รัฐบาลไทย จัดพิธีรับการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ จากสาธารณรัฐอินเดีย

   เมื่อ : 23 ก.พ. 2567

            ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ (เวลา ๑๕.๐๐ น.) นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เป็นประธานในพิธีรับการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ จากสาธารณรัฐอินเดีย มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ ประเทศไทย เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ - ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๗ พร้อมด้วยนายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางลาลีวรรณ กาญจนจารี ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวกานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวเพ็ญพิสุทธิ์ จินตโสภณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมพิธี ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร 

            โดยในเวลา ๑๔.๐๐ น. อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุฯ จากท่าอากาศยานทหาร ๒ กองบิน ๖ ดอนเมือง ถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายอินเดีย พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม อัญเชิญเข้าสู่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย จากนั้น เวลา ๑๕.๐๐ น. นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และผู้แทนฝ่ายอินเดีย ร่วมกล่าวถึงพิธีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุฯ และลงนาม MOU ร่วมกัน

            การอัญเชิญมาครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ในรอบ ๒,๕๖๗ ปี ที่พระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระอัครสาววกทั้งสององค์เสด็จมาพร้อมกันในครั้งนี้ โดยจะมีการบรรจุอยู่ในผอบทรงเจดีย์ลวดลายแบบไทยประเพณีสำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ที่สร้างขึ้นเป็นการเฉพาะ โดยช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร และยังได้จัดสร้างมณฑปสถาปัตยกรรมไทยประเพณี ประดิษฐาน ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ออกแบบโดยสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร 

            ในวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ เวลา ๑๕.๐๐ น. มีพิธีรับการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุฯ จากอากาศยานทหาร ๒ กองบิน ๖ ดอนเมือง โดยมีสมเด็จพระธีรญาณมุนี เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ เจริญชัยมงคลคาถา จากนั้นอัญเชิญมายังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ เวลา ๑๗.๐๐ น. ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ได้รับพระเมตตาอย่างสูงยิ่งที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ  สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมตตาเป็นองค์ประธานฝ่ายสงฆ์ในพิธี และมีพิธีอัญเชิญประดิษฐาน โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นผู้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุฯ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อัญเชิญพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตร นายเสริมศักดิ์ พงษ์พาณิช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้อัญเชิญพระอรหันตธาตุของพระพระโมคคัลลานะ พร้อมด้วยผู้แทนฝ่ายอินเดีย ได้จัดริ้วขบวนอัญเชิญอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา โดยจัดเป็นขบวนโคม ขบวนการแสดง ๔ ภาค การแสดงกลุ่มชาติพันธุ์ การแสดงจากอินเดีย ขบวนธงชาติไทย ธงชาติอินเดีย ธงธรรมจักร และธงฉัพพรรณรังสี ขบวนโคมประทีปและโคมดอกบัว ขบวนรถมาฆบูชาประดิษฐานพระพุทธรูปปางแสดงโอวาทปาติโมกข์ รถบุปผาชาติประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ ขบวนเฉลิมพระเกียรติ และขบวนจิตอาสา เป็นต้น

            หลังจากนั้นเปิดให้ประชาชนเข้าสักการบูชา ตั้งแต่วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ - ๓ มีนาคม ๒๕๖๗ เวลา ๐๙.๐๐ – ๒๐.๐๐ น. ในส่วนภูมิภาค อัญเชิญไปประดิษฐานในส่วนภูมิภาคใน ๓ จังหวัด ให้ประชาชนได้เข้าสักการบูชา เวลา ๐๙.๐๐ – ๒๐.๐๐ น. ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ ๕ - ๘ มีนาคม ๒๕๖๗ ณ หอคำหลวง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ ๑๐ - ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๗ ณ วัดมหาวนาราม จังหวัดอุบลราชธานี และภาคใต้ ระหว่างวันที่ ๑๕ - ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๗ ณ วัดมหาธาตุวชิรมงคล จังหวัดกระบี่ 

            โดยในทุกวันตั้งแต่เวลา ๑๗.๐๐ น. เป็นต้นไป จะจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์เสริมสิริมงคลให้กับศาสนิกชนที่เข้ากราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ โดยแต่ละพื้นที่จะมีพิธีเจริญพระพุทธมนต์ตามอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่อย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรม มุ่งหวังให้พุทธศาสนิกชน ประชาชนโดยทั่วไปทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ รวมถึงศาสนิกชนที่พำนักอยู่ในต่างประเทศและประเทศเพื่อนบ้านได้มีโอกาสมาสักการะพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุฯ ครั้งหนึ่งในชีวิต ด้วยการนำหลักธรรม ความเชื่อของศาสนาเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงความร่วมมือด้านศาสนาและส่งเสริมคุณธรรมของประชาคมโลกเพื่อสร้างความสงบสุขแก่มวลมนุษยชาติ เพื่อความเป็นสิริมงคล รวมทั้งได้ร่วมสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่อย่างมั่นคง ยั่งยืนสืบไป.