อุบลฯ เปิดงาน Open Service Excellence การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติก

   เมื่อ : 15 ก.ย. 2566

15 กันยายน 2566 ณ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานเปิดงาน “Open Service Excellence การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติก ผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด (Transcatheter aortic valve implantation : TAVI) และพิธีเปิดศูนย์รังสีร่วมรักษา (Interventional Radiology Center)” 

คณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ เขตสุขภาพที่ 10 ร่วมกับ Service Plan สาขาโรคหัวใจ ตระหนักถึงความสำคัญ ในการการรักษาผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบที่มีความเสี่ยงสูงต่อการผ่าตัด จึงขออนุมัติจัดทำโครงการการรักษาผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ โดยวิธีใส่ลิ้นหัวใจเอออร์ติกผ่านทางสายสวนหัวใจ (transcatheter aortic valve implantation) เพื่อให้ผู้ป่วยสูงอายุที่มีลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ มีโอกาสเข้าถึงการรักษา ลดการ Refer out และลดอัตราเสียชีวิตของผู้ป่วยกลุ่มนี้ จนได้รับอนุมัติงบประมาณเพื่อซื้อลิ้นหัวใจเอออร์ติก จำนวนไม่น้อยกว่า 5 ลิ้น วงเงินไม่เกิน 5000000 บาท (ห้าล้านบาทถ้วน) ระยะเวลาดำเนินการ กรกฎาคม ถึง กันยายน พ.ศ. 2566 

ในปัจจุบันนี้โรคที่คุกคามชีวิตคนทั่วโลกรวมทั้งคนไทยเป็นลำดับต้นๆ คือ โรคหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะภาวะหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลัน จากอดีตเราเคยมีการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด จากการศึกษาวิจัยทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศพบว่า การรักษาด้วยการให้ยายังมีประสิทธิภาพจำกัดอยู่บ้าง ยิ่งในรายที่มีระยะเวลาในการเกิดอาการมากกว่า 4.5 ชั่วโมง และลิ่มเลือดขนาดใหญ่ ด้วยความก้าวหน้าของวิทยาการการแพทย์ มีการพัฒนาการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง ด้วยลากลิ่มเลือดผ่านสายสวน (Mechanical Thrombectomy) ทำให้ประสิทธิภาพการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้ดียิ่งขึ้น สามารถลดอัตราการตาย และความพิการได้เป็นที่ประจักษ์ และบัดนี้โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ มีความพร้อมแล้วทั้งบุคลากรและเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง ที่จะให้การรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ถือว่าเป็นแห่งแรกในเขตสุขภาพที่ 10 นอกจาก Stroke แล้ว ยังสามารถรักษาโรคความผิดปกติของหลอดเลือดสมองอื่นๆ ได้ด้วย เช่น การใส่ขดลวดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง การอุดกาวในผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดสมองเชื่อมต่อผิดปกติ 

ทั้งนี้ภาวะเสื่อมสภาพจากการใช้งาน (Degenerative aortic stenosis) ของลิ้นหัวใจเอออร์ติก พบได้ประมาณ 10% ในคนที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ซึ่งพยาธิสภาพเกิดจาก การที่มีการสะสมของหินปูน ที่ตัวลิ้นหัวใจ ทำให้ลิ้นไม่สามารถเปิดปิดได้ โรคนี้เป็นโรคที่ค่อนข้างอันตราย มีโอกาสเสียชีวิตแบบเฉียบพลันได้ เป็นที่ยอมรับว่าการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ เป็นการรักษาที่ดีที่สุด แต่จากสถิติพบว่ามีผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ ไม่สามารถรับการรักษาด้วยการผ่าตัดได้ด้วยหลายเหตุผล

Transcatheter aortic valve implantation (TAVI) เป็นการใส่ลิ้นหัวใจใหม่เข้าไปสวมทับ ลิ้นหัวใจเอออร์ติกเดิม ผ่านทางเส้นเลือดแดงบริเวณขาหนีบ (Transfemoral route) หรือ Alternal access site โดยวิธีการนี้ ผู้ป่วยจะมีเพียงแผลเล็กๆ บริเวณขาหนีบทั้ง 2 ข้าง ซึ่งข้อดี คือผู้ป่วยไม่ต้องรับการผ่าตัดใหญ่ เวลาพักฟื้นเร็วโดยประมาณ 2-3 วันก็สามารถกลับบ้านได้ และการเสียเลือดจากการทำหัตถการน้อยกว่า 

ตั้งแต่ปี 2560 โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ได้ทำการรักษาผู้ป่วยลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ โดยการทำ TAVI จำนวน 6 ราย โดยใช้งบประมาณโครงการ TAVI สัญจรของ รพ.จุฬาภรณ์ และปัจจุบันยังมีผู้ป่วยลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ ที่เหมาะสมในการทำ TAVI อีกจำนวน 12 ราย เพื่อพัฒนาโรงพยาบาลสู่ความเป็นเลิศ ทั้งทางด้านคุณภาพ การรักษาที่เทียบเคียงกับต่างประเทศ และช่วยผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคประจำตัวหลายอย่าง ซึ่งไม่สะดวกในการเดินทางไปรักษาที่อื่น ให้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาที่ทันสมัย.

Cr.สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอุบลราชธานี