ครม.ไฟเขียว รับรองกฎหมายสมรสเท่าเทียม
ครม.มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้บุคคลสองคน ไม่ว่าเป็นจะเพศใด สามารถหมั้นหมายและสมรสกันได้ พร้อมให้แก้คำว่า “ชาย” “หญิง” และ “สามีภรรยา” เป็น “บุคคล” “ผู้หมั้น” “ผู้รับหมั้น” และ “คู่สมรส”
- สาระสำคัญ
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายให้การรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของคู่รักเพศเดียวกัน ซึ่งแตกต่างจากสภาพสังคมในปัจจุบันที่มีคู่รักเพศเดียวกันอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวจำนวนมาก โดยขาดเครื่องมือทางกฎหมาย ในการจัดการความสัมพันธ์ทางครอบครัว ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อครอบครัวหลากหลายทางเพศหลายประการ เช่น สิทธิในการตัดสินใจในการรักษา พยาบาล สิทธิในการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน สิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน และสิทธิในการรับมรดก
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติที่กระทรวงยุติธรรมเสนอเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยกำหนดให้บุคคล 2 คน ไม่ว่าเพศใดสามารถทำการหมั้นหรือสมรสกันได้ แก้ไขคำว่า “ชาย” “หญิง” “สามี” “ภริยา” และ “สามี ภริยา” เป็น “บุคคล” “ผู้หมั้น” “ผู้รับหมั้น” และ “คู่สมรส” เพื่อให้มีความหมายครอบคลุมคู่หมั้น หรือคู่สมรส ไม่ว่าจะมีเพศใด รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้บุคคลนั้นมีสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง สรุปสาระสำคัญ 5 เรื่อง ดังนี้
- เหตุการณ์เรียกค่าทดแทนเนื่องจากผิดสัญญาหมั้น กรณีที่คู่หมั้นไปมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ให้ครอบคลุมกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งไปมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นไม่ว่าจะเป็นเพศใด กำหนดให้คู่หมั้น ฝ่ายหนึ่งอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้นของตน หรือผู้ซึ่งกระทำกับคู่หมั้นของตนเพื่อสนองความใคร่ของผู้นั้นหรือคู่หมั้นของตนโดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้น
- การกำหนดอายุขั้นต่ำในการจดทะเบียนสมรส การสมรสจะกระทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีมีเหตุอันสมควรศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้
- เงื่อนไขแห่งการสมรสใหม่ กำหนดให้หญิงที่ชายผู้เป็นคู่สมรสตายหรือที่การสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่นจะทำการสมรสใหม่กับชายได้ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่
1. คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น
2. สมรสกับคู่สมรสเดิม
3. มีใบรับรองแพทย์ประกาศนียบัตรหรือปริญญาซึ่งเป็นผู้ประกอบการ รักษาโรคในสาขาเวชกรรมได้ตามกฎหมายว่ามิได้มีครรภ์
4. มีคำสั่งของศาลให้สมรสได้
- การเพิกถอนการสมรส (ในกรณีมิได้มีการขอเพิกถอนการสมรส ให้ถือว่าการสมรสสมบูรณ์มาตั้งแต่เวลาสมรส) กำหนดให้กรณีถ้าศาลมิได้สั่งให้เพิกถอนการสมรสจนบุคคลทั้งสองมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ หรือในกรณีการสมรสระหว่างชายหญิงเมื่อหญิงมีครรภ์ก่อนอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ให้ถือว่าการสมรสสมบูรณ์มาตั้งแต่เวลาสมรส
- เงื่อนไขที่ทำให้การเพิกถอนการสมรสสิ้นสุด กำหนดให้สิทธิขอเพิกถอน การสมรสเป็นอันระงับเมื่อคู่สมรสนั้นมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์หรือในกรณีการสมรสระหว่างชายหญิงเมื่อหญิงมีครรภ์
- พรบ. สมรสเท่าเทียมไม่กระทบชาวมุสลิม
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้เสนอร่าง ได้ชี้แจงว่า ใน 3 จังหวัดมีการใช้กฎหมายชะรีอะห์ หรือกฎหมายอิสลาม (Personal Law) ที่ว่าด้วยครอบครัวและมรดกเป็นเฉพาะอยู่แล้ว ดังนั้น ยืนยันว่าร่างกฎหมายนี้จะไม่กระทบกับชาวมุสลิม สำหรับพื้นที่ชายแดนใต้ ในกรณีที่โจทก์และจำเลยที่เป็นมุสลิมจะต้องใช้กฎหมายอิสลาม จะใช้กฎหมายแพ่งไม่ได้ แต่ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้เป็นชาวมุสลิม ก็ต้องใช้กฎหมายของแผ่นดินซึ่งกฎหมายอิสลามจะใช้ใน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปัตตานี, นราธิวาส, ยะลา และสงขลา
- ทามไลน์การรับฟังความเห็นก่อนจัดทำร่างกฎหมายฯ
- วันที่ 31 ตุลาคม 2566 – 14 พฤศจิกายน 2566 กระทรวงยุติธรรม ได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ในรูปแบบออนไลน์ทางเว็บไซต์ law.go.th และระบบ google forms บนเว็บไซต์ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
- วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ได้รับฟังความคิดเห็นร่วมกับผู้แทนกลุ่มศาสนา ได้แก่ ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม
- วันที่ 7 – 10 พฤศจิกายน 2566 ประชุมทางไกลผ่านจอ (Video Conference) ร่วมกับทุกภาคส่วนในทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 4 ครั้ง
- 13 พฤศจิกายน 2566 กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ และรับฟังความเห็น โดยมีผู้แทนภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม กลุ่มความหลากหลายทางเพศ และประชาชน เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างกว้างขวาง
- วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นร่วมกับผู้แทนส่วนราชการ ส่วนใหญ่เห็นชอบ (96%) ในหลักการ คณะรัฐมนตรี จึงมีมติเห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปดำเนินการจัดทำร่างกฎหมาย เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
- ความต่างของ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมกับ ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต
- พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม เสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการร่างแก้ไข ปพพ. มาตรา 1448 และมาตราที่เกี่ยวข้องใน ปพพ. เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้ตามกฎหมาย พร้อมมีสิทธิในการสมรสไม่ต่างจากคู่สมรสชายหญิง เช่น สิทธิในการหมั้นและสมรส สิทธิในการจัดการ ทรัพย์สินของคู่สมรส สิทธิในการเป็นทายาทโดยธรรม การรับบุตรบุญธรรม สิทธิในการใช้นามสกุล สิทธิในการเซ็นยินยอมในการรักษาพยาบาล สิทธิในมรดก เป็นต้น
- พ.ร.บ. คู่ชีวิต หรือพระราชบัญญัติคู่ชีวิต เป็นร่างกฎหมายแยกที่ออกมาเพื่อรับรองสิทธิบุคคลเพศเดียวกันให้สามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ ทั้งนี้ คู่ชีวิตมีสิทธิบางประการเหมือนกับคู่สมรสชาย - หญิง เช่น สิทธิการรับบุตรบุญธรรม การรับมรดก แต่สถานะทางกฎหมาย จะเป็น “คู่ชีวิต” ซึ่งส่งผลให้อาจไม่ได้รับสิทธิบางประการเทียบเท่าคู่สมรส
- เปิดรายชื่อ 35 ประเทศ “สมรสเท่าเทียม” ถูกกฎหมาย
ปัจจุบันมีประเทศ/ดินแดนที่มีการแต่งงานของเพศเดียวกันนั้นถูกกฎหมาย ใน 35 ประเทศ โดยประเทศแรกที่ผ่านกฎหมายรับรองการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน คือ เนเธอร์แลนด์ มีผลในวันที่ 1 เมษายน 2001 และประเทศล่าสุดที่การแต่งงานของเพศเดียวกันถือเป็นเรื่องถูกกฎหมายคือ เนปาล ทำให้เนปาลเป็นประเทศแรกในเอเชียใต้ และประเทศที่สองในเอเชียตามหลัง ไต้หวันเมื่อปี 2019 ที่รับรองสิทธิแก่คู่สมรสเพศเดียวกันตามกฎหมาย
- การผ่านกฎหมายโดยรัฐสภา 19 ประเทศ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย เบลเยียม เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ไอซ์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก มอลตา เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ สเปน สวีเดน สหราชอาณาจักร ชิลี อุรุกวัย และอันดอร์รา
- การผ่านกฎหมายโดยคำวินิจฉัยของศาล 13 ประเทศ ออสเตรีย บราซิล แคนาดา โคลอมเบีย คอสตาริกา เอกวาดอร์ เม็กซิโก โปรตุเกส แอฟริกาใต้ ไต้หวัน สโลวีเนีย สหรัฐอเมริกา เนปาล
- การลงประชามติ 3 ประเทศ ไอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และคิวบา.