ปลัด มท. สั่งการผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ยกระดับการสร้างความมั่นคงทางอาหารในสถานศึกษาสังกัด อปท.
24 ม.ค. 2567 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงผลสำเร็จของการดำเนินการตามแนวทางการขับเคลื่อนการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ”บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ ”ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอทั่วประเทศได้เป็นผู้นำการบูรณาการหน่วยงานและภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้ทุกครัวเรือนได้มีการปลูกพืชผักสวนครัว ส่งผลให้พี่น้องประชาชนลดรายจ่ายครัวเรือน และประการที่สำคัญ คือ ทุกครัวเรือนได้มีพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพรที่ปลอดภัยไว้บริโภคในครัวเรือนโดยไม่พึ่งพาสารเคมี
“เพื่อให้การขับเคลื่อนการสร้างความมั่นคงทางอาหารเกิดความต่อเนื่องและได้รับการยกระดับการสร้างความมั่นคงทางอาหารที่เพิ่มพูนขึ้น กระทรวงมหาดไทยจึงได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดแจ้งไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ส่งเสริมให้มีการเลี้ยงไก่ไข่หรือการปศุสัตว์อื่น เพื่อสนับสนุนให้เด็กปฐมวัย เด็กนักเรียน ได้รับประทานไข่ไก่หรือเนื้อสัตว์ ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการ โดยเฉพาะไข่ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากมาย เป็นแหล่งโปรตีน ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ มากมาย อาทิ วิตามินเอ วิตามินบีและบี 12 วิตามินดี ไอโอดีน โฟเลต โอเมก้า ฯลฯ ซึ่งจะช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของอวัยวะในร่างกาย ช่วยให้ฟันและกระดูกแข็งแรง ลดการอักเสบของข้อต่อ ช่วยลดความเสี่ยง ต่อการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม ช่วยสร้างภูมิต้านทาน บำรุงสมอง ทำให้ร่างกายแข็งแรง อีกทั้ง นำมาประกอบอาหารได้ง่าย หลากหลายประเภททั้งต้ม ทอด หรือจะนำไปประกอบกับอาหารอื่นๆ อีกมากมาย
และที่สำคัญคือ สามารถเลี้ยงสัตว์ที่ผลิตไข่ออกมาให้บริโภคได้ เช่น เป็ด ไก่ โดยไม่ได้ใช้ต้นทุนที่สูงเกินไป และเป็นวิถีชีวิตของคนไทยมาแต่เนิ่นนาน โดยนายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ และภาคีเครือข่ายต่างๆ อาทิ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ต้องร่วมบูรณาการ ช่วยกันในการขับเคลื่อนการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ทำให้เด็กปฐมวัยและเด็กนักเรียนที่อยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอ และเน้นย้ำให้ทุกอำเภอช่วยกันรณรงค์ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการให้ทุกครัวเรือนได้มีการเลี้ยงไก่พื้นเมืองหรือไก่พันธุ์ไข่ ให้มากกว่าจำนวนคนในครอบครัว เพื่อให้มีไข่บริโภคทุกวันอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและเด็กในโรงเรียนได้มีการเลี้ยงไก่ประจำตัว อาทิ นักเรียน 1 คนต่อไก่ 2 ตัว เพื่อให้พร้อมมีไข่เป็นอาหารเสริมสำหรับมื้อกลางวันเพิ่มเติมครบถ้วนทุกคน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า การสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืนให้กับลูก ๆ หลาน ๆ นอกจากการขับเคลื่อนให้มีการปลูกพืชผักสวนครัว และจัดให้มีเลี้ยงไข่ไก่หรือปศุสัตว์อื่นแล้ว สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ”การเสริมสร้างองค์ความรู้” โดยให้จังหวัดประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสถานศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการให้ความรู้แก่ผู้บริหาร ครู บุคลากร เด็กปฐมวัย เด็กนักเรียนในสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกี่ยวกับการรณรงค์ส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวสมุนไพรปลอดสารพิษ ตลอดจนการเลี้ยงไก่ไข่หรือปศุสัตว์อื่นสำหรับนำมาใช้ประกอบอาหารกลางวัน และสนับสนุน/ช่วยเหลือในด้านการสร้างโรงเรือนหรือการจัดพื้นที่สำหรับเลี้ยงไก่ไข่หรือปศุสัตว์อื่นของสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับสภาพและขนาดของพื้นที่เป็นสำคัญ รวมไปถึงการจัดหาพันธุ์ไก่ไข่หรือปศุสัตว์อื่นที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า คำว่า ”ความยั่งยืน” จะเกิดผลเป็นรูปธรรมได้นั้น ต้องขยายผลถ่ายทอดสู่เด็ก เยาวชน เพื่อให้ได้รับการบ่มเพาะ ด้วยการส่งเสริมให้เด็กปฐมวัย เด็กนักเรียน ได้เรียนรู้ แบ่งภารกิจหน้าที่ ทั้งการปลูกผักสวนครัวหรือสมุนไพรปลอดสารพิษ ตลอดจนการเลี้ยงไก่ไข่หรือปศุสัตว์อื่นจากการลงมือปฏิบัติจริง (Active Learning) จนเกิดทักษะชีวิตในการอยู่อย่างพอเพียง และให้สถานศึกษาได้นำผลผลิตที่ได้จากการปลูกผักสวนครัว สมุนไพรปลอดสารพิษ และไข่ไก่มาใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารกลางวันของสถานศึกษาอย่างน้อยคนละ 2 ฟองต่อวัน ตลอดจนรณรงค์ส่งเสริมให้ผู้ปกครองช่วยกันปลูกผักสวนครัว สมุนไพรปลอดสารพิษหรือนำไข่ไก่มาใช้ประกอบอาหารที่บ้าน เพื่อให้เด็กปฐมวัย เด็กนักเรียนได้รับประทานไข่ไก่ ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการและเป็นแหล่งโปรตีนอย่างสม่ำเสมอและปลอดภัย ถือเป็นการเชื่อมโยงความรู้สู่ครอบครัวและชุมชน
”ขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอ ตลอดจนผู้นำท้องถิ่นท้องที่ ได้ช่วยกันเป็นผู้นำภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีเครือข่ายอันประกอบไปด้วย ภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคศาสนา ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคสื่อสารมวลชน ร่วมกันสนับสนุนการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับลูก ๆ หลาน ๆ ของเราในสถานศึกษาทั้งสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทุกสังกัด ตลอดจนถึงชุมชน ได้มีแหล่งโภชนาการอันอุดมสมบูรณ์จากแร่ธาตุทางอาหาร วิตามินชนิดต่างๆ ด้วยพืชผักสวนครัวและโปรตีนที่สูงจากไข่ไก่ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญให้ลูก ๆ หลาน ๆ ของเรามีร่างกายที่แข็งแรงทั้งร่างกายและสติปัญญา พร้อมที่จะศึกษาเล่าเรียนและบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม อันเป็นรากฐานสำคัญในการเป็นพลเมืองดีของประเทศชาติอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย.
Cr.กองสารนิเทศ สป.มท.