อุบลฯ ต้อนรับ รมช.กระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ
30 พฤศจิกายน 2566 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ณ จังหวัดอุบลราชธานี ใน 4 แห่ง ได้แก่ สพป.อุบลราชธานี เขต 3 โรงเรียนบ้านห้วยยาง โรงเรียนอนุบาลศรีเมืองใหม่ และโรงเรียนอนุบาลตระการพืชผล โดยมี นายกำพล สิริรัตตนนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วยผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ. ได้แก่ นายเชิดศักดิ์ โภคกุลกานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายวิศรุต ปู่เพ็ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายธฤติ ประสานสอน ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ และนายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมติดตามการลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย
นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. กล่าวว่า ในวันนี้ได้มาพบปะผู้บริหารด้านการศึกษาในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ) ได้มอบหมายให้ติดตามการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ และมอบนโยบายที่เกี่ยวข้อง โดยในช่วงเช้าได้ไปเยี่ยม สพป.อุบลราชธานี เขต 3 ได้พบปะกับผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานในเขตพื้นที่ และได้มอบนโยบาย พูดถึงความคืบหน้าโครงการต่างๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการกำลังทำงานอยู่ ทั้งการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู นโยบายครูคืนถิ่น การสร้างแพลตฟอร์มคอนเทนต์ เพื่อรองรับการแจกอุปกรณ์แท็บเล็ตหรือแล็บท็อป เป็นสื่อช่วยในการสอนของนักเรียนและครู
จากนั้นได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมโรงเรียนบ้านห้วยยาง โรงเรียนอนุบาลศรีเมืองใหม่ และโรงเรียนอนุบาลตระการพืชผล และได้เห็นสภาพจริงของโรงเรียน ซึ่งปัญหาหนึ่งที่พบมากของโรงเรียนในต่างจังหวัดคือเรื่องอาคารเรียน หลายแห่งค่อนข้างทรุดโทรม และขาดแคลน เนื่องจากทำการรื้อถอนแล้วยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณลงมา ซึ่งในส่วนนี้จะต้องรีบจัดสรรงบประมาณลงมาโดยเร็ว เพื่อบรรเทาการขาดแคลนอาคารเรียน ให้โรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างเต็มศักยภาพ
นอกจากนั้น ยังได้พูดคุยถึงเรื่องการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา และการเพิ่มรายได้ครู โดยเริ่มที่การปรับหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะแบบใหม่ ซึ่งขณะนี้ก็กำลังพูดคุยกับทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ก.ค.ศ. และ สพฐ. ในเรื่องการปรับปรุง เพิ่มทางเลือกในการประเมิน เพื่อให้ครูเลือกใช้การประเมินได้ตามความถนัดของตัวเอง และทำให้การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะสามารถทำได้ง่ายขึ้น ลดขั้นตอนที่ซ้ำซ้อน เพื่อประโยชน์ของครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ต้องการขับเคลื่อนให้เห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง.