เตือน! 50 จังหวัด เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
กรมอุตุนิยมวิทยา เตือน 50 จังหวัด ฝนตกหนัก คาดการณ์ว่า ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออก เฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ในช่วงวันที่ 21 – 24 ก.ย. 66 ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก อ่าวไทย และภาคใต้ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเล อันดามัน ทำให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออกและภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ติดตามสภาพอากาศ พบว่าร่องมรสุมจะเลื่อนกลับลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนัก โดยเฉพาะด้านตะวันตกของภาคเหนือ กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณต้นน้ำ จากกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ในช่วงวันที่ 17 – 21 กันยายน 2566 ดังนี้
พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม
- ภาคเหนือ 8 จังหวัด
•จังหวัดเชียงราย (อำเภอเทิง)
•จังหวัดพะเยา (อำเภอเมืองพะเยา)
•จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภออมก๋อย ฝาง และแม่อาย)
•จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน)
•จังหวัดตาก (อำเภอท่าสองยาง อุ้มผาง แม่สอด แม่ระมาด และพบพระ)
•จังหวัดน่าน (อำเภอเมืองน่าน แม่จริม ปัว เฉลิมพระเกียรติ บ่อเกลือ ทุ่งช้าง ท่าวังผา เวียงสา และสองแคว)
•จังหวัดพิษณุโลก (อำเภอนครไทย)
•จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอหล่มสัก และหล่มเก่า)
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 จังหวัด
•จังหวัดเลย (อำเภอเมืองเลย วังสะพุง และภูหลวง)
•จังหวัดชัยภูมิ (อำเภอหนองบัวแดง)
•จังหวัดอุดรธานี (อำเภอเมืองอุดรธานี บ้านดุง กุมภวาปี นายูง และหนองหาน)
•จังหวัดกาฬสินธุ์ (อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ กุฉินารายณ์ สมเด็จนามน ดอนจาน สามชัย และคำม่วง)
•จังหวัดร้อยเอ็ด (อำเภอเสลภูมิ)
•จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอเมืองอุบลราชธานี)
- ภาคตะวันออก 2 จังหวัด
•จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี มะขาม ท่าใหม่ เขาคิชฌกูฏ ขลุง โป่งน้ำร้อน และแก่งหางแมว)
•จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด เขาสมิง แหลมงอบ บ่อไร่ เกาะช้าง และเกาะกูด)
พื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่งและท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ
ริมแม่น้ำน่านและลำน้ำสาขา จังหวัดน่าน ลำน้ำแควน้อย จังหวัดพิษณุโลก ลำน้ำก่ำ จังหวัดนครพนม ลำเซบาย จังหวัดยโสธร แม่น้ำ ลำปาว อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ลำน้ำยัง อำเภอโพนทอง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
1. ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิด น้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน
2. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ลอกท่อระบายน้ำ และบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
กระทรวงทรัพยฯ กำชับอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศเฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลากอย่างใกล้ชิด
เมื่อวันที่ 18 ก.ย.66 นายอรรถพล เจริญชันษา รักษาราชการ แทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับข้อสั่งการจาก พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้หน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานฯ ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวประเภทน้ำตก และแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังเหตุน้ำป่าไหลหลาก โดยให้ประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากเห็นว่ามีความสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวให้ประกาศ ปิดแหล่งท่องเที่ยวทันที และได้มีการจัดเจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวัง ชุดกู้ภัย เพื่อสามารถเข้าระงับยับยั้งเหตุการณ์วิกฤตที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ปิดให้บริการอยู่ในขณะนี้ เช่น
- อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ จ.แม่ฮ่องสอน
- อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่
อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่อยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เช่น
- เหวนรก อุทยานฯ เขาใหญ่ จ.ปราจีนบุรี
- น้ำตกหมันแดง อุทยานฯภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก
- น้ำตกตาดโตน อุทยานฯตาดโตน จ.ชัยภูมิ
- น้ำตกทีลอซู เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จ.ตาก
- น้ำตกไพรวัลย์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด จ.พัทลุง
- น้ำตกโตนงาช้าง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง จ.สงขลา เป็นต้น
- กรมชลประทานบริหารควบคู่รับมือเอลนีโญ
ปัจจุบัน (18 ก.ย. 66 เวลา 19.00 น.) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 46998 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 62 ของความจุอ่างฯรวมกัน เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 11405 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯ รวมกัน กรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับสถานการณ์เอลนีโญที่มีแนวโน้มจะยาวนาน ไปจนถึงปีหน้าตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนด สู่ 6 แนวทางปฏิบัติของกรมชลประทาน อย่างเคร่งครัด พร้อมนำ 3 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 (เพิ่มเติม) ที่ กอนช. กำหนด มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ได้แก่
1.จัดสรรน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญ ที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด อย่างรอบคอบและรัดกุม
2. ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง โดยการสร้างการรับรู้ และประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมืองดปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง ซึ่งได้ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 22 จังหวัดแล้ว
3. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ อาทิ ส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย รณรงค์ให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า.
Cr.สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอุบลราชธานี