อุบลราชธานี: ลูกหลานเชลยศึกสัมพันธมิตรทั่วโลก ร่วมรำลึก ”วันแห่งความดี อุบลราชธานี” วันที่ 11 พฤศจิกายน ของทุกปี
11 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09.00 น. ที่บริเวณอนุสาวรีย์แห่งความดี อุบลราชธานี ทุ่งศรีเมืองอุบลราชธานี นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้นายนคร ศิริปัญญานันท์ ปลัดจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในพิธีวางพวงมาลารำลึกความดีของบรรพชนอุบลราชธานี ในงานวันแห่งความดี อุบลราชธานี โดยมีส่วนราชการ ภาคเอกชน และลูกหลานเชลยศึกสัมพันธมิตรชาวต่างประเทศเข้าร่วมพิธี ทั้งนี้ผู้แทนลูกหลานเชลยศึกสัมพันธมิตรฯ กล่าวขอบคุณชาวอุบลราชธานี มอบช่อดอกไม้ให้ Lady of Ubon และร่วมร้องเพลงสามัคคีชุมนุม และ Auld Lang Syne ร่วมกัน
อดีตอุบลราชธานีในสงครามโลกครั้งที่ 2 เคยเป็นที่ตั้งของกองทัพญี่ปุ่น และมีค่ายเชลยศึกฝ่ายพันธมิตร เพื่อนำมาสร้างสนามบิน (ปัจจุบันคือสนามบินหนองไผ่ บริเวณ ตำบลขามใหญ่) คนอุบลเห็นความยากลำบากของเชลยศึก ก็แอบเอาอาหารน้ำ ดื่มให้เชลย จนหลังสงครามสงบ เชลยศึกได้กลับไปบอกลูกหลานอย่าลืมความดีความมีน้ำใจของคนอุบลฯ และได้สร้างอนุสาวรีย์เป็นเสาปูน ที่ทิศใต้ ทุ่งศรีเมือง และมีคำจารึกที่เสาว่า Ex pow (คือคำย่อ อดีตเชลยศึก Ex prisioner of war) มีเชลยศึกและทายาท มาวางช่อดอกไม้รำลึกในวันที่ 11 เดือน 11 (พฤศจิกายน) เวลา 11.00 ของทุกปี (ตรงกับวันที่ระลึก สงครามโลก ที่ถือปฏิบัติทั่วโลก) กิจกรรมนี้ ค่อยๆ หายไปตามกาลเวลาพร้อมกับเทศบาลเมืองอุบลราชธานี ขณะนั้นได้ย้ายมาสร้างใหม่ที่มุมทิศตะวันออก
เมื่อปี 2551 คุณธนพร พูลเพิ่ม ผู้ช่วย ททท.อุบล (ขณะนั้น) ได้เล่าให้ นายสุรพล สายพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี (ซึ่งรับผิดชอบงานท่องเที่ยวขณะนั้น) จึงได้คิดรูปแบบ ขั้นตอน และกิจกรรมประกอบขึ้น โดยอาศัยรูปแบบการสดุดีวีรชนในสงครามตามแบบ สากล มีการกล่าวสดุดี เป่าแตร วางพวงมาลา มีการจุดตะเกียงไฟสัญญาลักษณ์ความเป็นอมตะของดวงวิญญาณของวีรชนผู้กล้าฯ และได้รับความร่วมมืออาสาสมัคร จากหลายภาคส่วนช่วยกัน รวมทั้งเชิญชวนหน่วยงานต่างๆ มาทำพิธี จากนั้นก็ได้ถือปฏิบัติทุกปี และถือเป็นงานสำคัญงานหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี จนถึงปัจจุบัน
จากกิจกรรมวันดังกล่าว กลายเป็นจุดสนใจให้ค้นคว้าเรื่องราวของอุบลราชธานี กับสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นระยะ มีภาพถ่าย สถานที่ บุคคล และเหตุการณ์ รวมทั้งเรื่อง ราวขบวนการเสรีไทยในจังหวัดอุบล เรื่องราวของกลุ่มที่เคยช่วยเหลือเชลยศึก รวมทั้งมีทหารญี่ปุ่นที่ตกค้างไม่กลับประเทศ ภายหลังต่อมาได้ประสานกับพิพิธภัณฑ์สงคราม ของกรุงลอนดอน ทำให้พบข้อมูลสำคัญ ต่างๆ เพิ่มขึ้น และกิจกรรมนี้ตรงกับหลายจังหวัด ที่เกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่น สุสานทหารพันธมิตรและสะพานข้ามแม่น้ำแคว ที่กาญจนบุรี เรื่องราวของเมืองแพร่ เรื่องราวจังหวัดลำปาง พบสนามบินเก่าที่เกาะคอเขา จังหวัดพังงา เป็นต้น
อนึ่งมีการศึกษาในภายหลังพบว่า ในช่วงสงครามเวียดนาม ที่มีทหารต่างชาติมาประจำที่ฐานทัพอากาศอุบลราชธานี เคยมีชุดกองเกียรติยศของหน่วยทหารออสเตรเลีย เคยมาทำพิธีเคารพที่อนุสาวรีย์แห่งนี้ ต่อมามีชาวต่างชาติสอนภาษาอังกฤษ ได้รวบรวมกลุ่มเล็กๆ มาวางดอกไม้ในวันที่ 11 พฤศจิกายน เช่นกัน จากการค้นคว้าล่าสุด มีความเป็นไปได้สูงที่อุบลราชธานี จะเป็นจุดของเหตุการณ์ที่มีการวางอาวุธปลดปล่อยเชลยศึกอย่างแท้จริงในสงครามโลกครั้งที่สอง ในส่วนสงครามมหาเอเซียบูรพา อันเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่อง หลังจากมีการลงนามสงบศึกที่อ่าวโตเกียวแล้ว (ที่มา: นายสุรพล สายพันธ์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี)