อุบลฯ ขานรับนโยบาย มท.1 พลิกโฉมผังเมืองอนาคต รองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องในวันผังเมืองโลก 2566

   เมื่อ : 08 พ.ย. 2566

            8 พฤศจิกายน 2566 เวลา 10.30 น. ที่ห้องประชุมสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดอุบลราชธานี นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้มอบหมายให้ นายกำพล สิริรัตตนนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เข้าร่วมการสัมมนาฯ พร้อมด้วย นายเมธี พัฒนกันต์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดอุบลราชธานี และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมสัมมนาทางวิชาการ เนื่องในวันผังเมืองโลก พ.ศ. 2566 (World Town Planning Day) เรื่อง Shaping the Future : Urban Planning for the Climate Change Adaptation “อนาคตออกแบบได้: พลิกโฉมผังเมืองรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ผ่านทางระบบออนไลน์ ร่วมกับเวที ณ ห้องประชุมโรงแรมดิเอมเมอรัลด์ โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดสัมมนาดังกล่าว

          การสัมมนาในครั้งนี้ มีผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐ - ภาคเอกชน มาร่วมแชร์ประสบการณ์ แลกเปลี่ยนแนวคิด สู่การพัฒนางานผังเมือง ในการออกแบบและสร้างสรรค์เมืองในอนาคต ให้สามารถตอบโจทย์ทั้งในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองและปรับตัวได้ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวรายงาน 

          พร้อมด้วย Mr.Remco van Wijngaarden เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย Mr.Heinrich Gudenus  ผู้แทนจาก Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit (GIZ) GmbH Mr.Christopher Kaczmarski ผู้แทนจาก Economic And Social Commission For Asia And The Pacific (ESCAP) Mr.Haruka Ozawa เลขานุการโทเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น Mr.Srinivasa Popuri ผู้แทนจาก United Nations (UN) สหประชาชาติ นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง และนางสาวอัญชลี ตันวานิช ที่ปรึกษาด้านการผังเมือง ร่วมงานสัมมนา ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร

            นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกต่างประสบปัญหาวิกฤตการณ์เปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในภูมิภาคต่าง ๆ กระทรวงมหาดไทยมีนโยบายหลายอย่างที่ตอบสนองต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด และพลังงานทางเลือก การออกแบบและสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนมีวิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อพูดถึง “การออกแบบผังเมือง” ก็พบว่าเรายังมีงานอีกมากที่ต้องทำ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบผังเมืองให้เอื้อต่อการเดินทางโดยใช้พลังงานน้อยที่สุด ผังเมืองที่ดีในหลายประเทศจะส่งเสริมให้คนเดินทางด้วยการเดินเท้า หรือโดยจักรยานได้มากขึ้น อาคารต่าง ๆ ในเมืองจะต้องสร้างบนวัฒนธรรมการออกแบบที่คำนึงถึงการประหยัดพลังงาน 

          นอกจากนี้ เมืองยังต้องคำนึงถึงการจัดการระบบการไหลเวียนของน้ำ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า การป้องกันและจัดการกับอุทกภัยอย่างมีประสิทธิภาพ และการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเธน ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน และให้ความสำคัญกับสังคมผู้สูงอายุ แน่นอนว่า ถ้าเรามีเมืองที่ว่างเปล่า และเริ่มสร้างทุกอย่างจากศูนย์ ภารกิจนี้ก็คงไม่ยาก แต่ความท้าทายอยู่ที่เราต้องบริหารจัดการเมืองที่มีวิวัฒนาการของตัวเองไปไกลแล้ว ให้มาอยู่ในวิถีของ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” จึงต้องมีทั้งการจัดการทางกฎหมาย การรณรงค์ให้ความรู้ผู้คนและกระบวนการดำเนินการตามวิถีใหม่ ที่ราบรื่นและมีประสิทธิภาพ

            นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินการจัดสัมมนาทางวิชาการเนื่องในวันผังเมืองโลกอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการผังเมือง ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนรวมทั้งประชาชนได้ตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของการผังเมือง โดยมุ่งเน้นการพัฒนางานผังเมืองให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ประกอบด้วย 17 เป้าหมาย ครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ มิติสังคม มิติสิ่งแวดล้อม มิติความมั่นคงและยุติธรรม และมิติความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศและระหว่างประเทศในการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา

            สำหรับการจัดงานในวันนี้ กำหนดจัดขึ้นในหัวข้อ เรื่อง “SHAPING THE FUTURE : URBAN PLANNING FOR CLIMATE CHANGE ADAPTATION” “อนาคตออกแบบได้ : พลิกโฉมผังเมืองรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เนื่องจากปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลก ได้เกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเนื่องจากความผันแปรตามธรรมชาติ หรือกิจกรรมของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่ทำให้องค์ประกอบของบรรยากาศเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และส่งผลกระทบไปสู่เมืองที่ประชาชนอาศัยอยู่ 

          การสัมมนาในวันนี้ เป็นเวทีแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคส่วน ในการคิดวิเคราะห์ ออกแบบเมือง และขับเคลื่อนงานด้านผังเมือง งานด้านการพัฒนาเมือง ซึ่งมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ให้มีความยืดหยุ่นในทุกด้าน ส่งผลให้เมืองเกิดนวัตกรรมใหม่ในหลากหลายมิติ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อให้ประชาชนมีชีวิตที่ดี สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัย โดยในวันนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากร ซึ่งเป็นผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา มาร่วมแบ่งปันแนวคิดในการออกแบบสร้างสรรค์เมือง เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อาทิ

            - การบรรยายพิเศษ เรื่อง “การน้อมนำศาสตร์พระราชาตามแนวพระราชดำริ “การพัฒนาภูมิสังคม” จัดทำ “ผังภูมิสังคมชุมชน” เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขในกระบวนการพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดย นายคณิต ธนูธรรมเจริญ ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในหน้าที่ฝ่ายศึกษาและพัฒนาป่าไม้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และที่ปรึกษาอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง

            - การบรรยายพิเศษ เรื่อง การพัฒนาเมืองและนโยบายสาธารณะกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดย นายชยดิฐ หุตานุวัชร์ นายกสมาคมสถาบันทิวา 

            - การบรรยายพิเศษ เรื่อง โลกร้อนทะเลเดือดกับการวางผังเมืองริมทะเลไทย โดย ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณะบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

            - การเสวนา เรื่อง “SHAPING THE FUTURE : URBAN PLANNING FOR CLIMATE CHANGE ADAPTATION”  โดย 1. คุณรสริน อมรพิทักษ์พันธ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาแนวทางและเพิ่มศักยภาพการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม 2. คุณกชกร วรอาคม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Landprocess จำกัด 3. รศ.ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ หัวหน้าหน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 4. รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ รองประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ 5. ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย

            จังหวัดอุบลราชธานี โดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดอุบลราชธานี ได้เข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้ คาดว่าจะได้รับความรู้ และมีความเข้าใจงานด้านการผังเมือง และการพัฒนาเมืองมากยิ่งขึ้น จากกิจกรรมต่าง ๆ ในงานที่อัดแน่นด้วยนักวิชาการที่มาร่วมเปิดมุมมองใหม่ ๆ ในการออกแบบเมืองในอนาคต ให้เป็นเมืองที่พึ่งพาตนเอง และปรับตัวได้ในสถานการณ์ของโลก ที่เปลี่ยนแปลงไป ประชาชนดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข พร้อมก้าวสู่การพัฒนาเมืองอุบลราชธานีอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง.

Cr.สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอุบลราชธานี