“มหาตมะ คานธี” มหาบุรุษผู้ปลดปล่อยอินเดีย ”...คนรุ่นอนาคตจะไม่มีทางเชื่อเลยว่า มีคนแบบนี้อยู่จริงบนโลกมนุษย์...”
“อินเดีย” ประเทศที่ได้ขึ้นชื่อว่ามีอารยะธรรมเก่าแก่ที่ยิ่งใหญ่ และมีประชากรมากที่สุดในโลก (1428 ล้านคน : ข้อมูล ณ วันที่ 10 ก.ค. 2566) เมื่อครั้งในอดีตเคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิอังกฤษ แต่มีบุรุษผู้หนึ่งซึ่งนำทางให้อินเดียก้าวผ่านการเป็นประเทศอาณานิคมสู่ “เอกราช” ด้วยการรณรงค์ต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความยุติธรรมทั้งปวง
เขาปราศจากตำแหน่งสำคัญใดๆ ในประเทศ เขาไม่เคยลงสมัคร เขาไม่เคยเสนอตัวเพื่อให้ได้รับเลือก แต่เขากลับเป็นแรงบันดาลใจและแรงผลักดันอันยิ่งใหญ่ให้ประชาชนชาวอินเดีย ก้าวขึ้นมายืนหยัดอยู่ในฐานะประเทศที่เป็น “เอกราช” มาได้จวบจนทุกวันนี้…
มหาตมะ คานธี คือมหาบุรุษผู้นั้น…ผู้ซึ่งนุ่งห่มง่ายๆ อดมื้อกินมื้อ ละทิ้งความสะดวกสบาย และสมัครใจอยู่เยี่ยงคนยากจนที่สุด เพื่อความใฝ่ฝันเดียว หลักการเดียว นั่นคือ “อหิงสา” ที่สามารถนำมาซึ่งความยุติธรรมสู่อินเดียและมวลมนุษยชาติ ในฐานะผู้เป็นต้นแบบของการต่อสู้เพื่อเรียกร้องที่ไร้ซึ่งความรุนแรง
มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi) (มหา อาตมา = ผู้มีจิตใจสูง) เป็นผู้นำการต่อสู้ที่มีชื่อเสียงของชาวอินเดียและศาสนาฮินดู มีชื่อเต็มว่า โมหันทาส กะรัมจันท์ คานธี (Mohandas Karamchand Gandhi) เกิดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 1869 ณ แคว้นคุชราตทางทิศตะวันตกของอินเดีย ในครอบครัวชนชั้นที่มีฐานะปานกลาง เขาสมรสตามประเพณีนิยมตั้งแต่อายุได้เพียง 13 ปี ก่อนที่จะเดินทางไปศึกษาวิชากฎหมายที่อังกฤษ (1888) จนได้รับปริญญาเนติบัณฑิต และเดินทางกลับสู่อินเดียเพื่อประกอบสัมมาอาชีพเฉกเช่นสามัญชนทั่วไป (1892)
กระทั่งในปี ค.ศ.1893 “คานธี” ในฐานะทนายความได้เดินทางไปว่าความให้กับลูกความในประเทศแอฟริกาใต้ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษเช่นเดียวกันกับอินเดีย และ ณ ที่นี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่คานธีได้ลิ้มรสความอยุติธรรมของการเหยียดผิว เมื่อเขาตีตั๋วรถไฟชั้นหนึ่ง (First Class) เพื่อเดินทางไปว่าความในต่างเมือง หากแต่โดนผู้โดยสารผิวขาวที่ร่วมขบวนเดินทางร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ คานธีถูกสั่งให้ย้ายไปนั่งชั้นธรรมดา เมื่อเขาปฏิเสธ เจ้าหน้าที่ก็รุมทำร้าย และสุดท้ายเขาก็โดนไล่ลงจากขบวนรถไฟโดยได้รับเหตุผลว่า ขบวนรถไฟชั้นหนึ่งที่เขาตีตั๋วขึ้นมานั้น มีไว้สำหรับผู้โดยสารผิวขาว ไม่ได้มีไว้ให้กับพวกผิวคล้ำอย่างคานธี
