ศูนย์ประสานงานฉุกเฉินช่วยคนไทยในอิสราเอล เผยภาพรวมสถานการณ์ แผนการอพยพ และ การเจรจาปล่อยตัวประกัน
ผลการประชุมคณะทำงานศูนย์ประสานงานฉุกเฉิน (Rapid Response Center - RRC) เพื่อเตรียมการอพยพคนไทยในอิสราเอล วันที่ 9 ตุลาคม 2566 เวลา 13.00 น. ณ กระทรวงการต่างประเทศ และประชุมออนไลน์ผ่านโปรแกรม webex ดังนี้
นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานในการประชุมหารือใน 3 ประเด็นได้แก่ 1) ภาพรวมสถานการณ์ 2) แผนการอพยพ 3) การเจรจาปล่อยตัวประกัน
1. ภาพรวมสถานการณ์
▪ สถานทูตเอกอัครราชทูต ประจำกรุงเทลอาวีฟ แจ้งว่า ขณะนี้ มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ประมาณ 700 คน และมีผู้ถูกจับเป็นตัวประกัน ประมาณ 100 คน
▪ ยอดผู้บาดเจ็บคนไทยเพิ่มขึ้นเป็น 9 ราย ส่วนยอดผู้เสียชีวิต จำนวน 12 ราย ได้รับแจ้งจากนายจ้าง (มีการยืนยันตัวตนจากอิสราเอล 2 ราย) และถูกจับเป็นตัวประกันตัวเลขเท่าเดิม คือ 11 ราย
▪ กองทัพอิสราเอลได้อพยพคนไทยออกจากพื้นที่เสี่ยงแล้ว โดยมีคนไทยที่ออกจากกาซาแล้วขณะนี้มีจำนวน 76 คน ส่วนนักเรียนไทยในอิสราเอล มีจำนวน 80 คน ส่วนใหญ่อยู่ในเขตทะเลทรายอาราวา ซึ่งหางจากจุดพื้นที่เสี่ยง ขณะนี้ทุกคนปลอดภัย
▪ กระทรวงการต่างประเทศได้เพิ่มช่องทางการติดต่อสำหรับประชาชน โดยเพิ่มสายด่วนจาก 30 เป็น 60 คู่สาย ตลอด 24 ชั่วโทง เปิดช่องทางไลน์ “ขอรับความช่วยเหลือกรณีคนไทยในอิสราเอล” และเฟซบุ๊ก “กรมการกงศุลห่วงใยพี่น้องคนไทยในอิสราเอล”
▪ นรม. เน้นย้ำถึงความสำคัญและให้ความปลอดภัยสวัสดิภาพของพี่น้องประชาชนสูงสุด และพยายามทุกวิธีทางที่จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนกลับมายังประเทศไทยได้ทุกคน
2. แผนการอพยพ
▪ สถานทูตเอกอัครราชทูต ประจำกรุงเทลอาวีฟแจ้งว่า คนไทยยื่นความประสงค์ขอกลับไทย จำนวนประมาณ 1437 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจความพร้อมของคนไทยที่จะกลับ เพื่อวางแผนเที่ยวบินและสถานที่รวมพล รวมถึงการรับ-ส่งไปสนามบิน
▪ การอพยพเที่ยวแรกจะมีขึ้น ในวันที่ 11 ต.ค. 66 โดยสายการบินพาณิชย์ของแอล อัล อิสราเอล แอร์ไลน์ มีที่นั่งที่คนไทยสามารถโดยสารกลับประเทศไทยได้ จำนวน 15 ที่ ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ จะคัดเลือกจากคนไทยที่อพยพออกมาจากกาซาแล้ว ซึ่งขณะนี้มีจำนวน 76 คน โดยพิจารณาจากคนที่บาดเจ็บ แต่สามารถเดินทางได้ เพื่อให้เดินทางกลับมารักษาต่อที่ประเทศไทย โดยจะมาถึงไทยในวันที่ 12 ตุลาคม 2566
▪ คาดว่าเที่ยวแรกจะมาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยมีกระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข เข้าดูแลแรงงานที่กลับมา ทั้งการตรวจสุขภาพร่างกาย จิตใจ การส่งกลับภูมิลำเนา และพร้อมดำเนินการเรื่องเยียวยาให้ความช่วยเหลือต่อไป
▪ การอพยพโดยเส้นทางทางอากาศ มีการเตรียมไว้ ทั้ง เที่ยวบินพาณิชย์ที่ไปอิสลาเอล การเช่าเครื่องบินเหมาลำ เครื่องบินของกองทัพอากาศ และเครื่องบินของการบินไทย ทั้งนี้ การเดินทางกลับประเทศไทย ขอให้ใช้เครื่องบินพาณิชย์เป็นหลักก่อน เนื่องจากการนำเครื่องบินกองทัพอากาศหรือเครื่องเช่าเหมาลำ ใช้ระยะเวลาในการขออนุญาตและทำเอกสาร ️โดยข้อจำกัดในการนำเครื่องบินมาลงยังท่าอากาศยานที่อิสราเอล คือ ห้ามนำเครื่องลงในวันศุกร์และเสาร์ เนื่องจากคนอิสราเอลไม่ทำงาน และจำนวนคนงานจำกัด เนื่องจากต้องไปเป็นกองหนุนของกองทัพอิสราเอล
▪ การจัดการเรื่องผู้เสียชีวิต ปัจจุบันยังไม่สามารถนำร่างกลับ เนื่องจากทางการอิสราเอลต้องพิสูจน์อัตลักษณ์ให้เรียบร้อยก่อน และทางอิสราเอลมีเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยสงคราม ซึ่งอาจใช้เวลาในการดำเนินการเรื่องเอกสารต่างๆ ประมาณ 3 สัปดาห์ หากเร่งนำร่างกลับจะเสียประโยชน์และไม่ได้รับความช่วยเหลือตรงส่วนนี้
3. การเจรจาเพื่อช่วยเหลือคนไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกัน
▪ ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศได้มอบหมายให้เอกอัครราชทูตไทยใน 4 ประเทศ ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับปาเลสไตน์เข้าเจรจาเพื่อขอให้ปล่อยตัวประกันคนไทย ได้แก่
1. สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ (มาเลเซีย)
2. สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร (อิยิปต์)
3. สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเตหะราน (อิหร่าน)
4. สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัมมาน (จอร์แดน)
ทั้งนี้ ที่ได้หารือกับทางสถานทูตปาเลสไตน์แล้วได้แก่ มาเลเซีย และจอร์แดน ซึ่งทั้งสองแห่งตอบรับให้ที่จะนำความดังกล่าวไปประสานต่อกับทางกลุ่มฮามาส ส่วนอิหร่านและอิยิปต์ อยู่ระหว่าการตอบรับให้เข้าพบ โดยสถานทูตปาเลสไตน์ได้เน้นย้ำเรื่องท่าทีการวางตัวเป็นกลางในการแสดงความเห็น เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน
นอกจากนี้ ที่ประชุม RRC วันนี้ ขอให้เพิ่มสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา (กาต้าร์) ไปด้วย เนื่องจากการต้าเป็นประเทศที่ให้การสนับสนุนเงินทุนกับฮามาส อย่างไรก็ตาม การเจรจาเรื่องปล่อยตัวประกันมีสัญญาณที่ดี.
***หมายเหตุ: พรุ่งนี้ (10 ต.ค. 2566) กต.กำหนดแถลงความคืบหน้า เวลา 11.00 น.