รายงานพิเศษ : โครงการหอจดหมายเหตุสัญจร…สู่ประชาชน

   เมื่อ : 12 มี.ค. 2568

          สำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี โดยหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุมาร อุบลราชธานี ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมงานจดหมายเหตุ ประจำปีงบประมาณ 2568 ให้ดำเนินการจัดกิจกรรมโครงการจดหมายเหตุสัญจรสู่ประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี

          ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการจดหมายเหตุสัญจรสู่ประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์บทบาทหน้าที่และการให้บริการเอกสารจดหมายเหตุของหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร อุบลราชธานี ให้แก่บุคลากรของหน่วยงานภาครัฐ สถานศึกษา และประชาชนในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ในปี 2568 จำนวน 8 ครั้ง และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมตลอดโครงการไม่น้อยกว่า 600 คน ซึ่งทางคณะทำงานจะจัดโครงการสัญจรไปตามอำเภอต่างๆ และสถาบันการศึกษา ทั้งระดับขั้นพื้นฐาน และระดับอุดมศึกษา นับเป็นการจัดกิจกรรมเชิงรุก เพื่อให้หน่วยงานราชการและบุคลากรในภาครัฐ รวมทั้งประชาชนรับทราบข้อมูลและมีส่วนร่วมในงานหอจดหมายเหตุ และได้ใช้ประโยชน์จากงานหอจดหมายเหตุอย่างทั่วถึง

          การจัดกิจกรรมประกอบด้วย

          1. การบรรยายเรื่อง “งานจดหมายเหตุและบทบาทหน้าที่ของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี” วิทยากรโดยนางสาวธารทิพย์ ภิรมย์อนุกูล ผู้อำนวยการหอจดหมายเหตุหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี

          2. การเสวนาหัวข้อ “เรื่องเก่าของใคร เรื่องใหม่ของเรา” ตอน พิบูลมังสาหาร วิทยากรได้แก่ นายปัญญา แพงเหล่า ข้าราชการบำนาญ นายนราธิป สาครวงศ์วัฒนา เจ้าพนักงานธุรการ ชำนาญงาน หัวหน้างานประชาสัมพันธ์ เทศบาลเมืองพิบูลมังสังหาร และนางสาวธารทิพย์ ภิรมย์อนุกูล ผู้อำนวยการหอจดหมายเหตุหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี

           นอกจากการบรรยายและการเสวนาแล้ว ยังได้รับทราบข้อมูลจากผู้ร่วมกิจกรรมที่เป็นเครือข่ายงานหอจดหมายเหตุฯ ซึ่งมีทั้งเอกสารสำคัญ ภาพถ่าย ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยจะรวบรวมและส่งมอบให้หอจดหมายเหตุใช้ประโยชน์ต่อไป การจัดกิจกรรมตามโครงการนี้ จะส่งผลดีต่อหน่วยงานภาครัฐ และประชาชนที่มีหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ หรือ ประวัติบุคคลในท้องถิ่น ร่วมกันอนุรักษ์และสืบสานเป็นความภาคภูมิใจ และถ่ายทอดสู่รุ่นต่อไป 

           ประวัติและความสำคัญของหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร อุบลราชธานี 

เมื่อ ปี พ.ศ. 2537 กรมศิลปากรได้อนุมัติงบประมาณและใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์ซึ่งเป็นสนามม้าเดิม ขนาดเนื้อที่ 20 ไร่ ก่อสร้างอาคารซึ่งมีลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตแข็งแรง 3 ชั้น หลังคาทรงไทย ส่วนยอดหลังคาทำเป็นองค์พระธาตุพนมสัญลักษณ์แห่งพื้นถิ่น

           อาคารหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร อุบลราชธานี เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร ทรงเจริญพระชนมายุครบ 45 พรรษา กรมศิลปากรได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตให้เป็นอาคารเฉลิมพระเกียรติซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร อุบลราชธานี” และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์ ในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2538 เวลา 15.00 น. เพื่อเป็นสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลแก่หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี สืบไป และการก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2539

           หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี เป็นหน่วยงานส่วนกลาง สังกัดสำนักศิลปากรที่ 9 กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับงานเอกสารของส่วนราชการต่างๆ ครอบคลุม 20 จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(ภาคอีสาน) โดยมีภารกิจและดำเนินการในด้านต่าง ๆ ดังนี้

           1. งานรวบรวมเอกสาร พิจารณา ตรวจสอบ ติดตาม รับมอบเอกสารของส่วนราชการที่ครบอายุการเก็บรักษา รวมทั้งการรวบรวมและรับมอบเอกสารจากเอกชน

           2. งานเอกสารสำคัญ คัดเลือกและประเมินคุณค่าเอกสารที่รวบรวมได้ให้เป็นเอกสารจดหมายเหตุ แล้วนำมาจัดหมวดหมู่และทำเครื่องมือช่วยค้นคว้า

          3. งานบันทึกเหตุการณ์ ดำเนินการรวบรวมข้อมูล สังเกตการณ์ และบันทึกเหตุการณ์สำคัญในท้องถิ่นเพื่อนำมาจัดทำเป็นจดหมายเหตุ

           4. งานบริการ ให้บริการเอกสารจดหมายเหตุในการศึกษา ค้นคว้า วิจัยและจัดกิจกรรมเผยแพร่งานจดหมายเหตุ

           หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี เลขที่ 74 หมู่ 10 ถนนเลี่ยงเมือง ตำบลแจระแม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โทร. 045-285522 โทรสาร 045-285523

       …….. 

  • ปัญญา แพงเหล่า/รายงาน

       11 มีนาคม 2568