รายงานพิเศษ : การสร้างพิพิธภัณฑ์บ้านท่าศาลา แหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น…

   เมื่อ : 03 เม.ย. 2568

           ความสำคัญ: พลังชุมชน บ้านวัดโรงเรียน (บวร) โดยชาวบ้านท่าศาลา ต.ชีทวน อ.เขื่องใน จ. อุบลราชธานี ซึ่งมีพระครูสิทธิธรรมานุสิฐ (อู๊ด เตชะธมโม) เจ้าอาวาสวัดอัมพวันนาราม เจ้าคณะตำบลชีทวน เป็นประธานที่ปรึกษาโครงการฯ โดยมีนายระลึก  ธานี ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการสร้างพิพิธภัณฑ์บ้านท่าศาลา ได้จัดประชุมคณะ อนุกรรมการฝ่ายต่างๆ 9 คณะ ในวันที่ 2 เมษายน 2568 ณ ศาลาวัดอัมพวันนาราม บ้านท่าศาลา ต.ชีทวน อ เขื่องใน จ. อุบลราชธานี โดยมีคณะอนุกรรมการทุกฝ่ายร่วมประชุม เพื่อระดมพลังการขับเคลื่อน โครงการฯ และร่วมวางแผนการจัดกิจกรรมและจัดพิธีวางศิลาฤกษ์ รวมทั้งการติดตามผลงานความก้าวหน้าของคณะอนุกรรมการต่างๆ ตามลำดับ

            ก่อนจะมีการประชุม ประธานคณะกรรมการและอนุกรรมการ ตัวแทนชุมชน สถานศึกษา ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมพิธีถวายพระพรชัยมงคล แด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรฯ สยามบรมราชกุมารี

            เนื่องในวโรกาส วันคล้ายวันพระราชสมภพ ที่เวียนมาบรรจบ 70 พรรษา ในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2568 ด้วยความจงรักภักดี ดังนี้

            “ข้าพระพุทธเจ้าปลาบปลื้มปิติโสมนัสเป็นล้นพ้นในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระ ชนมพรรษา ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทที่ได้เวียนมาบรรจบได้ 70 พรรษา ในวันที่ 2 เมษายน 2568 ข้าพระพุทธเจ้าสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณปกเกล้าปกกระหม่อม ที่ทรงมีต่อปวงพสกนิกรตลอดระยะเวลาอันยาวนาน 

            ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานถวายพระพรชัยมงคลด้วยความจงรักภักดี ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย พระบารมีแห่งพระสยามเทวาธิราช โปรดประทานพรให้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน”

            ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ ขอพระองค์ทรงพระเจริญ ข้าพระพุทธเจ้า นายระลึก ธานี ในนามคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการขับเคลื่อนการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์บ้านท่าศาลา…

            ประวัติและความเป็นมา บ้านท่าศาลา หมู่ที่  4  ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งขึ้นเมื่อวันเสาร์ แรม 5 ค่ำ เดือน 4 ปี มะเส็ง จุลศักราช 1279 ซึ่งตรงกับ วันที่ 2 มีนาคม 2460 หากนับแบบปัจจุบัน จะตรงกับ พ.ศ.2461 ดังนั้น บ้านท่าศาลา จึงมีอายุครบ 100 ปี ในวันที่ 2 มีนาคม 2561 

            ตลอดระยะเวลากว่า 100 ปีที่ผ่านมา บ้านท่าศาลา มีการพัฒนาทุกด้าน และผ่านเหตุการณ์สำคัญที่ควรบันทึกไว้ให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ เช่น การเลือกผู้ใหญ่บ้านท่าศาลาคนแรก ในปี พ.ศ. 2460 ตาม พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มีการตั้งวัด การตั้งโรงเรียนบ้านท่าศาลา การจัดการศึกษา การประกอบอาชีพ การอนุรักษ์สืบสานประเพณีวัฒนธรรมในชุมชน และพัฒนาท้องถิ่นจนมีความเจริญก้าวหน้าถึงปัจจุบัน

            ด้วยความสำคัญหลายประการ ดังกล่าว คณะกรรมการดำเนินงานก่อตั้งพิพิธภัณฑ์บ้านท่าศาลา ประกอบด้วย คณะสงฆ์ วัดอัมพวันนาราม ประชาชนชาวบ้านท่าศาลา หมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 5 คณะศิษย์เก่าโรงเรียนบ้านท่าศาลา ทุกสาขาอาชีพ มีความเห็นว่า ควรสร้างสถานที่สำคัญ “ พิพิธภัณฑ์บ้านท่าศาลา” เพื่อเป็นอนุสรณ์ ในโอกาสครบรอบ 100 ปี บ้านท่าศาลา และเพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของบรรพบุรุษที่สร้างบ้านแปงเมืองและมีความเจริญก้าวหน้าถึงปัจจุบัน 

            สำหรับวัตถุประสงค์ในการตั้ง “พิพิธภัณฑ์บ้านท่าศาลา”     

            1. เพื่อรวบรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เครื่องมือ เครื่องใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เครื่องมือการประกอบอาชีพในท้องถิ่น จัดระบบเพื่อการเรียนรู้ 

            2. เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับชาวบ้านท่าศาลา นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ได้เรียนรู้ประวัติ ความเป็นมาของชุมชน และขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิตของชาวบ้านท่าศาลา   

            3. เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และเป็นศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน มีการอนุรักษ์ และสืบสานมรดกด้านการศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม โบราณวัตถุ ให้คงอยู่คู่กับบ้านท่าศาลา และเป็นสมบัติของชาติตลอดไป    

            นับเป็นโครงการสำคัญที่สร้างประโยชน์ให้กับบ้านท่าศาลาและประชาชนทั่วไป ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งด้านการศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และการส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างความสัมพันธ์อันดีในชุมชนที่มีคุณค่าอีกทางหนึ่งด้วย

            ที่สำคัญที่ประชุมมอบหมายให้คณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ นำโดย ดร.ไขนภา สุทธิอาคาร ได้วางแผนและดำเนินการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่ออินเตอร์เน็ต ออนไลน์ สื่อวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อบุคคล และสื่อสารกับชุมชนบ้านท่าศาลาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งรายงานผลการระดมทุนทรัพย์ การรับบริจาคเงินสมทบสร้างพิพิธภัณฑ์บ้านท่าศาลา และประสานงานกับคณะกรรมการทุกฝ่าย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนโครงการฯ ให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ต่อไป 

            นายระลึก ธานี ในนามประธานที่ประชุม ขอขอบคุณคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการทุกฝ่ายที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ด้วยดีตลอดมา ทั้งนี้เพื่อให้มีศูนย์รวมดวงใจในชุมชนคือ พิพิธภัณฑ์บ้านท่าศาลา ซึ่งจะเป็นแบบอย่างในการแสดงออกถึงความรัก ความสามัคคี และการเสียสละทุ่มเทเพื่อชุมชน สังคม ประเทศชาติ ให้มีความยั่งยืนต่อไป

       ……….

  • ปัญญา แพงเหล่า/รายงาน

       2 เมษายน 2568