชุดผ้าเมืองอุบลดั้งเดิมที่เป็นเอกลักษณ์ ติดตามด้วยการฟ้อนผ้ากาบบัวของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ศิลปินหมอลำวัยรุ่น เต๋า ภูศิลป์ อีกทั้งคณะฟ้อนถวายการต้อนรับของช่างทอผ้าบ้านคำปุน ทั้งมาลัยสาย และธงอีสานประกอบความงามของชุดการแสดงนี้ โดยนักเรียนระดับมัธยมศึกษาของโรงเรียนวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี สร้างความปลื้มปีติยินดีและสำนึกในพระกรุณาคุณ อย่างหาที่สุดมิได้.