เล่าเรื่อง เมืองอุบล EP.9 : เวินบึก…หมู่บ้านชายแดนไทย-ลาว ตะวันออกสุดริมฝั่งโขง
จังหวัดอุบลราชธานี มีประวัติศาสตร์และความสำคัญมายาวนานกว่า 200 ปี มีขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามเป็นเอกลักษณ์สืบทอดมาถึงอนุชนรุ่นหลัง โดดเด่นทั้งด้านการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมอันล้ำค่า สมญานามเมือง “นักปราชญ์”
บ้านเวินบึก หมู่บ้านหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งอยู่ในเขตอำเภอโขงเจียมตะวันออกสุด มองเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นก่อนใครในสยาม เป็นที่ตั้งหมู่บ้านสุดท้ายริมฝั่งแม่น้ำโขงชายแดนไทยก่อนจะไหลเข้าสู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)
ประวัติความเป็นมาของบ้านเวินบึก ก่อตั้งขึ้นราวปี พ.ศ.2457 ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ข่าหรือบรู ที่ได้อพยพมาจากประเทศลาวและมาตั้งถิ่นฐานอยู่ริมแม่น้ำโขง ทางทิศตะวันออกของอำเภอโขงเจียม เนื่องจากหนีภัยความไม่สงบของสงครามในประเทศ เมื่อคราวสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ชาวบรูอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย
ต่อมาในสมัย อำมาตย์เอก หลวงแก้ว กาญจนเขตต์ เป็นนายอำเภอ นายลี พึ่งป่า ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านคนแรก และชาวบรูเริ่มมีนามสกุลใช้ในสมัยรองอำมาตย์เอกหลวงแก้ว กาญจนเขตต์ เพื่อประโยชน์ในด้านการปกครอง จึงได้ทำการเปลี่ยนนามสกุลให้กับชาวบรู เพื่อที่จะขึ้นสถานะเป็นคนไทยและใช้ประโยชน์ในด้านการปกครอง
เครือญาติและชาติพันธุ์ ประชากรในหมู่บ้านเวินบึกมี 142 ครัวเรือน และมีประชากรทั้งหมด 656 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์บรู ที่อพยพหนีภัยสงครามมาจากประเทศลาว ชาวบรูมีความกตัญญูต่อพ่อแม่เป็นคุณธรรมที่สำคัญและสืบทอดกันมาปลูกฝังในครอบครัว ที่เมื่อแต่งงานและแยกตัวออกจากที่บ้านไปแล้ว จะกลับมาอยู่ในบ้านของพ่อแม่อีกไม่ได้ ต้องให้อยู่บริเวณใกล้ๆ บ้านเท่านั้น ถ้าต้องการกลับเข้ามาอยู่ใหม่ต้องมีการเสียผี เช่น หมู ไก่ ข้อห้ามเรื่องการแต่งงานของชาวบรู คือห้ามแต่งงานกับคนที่อยู่ในตระกูลเดียวกัน จะต้องแต่งกับตระกลูอื่นหรือหมู่บ้านอื่นเท่านั้น
วิถีชีวิตและความเชื่อ ชาวบรูบ้านเวินบึกส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ เหมือนกับชาวอีสานทั่วไป แต่ก็ยังมีการนับถือผีควบคู่ไปกับการนับถือพุทธศาสนา ผีที่ชาวบรูบ้านเวินบึกนับถือคือผีประจำเผ่า ผีบรรพบุรุษ เรียกว่า ผีไถ้ ในการนับถือผีต่างๆ เหล่านี้ มีการนับถือมาตั้งแต่บรรพบุรุษที่อาศัยอยู่ในประเทศลาว เมื่ออพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ได้นำผีประจำเผ่าเข้ามาด้วยเรียกผีประจำเผ่า ผีเจียว เมื่ออพยพเข้ามาแล้วได้อัญเชิญมาตั้งอยู่ที่หมู่บ้าน เรียกว่า ผีอะแย้ะจำนัก หรือเรียกว่า เจ้าหอปู่ตา จนถึงปัจจุบัน
นายกิ คำบุญเรือง อดีตผู้ใหญ่บ้าน ได้ให้ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติและที่มาของบ้านเวินบึกว่า เมื่อประมาณ 100 กว่าปีที่ผ่านมา มีบรรดาปู่ ย่า ตายาย ได้อพยพครอบครัวจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เมืองปากเซ แขวงนครจำปาสัก ข้ามมาอยู่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงที่ตั้งของหมู่บ้านในปัจจุบัน และต่อมาเมื่อมีการประกาศคืนดินแดน และเมืองจำปาสัก กลับไปเป็นของ สปป.ลาว ส่วนประชาชนชาวบ้านเวินบึกยังคงปักหลักตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เดิมและเป็นหมู่บ้านเดียวที่อยู่ชายแดนตะวันออกสุดของประเทศไทย
จากแนวเขตพรมแดนเรียบฝั่งแม่น้ำโขงที่กั้นชายแดนระหว่างประเทศไทยกับ สปป.ลาว เริ่มจากภาคเหนือ ที่ จ.เชียงราย อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น และจุดที่สองเริ่มจาก จ.เลย อ.เชียงคาน ผ่าน จ.หนองคาย นครพนม มุกดาหารอำนาจเจริญ และอุบลราชธานี จุดสุดท้ายชายแดนริมฝั่งแม่น้ำโขงที่บ้านเวินบึก อ.โขงเขียม รวมเป็นระยะทางกว่า 800 กิโลเมตร และมีเขตพรมแดนด้านที่เหลือติดกับ สปป.ลาว ห่างจากโรงเรียนบ้านเวินบึกประมาณ 2 กิโลเมตร มีภูเขาและป่าไม้กั้นแนวเขตไว้ นอกจากการอพยพมาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินแล้ว ยังมีที่มาของความเป็นมาของที่ตั้งของหมู่บ้านนี้ด้วย
เนื่องจากทำเลที่ตั้งหมู่บ้านอยู่บริเวณสามเหลี่ยมปากมูล คือ แม่น้ำมูลไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขงที่ อ.โขงเจียม และห่างจากปากมูลลงไปในแม่น้ำโขง จะมีแหล่งที่อยู่อาศัยของปลานานาชนิดจำนวนมาก มีคุ้งน้ำขนาดใหญ่ประมาณ 5 ตารางกิโลเมตร ชาวบ้านเรียกว่า “เวิน” หรือวังน้ำวน ลักษณะเป็นรูปแอ่งกระทะมีความลึกประมาณ 10-60 เมตร เคยเป็นที่อยู่อาศัยของปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ คือ ปลาบึก มีชาวบ้านแถบนี้จับได้เป็นประจำ และได้ตั้งชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ตามแหล่งน้ำว่าบ้านเวินบึก…
สำหรับการเดินทางไปบ้านเวินบึก จากจังหวัดอุบลราชธานีโดยทางรถยนต์ถึง อ.โขงเจียม ระยะทาง 90 กม. และนั่งเรือตามลำน้ำโขงไปอีกประมาณ 5 กม. หรือจะขับรถถึงบ้านเวินบึกก็สะดวกสบายดี
นับเป็นหมู่บ้านชายแดนตะวันออกสุดริมฝั่งแม่น้ำโขง...ก่อนแม่น้ำโขงจะไหลเข้าสู่ สปป.ลาว และเป็นชุมชนชาติพันธุ์ที่สงบมีวิถีชีวิตเรียบง่ายที่ทุกคนต้องไปเยี่ยมชม.
…….
- ปัญญา แพงเหล่า / รายงาน