ครม. ไฟเขียว ประกาศลดค่าพลังงานงวดใหม่ ทั้งไฟฟ้า น้ำมัน และก๊าซหุงต้ม
ครม. มติเห็นชอบมาตรการลดค่าครองชีพด้านพลังงานให้แก่ประชาชนเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนและภาคธุรกิจที่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนเพื่อให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจผ่านต้นทุนพลังงาน 3 ชนิด คือ ค่าไฟฟ้า น้ำมันดีเซล และก๊าซ LPG
มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า
• ประชาชนทั่วไป - ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาดำเนินการตรึงอัตราค่าไฟฟ้าที่ประกาศเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้ารอบเดือนมกราคม 2567 ถึงเดือนเมษายน 2567 ในอัตราไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย โดยจะมีการพิจารณาต้นทุนก๊าซธรรมชาติเพื่อสรุปค่าไฟที่จะจัดเก็บในงวดเดือนดังกล่าวต่อไป
• กลุ่มเปราะบาง - ช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้า ไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน จะคงไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะเป็นการลดเป็นเวลา 4 เดือน ครอบคลุมรอบบิล มกราคม - เมษายน 2567 โดยคาดว่าจะมีกลุ่มเปราะบางที่ได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการรวมทั้งสิ้นประมาณ 17.77 ล้านราย
ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวเป็นไปตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่สั่งให้ทบทวนมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ให้ปรับค่าเอฟทีงวดเดือน ม.ค. - เม.ย. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฐานจะทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะกระทบกับประชาชนที่มีรายได้น้อย ภาคธุรกิจSMEs ที่กำลังฟื้นตัว และการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ
อย่างไรก็ตาม นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวย้ำว่า มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเหล่านี้ เป็นการแบ่งเบาภาระให้ประชาชนระยะสั้น บนระบบและโครงสร้างราคาพลังงานที่มีการใช้มากว่า 40 ปี ซึ่งการแก้ปัญหา ระยะยาว ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างแล้วแต่ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการเนื่องจากมีความซับซ้อนแต่จะเดินหน้าแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างเพื่อทำให้ประชาชนได้ใช้พลังงานในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม
มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิง
• ราคาน้ำมันดีเซล ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 โดยใช้กลไกของภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (หากไม่มีการตรึงราคาอาจทำให้ราคาขายปลีกอยู่ที่ 35 - 37 บาทต่อลิตร ซึ่งจะกระทบต้นทุนภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง และเงินเฟ้อ จากต้นทุนสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น)
• สำหรับกลุ่มน้ำมันเบนซิน มีมาตรการลดภาษีสรรพสามิตรตามสัดส่วนของเนื้อน้ำมันเบนซินที่ใช้เป็นส่วนผสม เป็นเวลา 3 เดือนตั้งแต่ 7 พ.ย.66 (น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ลดลง 2.50 บาทต่อลิตร น้ำมันเบนซิน 95 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ลดลง 1 บาทต่อลิตร น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 และ E85 ลดลง 80 สตางค์ต่อลิตร)ซึ่งขณะนี้ยังไม่สิ้นสุดมาตรการ แต่เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาแล้วกระทรวงพลังงานจะพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง
มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านก๊าซหุงต้ม
• ราคา LPG ตรึงราคาขายปลีก LPG ที่ระดับ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 โดยผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (เป็นมาตรการต่อเนื่องตั้งแต่ 1 ต.ค. - 31 ธ.ค.66 ในการคงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นที่ 20.9179 บาท/กก. โดยกองทุนน้ำมันชดเชยอยู่ที่ประมาณ 4.6 บาท/กก.)
หน่วยงานด้านพลังงานขานรับมาตรการ
• บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) - PTT Station ไม่ปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันทุกชนิด ตลอด 10 วัน ในช่วงระหว่างวันที่ 24 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 3 มกราคม 2567
• การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย - จัดแคมเปญฉลากเบอร์ 5 โฉมใหม่ ลุ้นโชคใหญ่ โดยการมอบสิทธิส่วนลด ซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ติดฉลากเบอร์ 5 ใหม่ รวม 15,000 สิทธิ ณ ห้างสรรพสินค้าที่ร่วมรายการ ดังนี้ Home Pro, MEGA HOME, The Mall, ไทวัสดุ, Power Buy, Power Mall, Paragon, Emporium รับสิทธิตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 หรือจนกว่าสิทธิจะหมด
• การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) -
ขยายระยะเวลางดจ่ายไฟฟ้า สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่มีค่าไฟไม่เกิน 300 บาทต่อเดือน โดยขยายวันครบกำหนดชำระค่าไฟฟ้าจากเดิม 1 เดือน เป็น 3 เดือน ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือน พ.ย. 66 - พ.ย. 67 ซึ่งมาตรการนี้ครอบคลุมประชาชน 7.6 ล้านราย แยกเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าของ กฟน. 600,000 ราย และ กฟภ. 7 ล้านราย