นายกฯ เป็นสักขีพยาน พิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง ไทย-จีน ด้านสื่อสารมวลชนระหว่างกรมประชาสัมพันธ์กับกลุ่มสื่อแห่งชาติจีน (CMG)
18 ตุลาคม 2566 เวลา 18.45 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ณ เรือนรับรองเตี้ยวหยูไถ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน นายกนำ นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย และ นายเซิ่น ไห่สง ผู้อำนวยการและบรรณาธิการใหญ่กลุ่มสื่อแห่งชาติจีน (China Media Group : CMG) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านสื่อสารมวลชนและสารสนเทศระหว่างกรมประชาสัมพันธ์กับกลุ่มสื่อแห่งชาติจีน (CMG) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะในภาวะวิกฤติ ที่จะต้องอ้างอิงข้อมูลจากแหล่ง หรือหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ “ถูกต้อง รวดเร็ว เชื่อถือได้” ในการสื่อสารกับประชาชนทั้งสองประเทศในยุคดิจิทัล โดยกรมประชาสัมพันซึ่งเป็นสื่อภาครัฐแห่งชาติของไทย รับบทบาทในการขับเคลื่อนการดำเนินการภายใต้ MOU ฉบับนี้ ทั้งนี้ การลงนามดังกล่าวมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย และนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นสักขีพยานในการลงนาม
นางพวงเพ็ชร กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้เป็น MOU ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2566 จากเดิมลงนามกับสถานีวิทยุกระจายเสียงระหว่างประเทศแห่งประเทศจีน (China Radio International หรือ CRI ) ไว้เมื่อปี พ.ศ. 2548 ซึ่งต่อมารัฐบาลจีนได้ปรับโครงสร้างการดำเนินงานด้านสื่อสารมวลชน โดยควบรวบสื่อทีวี วิทยุ รวมไว้ด้วยกัน จึงทำให้ CRI และสื่อหลักอื่นของจีนมีการรวมกลุ่มและยกระดับเป็น “กลุ่มสื่อแห่งชาติจีน (China Media Group: CMG)” นำมาสู่การลงนามใหม่ครั้งนี้ เพื่อขยายความร่วมมือครอบคลุม สื่อวิทยุ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ระหว่างไทยและจีน ทั้งนี้ CMG เป็นถือเป็นองค์กรสื่อสารมวลชนด้านวิทยุและโทรทัศน์ใหญ่ที่สุดของจีน ที่รวม 4 สถานีใหญ่ เข้าด้วยกัน ได้แก่ 1.สถานีวิทยุกระจายเสียงระหว่างประเทศแห่งประเทศจีน (China Radio International: CRI) 2.สถานีวิทยุกระจายเสียงส่วนกลางแห่งประเทศจีน (China National Radio: CNR) 3.สถานีโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีน (China Central Television : CCTV) และ 4.สถานีโทรทัศน์ระหว่างประเทศแห่งประเทศจีน (China Global Television Network: CGTN)
นางพวงเพ็ชร กล่าวอีกว่า MOU ฉบับใหม่ระหว่างกรมประชาสัมพันธ์ และ CMG นี้ คลอบคลุมกิจกรรม 4 ด้าน ได้แก่ 1.การแลกเปลี่ยนข่าวข้อมูลข่าวสาร ในรูปแบบต่างๆ เช่น ข่าว รายการ และสารคดี ทั้งในสื่อวิทยุ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ 2.แลกเปลี่ยนการเยือนของผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อ รวมทั้งการอำนวยความสะดวกสื่อมวลชนในการรายงานข่าวและผลิตรายการและสารคดี 3.ฝึกอบรมบุคลากรด้านสื่อสารมวลชน และสนับสนุนการทำงานด้านสื่อมวลชน เช่นการสนับสนุนจาก CMG ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทั้งการออกอากาศ และดิจิทัล ช่วยฝึกอบรมบุคลากรให้มีความสามารถในการผลิต ตัดต่อรายการคุณภาพ หรือผู้ประกาศให้มีทักษะการรายงาน และดำเนินรายการเทียบเท่าผู้ประกาศระดับสากล และ 4.การส่งเสริมในเรื่องเทคโนโลยีการสื่อสาร และสารสนเทศ เช่น เทคโนโลยีใหม่ที่เป็นประโยชน์กับการทำงานด้านสื่อสารมวลชน เป็นต้น
“การลงนามความร่วมมือด้านสื่อสารมวลชนในครั้งนี้ จะเป็นการยกระดับความร่วมมือระหว่างสื่อมวลชนทั้งสองประเทศ จะมีการแลกแปลกเปลี่ยนข่าวสารที่มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องเกี่ยวกับประเทศจีนที่เป็นประโยชน์กับคนไทย และเรื่องราวของไทยที่เป็นประโยชน์และอยู่ในความสนใจของจีน ในประเด็นการค้าการลงทุน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โอกาสทางการศึกษา ภาคการเกษตร เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนไทยและจีนได้รับรู้ข่าวสารที่ถูกต้อง ในภาวะปกติและภาวะวิกฤติ และเป็นประโยชน์สูงสุดโดยเฉพาะกับคนไทยที่จะสามารถยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อีกช่องทางด้วย นอกจากนี้ การร่วมมือกันในครั้งนี้ ยังช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถรับมือและตอบโต้กับข่าวปลอม ที่เกิดขึ้นระหว่างกันได้อย่างทันท่วงที” นางพวงเพ็ชร กล่าว.