”เครื่อข่ายอาชีวะ ค.ร.อ.ท. ยินดีกับ ซี 11 ศธ. ชื่นชมโยกย้ายวางคนได้เหมาะสม เป็นธรรม”
4 ตุลาคม 2566
นายเศรษฐศิษฏ์ ณุวงค์ศรี ประธาน เครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (ค.ร.อ.ท.) ขอแสดงความยินดีกับ ผู้ที่ได้รับการโยกย้าย ระดับ 11 ของกระทรวงศึกษาธิการ
ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้
รายงานจากผู้สื่อข่าวกระทรวงศึกษาธิการ หลังจาก พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ได้เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ครม.ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ เสนอแต่งตั้งผู้บริหารระดับ 11 จำนวน 4 ราย ได้แก่ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เป็นเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เป็น ปลัดศธ. ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดศธ. เป็น เลขาธิการสกศ. และนายยศพล เวณุโกเศศ รองปลัด ศธ. เป็น เลขาธิการกอศ. เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และอนุมัติเห็นชอบไปแล้วนั้น ตนถือว่าเป็นการพิจารณาตัดสินใจเลือกคนในระดับเดียวกันได้เหมาะสมกับความรู้ และประสบการณ์ รวมถึงให้ความเป็นธรรมที่สุดแล้ว ต่อไปนี้เป็นโอกาสที่ทั้งสี่ท่านได้แสดงฝีมือในบทบาทของตน ตามที่ได้รับมอบหมายให้ได้รับการยอมรับจากภาคประชาชนตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ที่ให้นโยบาย เรียนดีมีความสุข ที่ได้เน้น ลดภาระของครูและบุคลากรทางการศึกษา นักเรียนนักศึกษา จัดการศึกษาให้ดีมีคุณภาพ และตนเห็นว่ากรณีที่พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อธิบายถึงเหตุผลในการโยกย้ายในครั้งนี้นั้นว่าต้องคัดบุคคลให้เหมาะสมกับงาน และตอบโจทย์การทำงานในองค์กรนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งบุคคลไหนถนัดด้านอะไร ก็ให้ไปทำงานที่ตัวเองถนัด รวมทั้งพิจารณาประสบการณ์และอายุราชการประกอบกับความรู้ความสามารถ อย่างเคร่งครัด ได้ให้มีการเขียนวิสัยทัศน์ และให้แต่ละคนเข้ามาสัมภาษณ์ประกอบคู่กันไปด้วย นั้น
โดยเหตุผลที่ตั้ง ว่าที่ร้อยตรีธนุ เป็นเลขาธิการ กพฐ. เนื่องจากเคยเป็นรองเลขาธิการ กพฐ.มาก่อน มีความรู้ความชำนาญเป็นลูกหม้อ จากการพิจารณาแล้ว เห็นว่าเมื่อ ดร.อัมพร พินะสา อดีตเลขาธิการกพฐ. เกษียณอายุราชการ ก็อยากได้คนที่สามารถไปทำงานร่วมกับทีมงานในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ ซึ่งตนมองว่า ว่าที่ร้อยตรีธนุ มีความเหมาะสม มีความคุ้นเคยกับการทำงานร่วมกับรองเลขาธิการกพฐ. ทั้ง 3 คนอยู่แล้ว น่าจะทำงานร่วมกันได้ดี ไม่ต้องไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ สามารถทำงานได้เลยทันที
ส่วน ดร.สุเทพ ซึ่งอาวุโสอันดับหนึ่งเคยอยู่ที่สำนักงานปลัดศธ.มาก่อน ควรกลับมาทำงานที่สำนักงาน ปลัดศธ. มาเป็นปลัด ศธ.
ส่วนในรายของ ดร.อรรถพล ไปอยู่สภาการศึกษา (สกศ.) เพราะจากประวัติเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการสกศ.มาก่อน และเป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ… มาเป็นอย่างดีอยู่แล้ว แม้ ร่าง พ.ร.บ.จะยังไม่ผ่านการพิจารณาของสภาฯ ก็ตาม จึงเห็นว่า ดร.อรรถพล น่าจะเหมาะสมที่จะไปเดินหน้า ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ต่อโดยไม่ต้องนับหนึ่งใหม่ เพราะมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว ก็เหมาะสมกับงาน
จะล่าช้าไม่ได้ เพราะเป็นกฎหมายปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การที่ให้ ดร.อรรถพล ไปเป็นเลขาธิการสกศ.นั้น ไม่ใช่เพราะมีผลงานไม่เข้าตา หากให้คนอื่นที่มือไม่ถึงไปทำ ก็อาจเกิดความล่าช้า ซึ่ง ดร.อรรถพล เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ ก็คิดว่ามีความเหมาะสมมากกว่าใครทั้งหมด ยังเป็นซี 11 เหมือนเดิมไม่ได้ไปกระทบต่อศักดิ์ศรีใดๆ อย่างที่หลายคนออกมาพูดกัน นอกจากนี้ คิดว่า ดร.อรรถพล ยังเหลืออายุราชการอีก 1 ปี ก็คิดว่าเพียงพอที่จะจัดทำร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติให้แล้วเสร็จได้ และเสนอให้สภาฯพิจารณาได้ทัน หากจะให้คนอื่นไปทำก็อาจจะต้องใช้เวลา
ส่วนที่ตั้งนายยศพล เป็นเลขาธิการอาชีวะนั้น เพราะเคยเป็นรองเลขาธิการ อาชีวะมาก่อน เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถเป็นคนที่มีบุคลิกประนีประนอม ประสานงานทั้ง บุคลากรภายในและหน่วยงานภายนอกสถานประกอบการต่างๆได้ดี และบุคลากรอาชีวะ ล้วนเห็นว่ามีความเหมาะสม
ดังนั้นเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (ค.ร.อ.ท.) เห็นว่าการแต่งตั้งทั้ง 4 คน ในครั้งนี้ ถือว่าเหมาะสมมีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับการทำงานทุกคน ให้ใช้ผลงานพิสูจน์ มากกว่ากันมองเรื่องศักดิ์ศรี
#####