ประธานาธิบดีเยอรมนี ชมภาพเขียนสีอายุกว่า 3 พันปี แหล่งท่องเที่ยวสุด UNSEEN THAILAND ที่ ผาแต้ม อุบลฯ

   เมื่อ : 27 ม.ค. 2567

            26 ม.ค. 2567 ดร.ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี พร้อมภริยา และคณะ ได้เดินทางมาเยี่ยมชมภาพเขียนสีอายุกว่า 3 พันปี ที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ซึ่ง “ผาแต้ม” ในความหมายของชาวอีสาน หมายถึง ผาที่มีสีไประบายหรือเขียนเป็นรูปต่างๆ เอาไว้ โดยผาแต้มของอุทยานแห่งชาติผาแต้ม มีลักษณะเป็นเทือกเขาหินทรายขนานไปกับริมฝั่งโขง กั้นพรมแดนไทย-ลาว ตรงส่วนชะง่อนผาด้านล่าง ยาวประมาณ 180 เมตร สูงราว 40 เมตร มีการสำรวจพบภาพเขียนสีโบราณอายุกว่า 3,000 ปี นับเป็นกลุ่มภาพเขียนสีโบราณที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย

            ลักษณะภาพเขียนถูกแต่งแต้มเป็นลวดลายแตกต่างกัน พบแบ่งเป็นกลุ่มๆ ได้ 5 กลุ่ม ได้แก่ ภาพฝ่ามือ ภาพรูปร่างคน ภาพสัตว์ ภาพวัตถุสิ่งของเครื่องใช้ และ ภาพทรงเรขาคณิต ส่วนใหญ่ภาพเขียนบริเวณนี้เขียนด้วยสีแดง โดยการใช้แร่ฮีเมไทต์ หรืออาจเป็นเครื่องปั้นดินเผา ในสมัยนั้นนำมาป่นเป็นผงผสมไข่ขาว น้ำมันพืช หรือยางไม้ อย่างใดอย่างหนึ่ง วาดเขียนเป็นภาพสัตว์ จะเห็นภาพสัดส่วนที่ใหญ่ราวกับขนาดจริง เช่น ช้าง ปลาบึก เต่า ตะพาบน้ำ เป็นต้น 

            นอกจากนี้ยังมีภาพที่เด่นชัด เป็นรูปคล้ายสามเหลี่ยม 2 รูปต่อกัน สันนิษฐานว่าเป็นรูปเครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่ง ภาษาถิ่นอีสานเรียกว่า ตุ้ม ซึ่งเป็นเครื่องจักสานทำจากไม้ไผ่ นอกจากนี้ยังมีภาพวาดที่เป็นลายเส้นลูกคลื่น บางคนให้ความเห็นว่าอาจเป็นสัญลักษณ์แทนน้ำต่อเนื่องกันมา ในกลุ่มหินบริเวณนี้จะมีภาพวัวป่า ภาพหมา ซึ่งเป็นการเขียนแบบโครงร่างภายนอก ภาพหมาป่าวิ่งเรียงกันเป็นแถว และภาพสัตว์ 4 เท้าไม่ทราบชนิดเพราะลบเลือนอีกจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ยังเห็นลายเส้นที่เป็นลายลูกคลื่นที่ชัดเจน บ้างให้ความเห็นว่าอาจจะเป็นสัญลักษณ์แทน น้ำ นั้นก็คือแม่น้ำโขงที่อยู่บริเวณใกล้เคียงที่สุด ในจุดนี้จะเห็นความแตกต่างของชั้นหินชัดเจนมากขึ้น ภาพเขียนสีมีทั้งแบบวาดภาพแบบประทับ ล้วนเกิดจากฝีมือของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ 

            การเข้าเยี่ยมชมครั้งนี้ ยังเป็นการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวของไทย ให้แก่คณะไปยังนักท่องเที่ยว นักลงทุน ชาวเยอรมนี ให้มีความสนใจที่จะมาท่องเที่ยวในไทย อีกทั้งยังเป็นส่วนที่จะมาส่งเสริมสนับสนุนการค้า การลงทุน และสัมพันธไมตรีที่ดีร่วมกันต่อไป.