นับจากวินาทีนั้น “คานธี” ได้ปลุกจิตใต้สำ นึกให้กับตนเองว่า เขาจะไม่ยอมจำนน เขาจะต้องมีความหมาย เขาจะต้องอยู่และรณรงค์เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนของชาวอินเดีย รวมไปจนถึงคนผิวคล้ำหรือผิวดำทุกคน “คานธี” เริ่มต้นการรณรงค์เพื่อความเป็นอยู่อย่างเสมอภาคเรื่อยมา จนในที่สุดเขาก็ได้เรียนรู้ว่า การรวบรวมพลังมวลชน ต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนาให้เป็นหนึ่งเดียว แล้วเดินหน้าเข้าต่อกรเรียกร้องโดยปราศจากความรุนแรงด้วยวิธี “สัตยาเคราะห์” กล่าวคือ การไม่ร่วมมือต่อกฎที่ไม่ยุติธรรมนั้น จะได้รับผลตอบรับที่ดี โดยไม่จำเป็นต้องใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกันแต่อย่างใด
บทพิสูจน์ที่สนับสนุนหลักการและวิธีปฏิบัติของ “คานธี” ว่า สามารถนำมาใช้อย่างได้ผล อาทิ กรณีการจำกัดสิทธิของหญิงอินเดียให้ต้องอยู่แต่ในบ้าน และกรณีการออกกฎหมายโดย นายพลยาสมัสต์ ผู้บัญชาการทหารอังกฤษในแอฟริกาใต้ในเวลานั้นที่ระบุว่า การแต่งานของชาวฮินดูและมุสลิมถือเป็นโมฆะ (ค.ศ. 1913) หากไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากทางการ ถึงขนาดต้องเปลือยกายให้ตรวจเช็คถึงรูปพรรณสัณฐาน “คานธี” ต่อต้านและเรียกร้องโดยผ่านการปราศรัยที่จับใจไร้ความรุนแรง จนสามารถปลดปล่อยให้กับหญิงอินเดียนับล้านคนเป็นอิสระ และสามารถออกจากบ้านมารับผิดชอบต่อสังคมเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ชายได้
ส่วนในกรณีกฎหมายสมรสที่ทางการอังกฤษพยายามจะตราขึ้นมาใหม่ คานธีได้ปลุกกระแสเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนจนก่อให้เกิดการประท้วงในวงกว้าง และนัดหยุดงานไปทั่วประเทศกว่า 50000 คน จนในที่สุดกฎหมายดังกล่าวก็ต้องถูกสั่งยกเลิกเพื่อความสงบเรียบร้อย ด้วยเหตุแห่งขุมพลังมวลชนที่สามารถเอาชนะการบีบบังคับได้ด้วยการรณรงค์ของ “คานธี” กับวิธีปฏิเสธโดยปราศจากความรุนแรง
และนี่คือ วิธีการเรียกหาความยุติธรรมแบบ “อหิงสา” ซึ่งเขาค้นพบครั้งแรกที่แอฟริกาใต้นี่เอง
อย่างไรก็ดีในปี ค.ศ. 1914 คานธีก็ได้เดินทางกลับสู่ประเทศอินเดีย ด้วยความมุ่งมั่นที่จะรังสรรค์ความเป็นธรรมและ “เอกราช” สู่ประเทศบ้านเกิดซึ่งตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษอยู่นานร่วม 2 ศตวรรษ คานธีเริ่มต้นด้วยการปรับเปลี่ยนปัจจัยพื้นฐาน จากที่เคยสวมใส่เสื้อผ้าในแบบสากลหรือตะวันตก เขาก็หันมานุ่งห่มเสื้อผ้าแบบดั้งเดิมของแคว้นคุชราต
ประเทศอินเดียในช่วงนั้น (ค.ศ. 1915) มีประชากรอยู่ร่วมสามร้อยล้านคน หากแต่ต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองและคนของอังกฤษซึ่งคุมบังเหียนอยู่ในบ้านของตนเองแค่เพียงหลักแสน ว่ากันว่าชาวอินเดียในตอนนั้นมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ต่างอะไรไปจากทาส ถึงแม้จะได้มีโอกาสเป็นทั้งทหารและตำรวจ แต่นั่นก็เป็นแค่เพียง “เกาะป้องกัน” ที่สร้างความเข้มแข็งให้กับคนผิวขาวชาวอังกฤษ ทรัพยากรธรรมชาติตลอดจนวัตถุดิบต่างๆ ถูกปล้นไปจากประเทศมากมายอย่างเป็นระบบ จนแทบจะเรียกได้ว่า “อินเดีย” คือขุมทรัพย์ที่สร้างผลกำไรได้มากที่สุดในบรรดาประเทศที่เป็นเครือจักรภพของอังกฤษ
“คานธี” ในขณะที่อายุได้เพียง 45 ปี เขาก็เปรียบเสมือนเป็นเครื่องหมายของการรณรงค์เรียกร้องหาความเป็นธรรมของประอินเดีย ถึงแม้เขาและกลุ่มผู้ร่วมอุดมการณ์จะยึดหลักการและวิธีทาง “อหิงสา” แต่หลายครั้ง เหตุการณ์ก็บานปลายกลายเป็นการต่อสู้ในบางสถานที่ที่เขาควบคุมไปไม่ถึง และนี่จึงเป็นสาเหตุที่รัฐบาลอังกฤษใช้เป็นข้ออ้างในการจับกุมคานธีอยู่หลายครั้ง และในบางครั้งการรณรงค์เรียกร้องต่างๆ ของเขา ก็ถึงขนาดต้องคุมเกมการเรียกร้องออกมาจากในคุก และยิ่งทางการควบคุมหรือจับตัวคานธีมากเท่าไหร่ ความเคียดแค้นและวุ่นวายจนเกิดเหตุการณ์จลาจลก็มักจะเกิดขึ้นควบคู่กันไปมาโดยตลอด
การควบคุมมวลชนกลุ่มใหญ่ที่หลั่งไหลมารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องสิ่งใดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ถึงแม้จะมีเป้าหมายเดียวกัน แต่ด้วยความที่ทุกคนต่างวัยวุฒิคุณวุฒิหรือพื้นฐานทางอารมณ์ที่แตกต่างกัน หลายครั้งเมื่อเหตุการณ์ส่อเค้าจะบานปลายจนยากที่จะควบคุม “คานธี” จะสั่งยกเลิกการชุมนุมนั้นทันทีเพื่อหลีกเหลี่ยงเหตุการณ์นองเลือด แต่ถ้าหากคราใดที่ข้อขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้เรียกร้องและรัฐบาลยังไม่ยุติหรือคลี่คลายไปในทางที่ดี “คานธี” ก็มักจะประกาศอดอาหาร จนเมื่อสถานการณ์คุกรุ่นระหว่างทั้งสองฝ่ายคลี่คลาย “คานธี” ก็จะกลับมาอีกครั้ง และเดินหน้าสู้เพื่อความยุติธรรมอีกต่อไป
ด้านหนึ่งของ “คานธี” แม้เขาจะคือผู้เปิดเกมการปฏิวัติ แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็จะคอยระแวดระวังพวกพ้องของตนอยู่เสมอ โดยย้ำเตือนให้ทุกฝ่ายฟังเหตุและผล และหลีกเลี่ยงความรุนแรงตามหลักอหิงสามาโดยตลอด กล่าวคือ เขาพยายามจะบอกว่า ทุกคนอย่าได้พ่ายแพ้ต่อความต้องการของตนเองด้วยการแสดงความรุนแรงออกมา เพราะนั่นจะเท่ากับว่า การกระทำนั้นๆ ปราศจากขวัญและกำลังใจที่เข็มแข็ง และผลสุดท้ายก็จะนำมาซึ่งความสูญเสีย และแน่นอนผู้ที่สูญเสียก็คือชาวอินเดียนั่นเอง
การรณรงค์เรียกร้องหาความเป็นธรรมของชนชาวอินเดียเป็นไปอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายผลพวงจากการบ่มเพาะเพื่อสิทธิและเสรีภาพของชาวอินเดียก็เดินทางมาถึงจุดที่ นายพล Dyer ผู้บังคับบัญชากองทหารอังกฤษในอมฤตสระอดรนทนไม่ไหว เมื่อเกิดการชุมนุมใหญ่อีกครั้ง (ซึ่งถือว่าเป็นเหตุการณ์ปกติของอินเดียในช่วงนั้น) หากแต่ว่าในครั้งนี้เป็นเพียงวันนักขัตฤกษ์ของอินเดีย ที่มีประชาชนมากมายต่างพากันไปรวมตัวเพื่อสังสรรค์กันที่สวนสาธารณะ “ชัลลียันวาลา” ด้วยความเคียดแค้นชาวอินเดียและต้องการแสดงแสนยานุภาพของอังกฤษ นายพล Dyer ได้ออกคำสั่งให้สังหารหมู่โดยการสั่งยิงกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างบ้าคลั่ง ผลก็คือ มีประชาชนชาวอินเดียเสียชีวิตร่วม 1500 ศพ และบาดเจ็บอีกร่วม 3000 คน…เหตุการณ์อัปยศในคราวนั้น ก่อให้เกิดภาพลักษณ์อันตกต่ำสุดขีดของทหารอังกฤษ และถูกประณามจากชาวอินเดียและชาวโลกเสียจนยากที่จะเยียวยา
จวบจนกระทั่งในปี ค.ศ. 1930 “คานธี” ซึ่งในขณะนั้นอายุปาเข้าไป 62 ปี ได้เปิดฉากรณรงค์เพื่อต่อต้านเรื่องเกลือและการจัดเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรมของอังกฤษ กล่าวคือในยุคนั้น “เกลือ” ถึงแม้จะเป็นทรัพยากรที่มีอยู่บนแผ่นดินแม่ แต่คนอินเดียกลับไม่มีสิทธิที่จะผลิตและซื้อขายกันได้เอง เนื่องจากตามกฎหมายระบุไว้ว่าเป็นอาชีพสงวนที่มีไว้เพื่อคนต่างชาติโดยเฉพาะ “คานธี” กำหนดแผนการต่อต้านกฎหมายไม่เป็นธรรมฉบับนี้โดย การรณรงค์เดินเท้าไปยังชายทะเลเพื่อทำเกลือที่อยู่ห่างออกไปถึง 240 ไมล์ แม้จะโดนทักท้วงจากกลุ่มผู้ร่วมอุดมการณ์ว่าจะล้มเหลวและเหนื่อยเปล่า มิหนำซ้ำรัฐบาลอังกฤษคู่กรณีก็อาจจะจับจ้องและมองด้วยสายตาที่ขบขัน
แต่คานธีก็ยังคงยืนการอย่างแข็งขัน ระหว่างทางคานธีพร้อมด้วยสาวกเริ่มต้นแค่เพียง 80 คน ได้เดินผ่านและแวะปฏิสันธานกับชาวบ้านตลอดเส้นการเดินทาง ผ่านหมู่บ้านนับพันๆ แห่ง …ผลตอบรับกลับมา นอกจากจะเป็นการปลุกกระแสนิยมจากประชาชนจนมีแนวร่วมเพิ่มเท่าทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นกลุ่มผู้ประท้วงขนาดใหญ่ไปตลอดเส้นทางแล้ว เหตุการณ์ในครั้งนี้กลับยิ่งเป็นจุดสนใจของชาวโลกทันทีเมื่อมีการเผยแพร่ข่าวออกไปโดยผู้สื่อข่าวจากต่างประเทศ…งานนี้ ไม่เพียงแต่คนอินเดียเท่านั้นที่เข้าร่วม หากแต่ประชาชนทั่วทั้งโลกเมื่อได้รับรู้ข่าวสาร ต่างพากันลุ้นและเอาใจช่วยด้วยความเห็นใจ
เมื่อคานธีและกลุ่มผู้ร่วมขบวนประท้วงเดินทางไปถึงชายฝั่งมหาสมุทรที่เป็นเป้าหมาย ผลปรากฏว่า มีประชาชนเรือนแสนรอเขาอยู่ที่ชายฝั่งทะเลนั่นเอง “คานธี” ก้มลงหยิบเกลือพร้อมกับประกาศก้องว่า
“ด้วยเกลือหยิบมือนี้ ข้าพเจ้าขอต่อต้านการบังคับของจักรวรรดิอังกฤษ ขอเราจงร่วมกันต่อสู้เพื่อสิทธิของพวกเรากันเถิด”
ประชาชนชาวอินเดียต่างพากันกู่ร้องตอบรับกันอย่างท่วมท้น…แล้วเหล่าบรรดาพ่อค้า ชาวนา แม่บ้าน ต่างพากันเริ่มต้นทำเกลือ และซื้อขายเกลือกันอย่างเปิดเผยที่ตรงจุดนั้นนั่นเอง
