ธ.ก.ส.เคาะจ่ายชาวนาไร่ละ 1,000 บาท โอนเข้าบัญชี 28 พ.ย.นี้ และจะดำเนินการให้เสร็จภายใน 5 วันทำการ
นายกษาปณ์ เงินรวง เผยว่า ธ.ก.ส. ได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท ภายใต้โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 วงเงินงบประมาณ 5.6 หมื่นล้านบาท โดยเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ผ่านการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2566/67 กับ กรมส่งเสริมการเกษตรเรียบร้อยแล้ว เป้าหมาย 4.68 ล้านครัวเรือน มีเงื่อนไขให้เงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท
ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี มีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีจำนวน 304,360 ครัวเรือน โดยกรมส่งเสริมการเกษตรส่งข้อมูลเข้าร่วมโครงการ 279,332 ครัวเรือน เป็นเงิน 3,284,283,830 บาท ซึ่ง ธ.ก.ส.จะดำเนินการจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง สามารถตรวจสอบสถานะความเป็นเกษตรกร จากการขึ้นทะเบียนกรมส่งเสริมการเกษตร ปี 2566 ผ่านช่องทางออนไลน์ที่เว็บไซต์ https://efarmer.doae.go.th/login และตรวจสอบสิทธิเงินช่วยชาวนา ผ่านช่องทางออนไลน์ ที่เว็บไซต์ https://chongkho.inbaac.com
ทั้งนี้ หลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติวงเงินชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการโรงสี เพื่อให้มีสภาพคล่องในการรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่กำลังออกสู่ตลาดในขณะนี้ โดยชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้ในอัตรา 4% คิดเป็นวงเงินรวม 780 ล้านบาท โดยจะใช้เงินจากกองทุนนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (กองทุน คชก.) ก่อน ซึ่งจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบวันที่ 28 พ.ย.นี้ สำหรับการจ่ายเงินไร่ละ 1,000 บาทให้กับชาวนา จะเริ่มโอนเงินเข้าบัญชีชาวนาได้ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย.นี้ เป็นต้นไป และจะดำเนินการให้เสร็จภายใน 5 วันทำการ
นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ได้ดำเนินมาตรการมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/67 จำนวน 2 โครงการ ดังนี้
1. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าวทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกออกสู่ท้องตลาดโดยเก็บไว้ในยุ้งฉางเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรมีเป้าหมายจำนวน 3 ล้านตันข้าวเปลือก โดยกำหนดข้าวเปลือกที่เข้าร่วมโครงการฯ และวงเงินสินเชื่อต่อตัน ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 12,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 10,500 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 9,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 10,000 บาท ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้ค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตรา 1,500 บาทต่อตันข้าวเปลือก โดยเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเองได้รับเต็มจำนวน สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกเข้าโครงการฯ ได้รับในอัตรา 1,000 บาทต่อตันข้าวเปลือก และเกษตรกรผู้ขายข้าวได้รับในอัตรา 500 บาทต่อตันข้าวเปลือก เกษตรกรที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ สามารถติดต่อได้ที่ ธ.ก.ส.ทุกสาขาในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี
2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่าย หรือ เพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 10,000 ล้านบาท คิดเป็นข้าวเปลือก 1 ล้านตันข้าวเปลือก คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.50 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกร ร้อยละ 3.50 ต่อปี พื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี มีผู้ประสงค์ที่จะเข้าร่วมโครงการ 8 ราย จำนวนเงิน 148 ล้านบาท เพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกกว่า 12,340 ตัน/ข้าวเปลือก
Cr.สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอุบลราชธานี