เล่าเรื่อง เมืองอุบล EP.2 : ตามรอยเสด็จฯในหลวงรัชกาลที่ 9 (2498) : พระบารมีปกเกล้าฯ ชาวพิบูลมังสาหาร
ความเป็นมา : ตามรอยเสด็จฯในหลวงรัชกาลที่ 9 (2498) โดยคณะกองบรรณาธิการธิการจัดทำหนังสือ ใต้ร่มพระบารมี 60 ปี ในหลวงเสด็จฯอุบลราชธานี 2498-2558 โดยเรียบเรียงพระราชกรณียกิจ พระราชดำรัส และกระแสรับสั่งต่างๆ เพื่อน้อมน้ำมาปฏิบัติ ส่งผลให้จังหวัดอุบลราชธานี มีความเจริญก้าวหน้าทั้งด้านสังคม การศึกษา และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความมั่นคงยั่งยืนถึงปัจจุบัน
ความสำคัญ : เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสร็จสิ้นพระราชภารกิจจาการศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์และได้เสด็จนิวัติมาประทับในพระราชอาณาจักรไทยเป็นการถาวรแล้ว จึงกำหนดการ “เสด็จฯ เยี่ยมราษฎร” ในทุกภูมิภาคทั่วราชอาณาจักรขึ้น โดยปฐมแห่งการเสด็จฯ ได้ออกไปทรงเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภูมิภาคแรก ระหว่างวันที่ 2-20 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2498
ตามรอยเสด็จฯ : การเสด็จพระราชดำเนินระหว่างวันที่ 16-19 พฤศจิกายน 2498 ได้เสด็จฯจังหวัดอุบลราชธานี ครั้งแรก โดยประทับแรม 3 คืน ทรงปฏิบัติพระราชกรณีกิจ หลายแห่ง เช่น ในค่ายสรรพสิทธิประสงค์ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร ศาลากลางจังหวัด แก่งสะพือ ศูนย์กลางการศึกษาผู้ใหญ่จังหวัดอุบลราชธานี (ศ.อ.ศ.อ.) สถานีรถไฟ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประชาชนได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับเสด็จฯอย่างใกล้ชิด
พระบารมีปกเกล้าฯ ชาวพิบูลมังสาหาร : โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนิน ระหว่างวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2498 (สองวันติดต่อกัน)
โดยวันที่ 17 พฤศจิกายน เสด็จฯ ตามหมายกำหนดการ เพื่อเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้าฯรับเสด็จฯอย่างใกล้ชิด และทอดพระเนตรแก่งสะพือ ประทับพลับพลา ริมแก่งสะพือเสวยพระกระยาหารกลางวัน และทรงลงพระปรมาภิไธย - พระนามาภิไธย ในแผ่นศิลา เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชาวพิบูลมังสาหาร ได้สร้างและประดิษฐานเป็นสถานที่สำคัญให้ประชาชนมีความรัก ความสามัคคี และจัดกิจกรรม น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาคุณ แสดงความจงรักภักดี ในวันที่ 17-18 พฤศจิกายน ของทุกปี ตลอดมา....
วันที่ 18 พฤศจิกายน 2498 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในภาคเช้าเสด็จฯประทับเครื่องบินพระที่นั่งเพื่อทอดพระเนตรภูมิประเทศ ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วทรงประทับพักผ่อนตามพระราชอัธยาศัย และเวลา 11:00 น. ทั้งสองพระองค์ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังแก่งสะพือ โดยรถยนต์พระที่นั่งซึ่งทรงขับด้วยพระองค์เอง เป็นการเสด็จฯแก่งสะพือส่วนพระองค์ ครั้งที่สอง ติดต่อกัน เมื่อเสด็จฯถึงแก่งสะพือ ได้ทอดพระเนตรชาวบ้านที่ตกปลาริมแก่งสะพือ และถวายปลาหมู ทรงพระราชทานเงินจำนวนหนึ่งประชาชนทราบข่าว ได้มาเฝ้ารับเสด็จฯชื่นชมพระบารมี ได้เวลาอันสมควร จึงเสด็จฯกลับที่ประทับ ณ ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
สำหรับข้อมูล ในพื้นที่อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลาง และภูมิภาคในการเสด็จฯ ปี 2498 คือ ด้านความมั่นคง อำเภอพิบูลมังสาหาร มีชาวญวนอาศัยอยู่จำนวนหนึ่ง ด้านการเกษตรประสบปัญหา ด้านสุขภาพอนามัยของประชาชน และด้านการส่งเสริมอาชีพของประชาชน ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบ และผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้กราบทูลถวายรายงานครบถ้วนแล้ว ซึ่งจะมีภาพเฮลิคอปเตอร์ของเจ้าหน้าที่ออกสำรวจข้อมูลในพื้นที่ด้วย
จากความสำคัญดังกล่าวชาวพิบูลมังสาหาร ได้น้อมนำพระราชดำรัส และกระแสรับสั่ง น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เพื่อร่วมสืบสานพัฒนาท้องถิ่นให้มีความเจริญก้าวหน้า แสดงความจงรักภักดี ต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยจัดกิจกรรม ต่อยอดสืบสานตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงให้อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ความสำคัญของอำเภอพิบูลมังสาหาร และจัดงานประเพณีอันดีงาม คือ งานวันครอบครัว งานมหาสงกรานต์ที่แก่งสะพือ ภายใต้ร่มพระบารมี และพระปรมาภิไธย ที่พระราชทานประดิษฐานไว้ ณ แก่งสะพือ เป็นศูนย์รวมดวงใจตลอดไป
ขอขอบคุณ หน่วยงาน และผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่อนุเคราะห์ข้อมูล และภาพถ่าย
…………….
- ปัญญา แพงเหล่า / รายงาน
17 พฤศจิกายน 2566