ด้วยเหตุแห่งกรณีอื้อฉาวซึ่งกองทัพอังกฤษสังหารหมู่ จนอยากที่กอบกู้ภาพลักษณ์กลับคืนมาได้ ผนวกกับการประท้วงในระยะหลังๆ ที่ถูกประชาคมโลกต่างจับตามอง อังกฤษจึงได้สำนึกและค้นพบว่า ตนไม่สามารถที่จะปกครองอินเดียได้อีกต่อไป และในที่สุดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1947 ประเทศอินเดียก็ได้เป็นอิสระจากอังกฤษโดยสมบูรณ์ ภายใต้การนำการต่อสู้ของ “คานธี” ที่กินระยะเวลาอันยาวนานอยู่ร่วม 40 ปี
อย่างไรก็ดีการที่อินเดียได้มาซึ่ง“เอกราช” ก็มาพร้อมกับรอยร้าวที่อังกฤษได้ฝากไว้ นั่นคือ การแบ่งแยกอินเดียออกเป็น2 ส่วน ด้วยการก่อตั้งรัฐปากีสถานไว้ก่อนหน้านั้น ผลก็คืออินเดียแตกเป็น 2 ประเทศโดยอัตโนมัติ “ชาวฮินดู” ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในอินเดีย และ “ชาวมุสลิม” ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในปากีสถาน จากที่เคยเป็นคู่แข่งกันมาโดยตลอด ก็ได้หันมาขัดแย้งกันเองอย่างเปิดเผย ผู้ที่อยู่ในอาณาเขตประเทศที่เป็นท้องถิ่นที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาตรงข้าม ก็เป็นเหตุให้ต้องอพยพ…ผู้ที่เป็นมุสลิมในอินเดีย ก็ต้องอพยพไปปากีสถาน และผู้ที่เป็นฮินดูในปากีสถานก็ต้องอพยพมาอินเดียสลับกัน
ในวันที่ทั้งสองประเทศจัดงานฉลองอิสรภาพครั้งใหญ่ “คานธี” ไม่ได้เข้าร่วมพิธีฉลองอิสรภาพแต่อย่างใด เนื่องจากเขาเล็งเห็นปัญหาและความเป็นไปในวันข้างหน้า ที่อย่างไรเสีย ความขัดแย้งในเรื่องๆ นี้ ก็จะยังคงเป็นภารกิจที่เขาจะต้องตามสะสางกันอีกต่อไป…
“คานธี” ยังคงปฏิบัติตนเยี่ยงเคยอย่างสม่ำเสมอ แม้กรณีความขัดแย้งจากทั้งสองฝ่ายสองลัทธิยังคงความคุกรุ่น แต่เขาก็ปฏิเสธที่จะให้มีการตรวจค้นอาวุธในทุกพื้นที่ที่เขาเดินทางเข้าไปร่วมงาน
30 มกราคม ค.ศ. 1948 “คานธี” เดินทางไปเข้าร่วมประชุมสวดประจำวันในสวนเวอริฮาทร์ กรุงนิวเดลีย์ ตามปกติ มีชายชาวฮินดูผู้หนึ่งนาม “นาฮูราน กอสซี่” ชายผู้คลั่งศาสนาวัย 36 ปี เดินมาก้มลงคารวะพร้อมเอยว่า “ท่านมาสายสำหรับการสวด” คานธีพยักหน้าพร้อมตอบรับ “ใช่ ฉันมาสายไป มาสายจริงๆ..”
ทันใดนั้นชายคนดังกล่าวก็ควักปืนออกมาแล้วยิ่งใส่คานธี 3 นัด ท่ามกลางฝูงชนที่ตกตะลึงไปทั่วบริเวณ คานธีมิได้แสดงท่าทีเจ็บปวดหรือประหลาดใจแต่อย่างใด เขาพนมมือในลักษณะสวดมนต์ด้วยท่าทางสงบและเปล่งวลีสุดท้ายซึ่งหมายถึงพระผู้เป็นเจ้าในภาษาอินเดียก่อนสิ้นใจว่า “ราม...”
มหาตมะ คานธี เสียชีวิตในวัย 78 ปี...ด้วยชีวิตที่อุทิศให้แก่ปวงชนและประเทศชาติชาวอินเดีย เขาไม่เคยมีตำแหน่งใดๆ ในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญที่ทำให้อินเดียได้รับอิสรภาพและเอกราช เขาไม่เคยสร้างสมสมบัติเงินทองเพื่อเป็นของตนเอง ก่อนตายเขามีทรัพย์สินทั้งหมดรวมแล้วไม่ถึง 3 ดอลลาห์..
“อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์” กล่าวถึงมหาบุรุษผู้นี้ว่า
...คนรุ่นอนาคตจะไม่มีทางเชื่อเลยว่า มีคนแบบนี้อยู่จริงบนโลกมนุษย์…
โดย ธนกฤต วงษ์พรต