อุบลฯ เปิดการแข่งขันจักรยานทางเรียบ ”โขงเจียม Road championship ครั้งที่ 1”
10 ธันวาคม 2566 ณ ลานชมจันทร์ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานเปิดการแข่งขันจักรยานทางเรียบ ”โขงเจียม Road championship ครั้งที่ 1” ด้วยอำเภอโขงเจียมร่วมกับชมรมท่องเที่ยวและอนุรักษ์โขงเจียม / ชมรมจักรยานเสือโขงเจียม เทศบาลตำบลบ้านด่านโขงเจียม / สมาคมกีฬาจักรยานจังหวัดอุบลราชธานี / มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ภายใต้โครงการวิจัยการขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี โดยกองทุนส่งเสริม แผนงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(ววน.) หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานอุบลราชธานี ตลอดทั้งผู้ประกอบการในพื้นที่ พ่อค้าประชาชนชาวอำเภอโขงเจียม ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมการแข่งขันจักรยานทางเรียบขึ้น
กิจกรรม ”โขงเจียม Road championship ครั้งที่ 1” มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการใช้ทุนทางวัฒนธรรมของอำเภอโขงเจียมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ผ่านการท่องเที่ยวเชิงกีฬา อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมให้จังหวัดอุบลราชธานีเป็นเมืองกีฬาอย่างยั่งยืน ส่งเสริมและยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวเชิงกีฬาในพื้นที่ จังหวัดอุบลราชธานี ส่งเสริมให้มีการใช้จักรยานเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและลดการใช้พลังงาน และ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักกีฬาจักรยานในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียงให้มีความพร้อมรับการพัฒนาไปสู่การแข่งขันกีฬาอาชีพระดับประเทศต่อไป
อนึ่ง การแข่งขันกีฬาจักรยานทางเรียบ ”โขงเจียม Road championship ครั้งที่ 1” นี้ มีนักปั่นจักรยานเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 2 ประเภท รวมทั้งสิ้น 340 คน ประกอบด้วย
1. ประเภทการแข่งขัน 7 ประเภท จำนวน 300 คน ได้แก่
1.1 ประเภทเสื่อหมอบชาย เยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี
1.2 ประเภทเสือหมอบชาย (รุ่น OPEN) ทั่วไป
1.3 ประเภทเสือหมอบชาย รุ่นอายุ 30-39 ปี
1.4 ประเภทเสือหมอบชาย รุ่นอายุ 40-49 ปี
1.5 ประเภทเสือหมอบชายรุ่นอายุ 50-59 ปี
1.6 ประเภทเสือหมอบชายรุ่นอายุ 60 ปี ขึ้นไป และ
1.7 ประเภทเสือหมอบหญิงทั่วไป
2. ประเภท VP 2 ประเภท จำนวน 40 ท่าน ได้แก่
2.1 รุ่นท่องเที่ยวแก่งตะนะ ระยะทาง 22 กิโลเมตร
2.2 รุ่นใจเกินร้อย ระยะทาง 72 กิโลเมตร
กิจกรรม ”โขงเจียม Road championship ครั้งที่ 1” นับว่าเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นต้นทุนที่มีศักยภาพสูงของพื้นที่ โดยการจัดงานในครั้งนี้ได้ส่งเสริมให้มีการแสดงศิลปวัฒนธรรม ดังที่ท่านได้ประจักษ์แล้วในงาน ”พาแลง แญงโขง” เมื่อค่ำคืนที่ผ่าน นอกจากนั้น ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมได้นำสินค้าทางวัฒนธรรมเข้ามาจำหน่าย อาทิเช่น ของที่ระลึกจากผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายจากกลุ่มทอผ้าบ้านคันทาเกวียน ซึ่งมีลวดลายปลาแม่น้ำโขงที่โดดเด่นเป็นอัตลักษณ์ของอำเภอโขงเจียมหนึ่งเดียวในโลก เสื้อยืดพิมพ์โลโก้โขงเจียมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์สะท้อนวิถีชีวิตชุมชนชาวอำเภอโขงเจียมหนึ่งเดียวในโลก.